จีดีพีโตช้า ไม่เป็นไร (1)

จีดีพีโตช้า ไม่เป็นไร (1)

เมื่อมีการยอมรับกันว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าเพราะปฏิเสธข้อเท็จจริงไม่ได้ก็เริ่มมีการพูดกันว่าฟื้นตัวช้า

ก็ไม่ควรต้องนำไปคิดให้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้าน่าจะเป็นเพราะความพยายามที่จะกำจัดคอร์รัปชันและความมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ กล่าวคือ เมื่อต้องการปราบคอร์รัปชันก็ส่งผลกระทบได้บ้างกับการเบิกจ่ายงบประมาณและการประมูลโครงการต่างๆ ในขณะเดียวกันการปฏิรูปองค์กรก็ย่อมจะกระทบกับการดำเนินการต่างๆ ของรัฐวิสาหกิจ อาจต้องมีการลดคนลดขนาดขององค์กร เกิดความไม่แน่นอนและแรงต่อต้านซึ่งจะกระทบต่อการขยายตัวในระยะสั้น

ทั้งนี้ จากการให้สัมภาษณ์ของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ไทยรัฐเมื่อ 16 ก.พ. 2015) ก็ยกตัวเลขการลงทุนของรัฐวิสาหกิจสูงถึง 4.5 ล้านล้านบาทหรือ 2 เท่าของงบประมาณของภาครัฐ (หรือ 30% ของจีดีพีของไทย) จึงไม่ต้องแปลกใจว่าหากมีการคุมเข้มการลงทุนเพื่อป้องกันคอร์รัปชัน ก็มีความเป็นได้ว่าจะส่งผลกระทบข้างเคียงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนั้นก็ยังมีการคัดค้านของบางส่วนเช่นการคัดค้านการให้สัมปทานการสำรวจพลังงาน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญทั้งในปัจจุบันและในอนาคตต่อศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ซึ่งประเด็นการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจและพลังงานนี้ผมจะขอเขียนถึงในโอกาสหลัง

ในครั้งนี้อยากขอเน้นว่าการปฏิรูปเป็นเรื่องสำคัญ แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจก็มีความสำคัญยิ่งเช่นกัน และการบอกว่าหากเศรษฐกิจฟื้นช้าเพราะต้องปฏิรูปก็ไม่ควรจะต้องไปคิดมากนั้น น่าจะต้องพยายามดูว่ามีสาเหตุอื่นๆ อีกหรือไม่ และที่สำคัญคือผมก็เคยได้ยินการให้เหตุผลว่าการกำจัดคอร์รัปชันซึ่งคำนวณว่าต้องจ่ายมากถึง 30% ของมูลค่าโครงการนั้นเมื่อกำจัดออกไปแล้ว แปลว่าจีดีพีจะขยายตัวได้อย่างก้าวกระโดด (เพราะภาครัฐจะใช้เงินได้คุ้มค่ากว่าแต่ก่อน 30%) นั้น “กำไร” จากการยึดอำนาจเพื่อฟื้นเศรษฐกิจที่อ้างถึงนี้หายไปที่ไหน? ซึ่งผมเองไม่ค่อยจะเชื่อว่ามี “กำไร” ดังกล่าวจริง แต่อยากจะให้หันมาดูปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก จึงจะไม่ขอกล่าวถึงเรื่องนี้อีก แต่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการปราบคอร์รัปชันและปฏิรูปองค์กรรัฐวิสาหกิจมานานแล้ว

สำหรับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจนั้นคงต้องมาเริ่มต้นจากการที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาการส่งออกมากถึง 60% ของจีดีพี แปลว่าเราทำมาค้า-ขายกับตลาดโลกเป็นหลัก ดังนั้น จึงต้องหันมาดูว่าแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในอนาคตนั้นเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งในส่วนนี้จะขอยกเอาบทวิเคราะห์ของโออีซีดีและของบริษัทที่ปรึกษาแมคคินซีมาสรุปให้เห็นภาพการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกใน 50 ปีข้างหน้า

โออีซีดี : เศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3% ต่อปีใน 50 ปีข้างหน้า

ผมเห็นว่าโออีซีดีมองแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกใน 50 ปีข้างหน้าค่อนข้างแจ่มใสเพราะประเมินว่าจะขยายตัวได้สูงถึง 3% ต่อปี (ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจโลกขยายตัวเฉลี่ยประมาณ 4% ต่อปี) แต่ทั้งนี้ บนสมมุติฐานว่ามีการปฏิรูปการคลัง (ลดหนี้ภาครัฐ) และปฏิรูปเศรษฐกิจ (ลดรัฐสวัสดิการที่กีดกันการแข่งขันและกลไกตลาด) ทำให้เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วขยายตัวได้ 1.75-2.25% ต่อปี ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าเป็นการคาดการณ์ในเชิงบวกมากเพราะในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมานั้นเศรษฐกิจของประเทศหลักคือสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรงแต่ฟื้นตัวมาได้อย่างเชื่องช้าและอ่อนแอ เช่น กรณีของญี่ปุ่นเศรษฐกิจก็ยังอยู่ในภาวะอ่อนแอและยุโรปเองก็ยังฟื้นตัวอย่างช้าๆ และมีอัตราการว่างงานสูง ในขณะเดียวกันประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่ได้เป็นสมาชิกโออีซีดีก็จะยังขยายตัวได้ดี แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจก็จะต้องลดลงจาก 7% ต่อปีในปัจจุบันมาเหลือ 5% ต่อปีในทศวรรษหน้าและขยายตัวประมาณ 2.5% ต่อปีในปี 2060

ทั้งนี้ โออีซีดีให้ความสำคัญกับการปฏิรูประบบการคลังและการลดหนี้สาธารณะของประเทศพัฒนาแล้วเพราะในประเทศพัฒนาแล้วนั้นหนี้สาธารณะอยู่ระดับสูง (ประมาณ 90% ของจีดีพี) ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่าใกล้ขีดอันตรายที่จะกระทบการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (แม้ว่าการวิจัยล่าสุดของไอเอ็มเอฟจะสรุปว่าไม่สามารถหาหลักฐานได้ว่าระดับหนี้สาธารณะที่สูงจะส่งผลในเชิงลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่พบว่าแนวโน้มการขยายตัวของหนี้สาธารณะมีนัยสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ) หมายความว่าโออีซีดีมองว่าหากรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วไม่สามารถลดนโยบายรัฐสวัสดิการลงได้ ในระยะกลางก็จะมีภาระรายจ่ายและหนี้สินที่สูงขึ้นไปจนกระทั่งกระทบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจได้ในที่สุดโดยสรุปว่า

“In the absence of more ambitious policy change, rising imbalance could undermine growth. Government debt in OECD countries will exceed thresholds at which there is evidence of adverse effects on interest rates and growth.”

ทั้งนี้ แมคคินซีได้มีการเก็บตัวเลขหนี้สินของโลกและของรัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าหลังโลกประสบวิกฤติซับไพร์มของสหรัฐในปี 2008-2009 การสร้างหนี้ก็มิได้ลดลงแต่อย่างใด แต่ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังปรากฏในภาพประกอบ

จะเห็นได้ว่าหนี้สินทั้งหมดของโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการขยายตัวของจีดีพีโลกและหลังจากวิกฤติซับไพร์มสหรัฐในปี 2008-2009 แล้ว หนี้สินก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 269% ของจีดีพีในปี 2007 มาเป็น 286% ของจีดีพีในไตรมาส 2 ของปี 2014 กล่าวคือเพิ่มขึ้น 57 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งนี้จะเห็นว่าเกือบครึ่งหนึ่งของหนี้โลกที่เพิ่มขึ้นนั้นเป็นหนี้ของภาครัฐ (ที่พยายามลดผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ) ทำให้คำนวณคร่าวๆ ได้ว่าปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของโลกนั้นเกือบเท่ากับ 85% แล้ว ทั้งนี้หนี้สาธารณะของประเทศพัฒนาแล้วสูงกว่าประเทศกำลังพัฒนามากคือกว่า 90% ของจีดีพี (เช่นญี่ปุ่นรัฐบาลมีหนี้ 230% ของจีดีพี) และเนื่องจากมีระบบรัฐสวัสดิการ (welfare state) พร้อมกับมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นและประชาชนมีชีวิตยืนยาวมากขึ้นจึงจะเป็นภาระที่ฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในอนาคตและเป็นประเด็นที่โออีซีดีมีความกังวล

ในตอนต่อไปผมจะเขียนถึงบทวิเคราะห์ของแมคคินซีและโยงกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยครับ