ร่วมด้วย ช่วยตังค์

ร่วมด้วย ช่วยตังค์

แนวคิดของ Crowdfunding ไม่ใช่เรื่องที่ใหม่ในโลก ที่มาเริ่มเป็นที่รู้จักในบ้านเรา ก็จากผลพวงของการเติบโตในวงการ Startup

ผมได้รับเชิญเข้าร่วมงานสัมมนา Crowdfunding Asia ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยการสนับสนุนของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งผู้เข้าร่วมงานต่างให้ความสนใจกับแนวความคิดของการระดมทุนสนับสนุนนวัตกรรมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตกันอย่างมาก


แนวคิดของ Crowdfunding ไม่ใช่เรื่องที่ใหม่ในโลก ที่มาเริ่มเป็นที่รู้จักในบ้านเรา ก็จากผลพวงของการเติบโตในวงการ Startup เมืองไทย ที่ทำให้การระดมทุนจากกองทุนร่วมทุนหรือ VC เพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเหล่านวัตกรเทคโนโลยี ซึ่งมีมากกว่าหลายเท่าตัว
อันที่จริง กิจกรรมสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างสรรค์ผลงาน นวัตกรรม และเทคโนโลยีนั้น มีมานานแล้ว ทั้งในเมืองนอกและเมืองไทย ในรูปแบบของการสนับสนุนโดยภาครัฐเป็นสำคัญ


เนื่องจาก ถ้าหากคุณทำงานในบริษัท หรือเป็นเจ้าของบริษัทเอง ก็ย่อมมีความสนใจในกิจกรรมของคนอื่นน้อย ทำให้คนอื่นที่ว่า ซึ่งอาจเป็นคนที่มีความคิด มีไอเดียดีๆ แต่ขาดเงินทุน ต้องล้มหายตายจากไปเอง รัฐจึงจำเป็นต้องเข้ามาสนับสนุนตรงนี้ เพื่อผลอีกประการหนึ่งคือ การส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ขึ้นมาในประเทศ ซึ่งก็ย่อมส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภาพรวม


ดังนั้น แต่เดิมมา รัฐจึงเป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ ของบรรดานวัตกรรมทั้งหลาย ต่อมาเมื่อสังคมเจริญก้าวหน้าขึ้น พร้อมกับการเชื่อมโยงเข้าถึงกันในโลกออนไลน์ ทำให้การสนับสนุนโดยภาครัฐเพียงลำพังอย่างเดียวเริ่มไม่เพียงพอ เพราะคนต้องการเงินทุน มีมากกว่าจำนวนเงินที่สามารถสนับสนุนได้


ถามว่า แล้วกลไกการเงินอื่นล่ะ ไม่ทำงานหรือ?


ความจริงกลไกธนาคารก็ทำงานเป็นปกติเหมือนเดิม บนฐานของการไฟแนนซ์เงินทุนให้กับธุรกิจต่างๆ เพียงแต่ว่า พอมาเป็นเรื่องของนวัตกรรมที่เกิดใหม่นี้ มันทำไม่ได้บนฐานของธนาคาร


เพราะธุรกิจเหล่านั้น อาจไม่มีประวัติการทำงานในอดีต อาจจะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือต่อให้มีทั้งสองอย่าง บางครั้งแนวความคิดในการทำธุรกิจที่เสนอมา อาจเสี่ยงมากเกินไปสำหรับธนาคาร หรือไม่ก็ไม่เคยเห็นอะไรแบบนั้นมาก่อน ทำให้การจะให้สินเชื่อไม่ใช่เรื่องง่าย
แนวคิดของการระดมทุนผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือ Crowdfunding จึงเกิดขึ้นจากจุดนี้ครับ โดยมีรูปแบบการสนับสนุนที่นิยมกันในโลกขณะนี้อยู่ 4 รูปแบบด้วยกัน


อย่างแรกคือ การบริจาค (Donation) รูปแบบนี้ง่ายมากครับ แค่เพียงเราเสนอไอเดียลงบนเว็บไซต์ที่ทำเรื่อง Crowdfunding ไป ถ้าหากมีคนเข้ามาดูแล้วสนใจ อยากสนับสนุนให้ไอเดียตรงนี้เกิด ก็จะร่วมบริจาคด้วยการตัดบัตรเครดิต หรือโอนเงินเข้าบัญชีให้จำนวนหนึ่ง แบบไม่มีข้อผูกมัดต้องตอบแทนอะไร เพียงแต่เจ้าของไอเดีย ควรจะทำโครงการให้เสร็จ แล้วส่งมอบของที่เกิดขึ้นจากการสนับสนุนทางการเงินเหล่านั้น ไปใช้ประโยชน์อย่างที่สัญญาไว้ในโครงการ


แน่นอนครับว่า ไอเดียแบบนี้ก็จะเป็นเรื่องของการทำนวัตกรรมเพื่อสังคม เพื่อสาธารณประโยชน์ต่างๆ นั่นเอง จึงสามารถระดมเงินบริจาคในรูปแบบนี้ได้


รูปแบบที่สองคือ การให้ของแลกเปลี่ยน (Reward) รูปแบบนี้ต่างจากการบริจาคคือ เราให้เงินสนับสนุนโดยที่เราคาดหวังว่าจะได้ผลงานนั้น เป็นการตอบแทนกลับคืนมาด้วย ค่อนข้างคล้ายกับการซื้อล่วงหน้า เพียงแต่เวลาที่เราจ่ายเงินไปนั้น ยังไม่มีของ มิหนำซ้ำ ยังอาจไม่ลงมือทำ และถึงลงมือทำไปบ้างแล้ว ก็อาจไม่สำเร็จอย่างที่สัญญาเอาไว้ด้วย เพราะด้วยความเป็นนวัตกรรม ก็มีความเสี่ยงในเชิงเทคโนโลยีอยู่พอสมควร
รูปแบบนี้ บางครั้งอาจมาในแบบการให้ส่วนลดสำหรับสินค้านวัตกรรมนั้น (ถ้าหากมีอยู่แล้ว) หรือสัญญาว่าจะให้ส่วนลด (ถ้าหากว่าของยังไม่สำเร็จ) สำหรับการซื้อนวัตกรรมนั้นในอนาคต


รูปแบบต่อมาคือ การให้ยืม (Lending) อันนี้ผมวิจารณ์ในเวทีสาธารณะมานานแล้วว่า สุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมายในบ้านเรา ในต่างประเทศเองรูปแบบนี้เป็นประเด็นอยู่ไม่น้อย ใครที่อยู่ในวงการจัดทำนโยบายเกี่ยงกับเศรษฐกิจดิจิตัล ควรคำนึงถึงประเด็นนี้อย่างละเอียดเพราะว่า Crowdfunding ไม่ใช่การให้ยืมแบบหนึ่งต่อหนึ่ง คำว่า Crowd หมายถึง คนหลายคน ด้วยเหตุนี้ การลงขันกันระดมเงินเพื่อให้คนๆ หนึ่งเอาไปใช้ โดยสัญญาว่าจะส่งเงินคืนในกรอบระยะเวลาที่ตกลงพร้อมดอกเบี้ยนั้น มันฟังดูก็ออกจะคล้ายการเล่นแชร์อยู่ไม่น้อย ถึงแม้ว่าแนวคิดจะดี แต่ในทางปฏิบัติก็คงต้องดูกฎหมายให้รอบด้านด้วย เท่าที่ผมทราบ บ้านเรายังไม่สามารถสร้างบริการบนรูปแบบนี้ได้


รูปแบบสุดท้ายคือ การระดมทุนแบบหุ้นส่วน (Equity) ซึ่งคล้ายคลึงกับรูปแบบการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์อยู่ไม่น้อย คือ มีการตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกรรม ธุรกิจนั้นมีโครงสร้าง เล็งเห็นโอกาสการเติบโต มีการจัดสรรปันส่วนหุ้นทุนของธุรกิจให้บุคคลภายนอกแบบไม่จำกัดเฉพาะเจาะจง (Crowd) โดยสัญญาว่าจะให้ทุนตามสัดส่วนที่ตกลง


คนที่สนับสนุนก็จะพิจารณาบนฐานของความเป็นนวัตกรรมของธุรกิจ และโอกาสการเติบโต จึงมีความคล้ายกับการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์อยู่มาก เพียงแต่ธุรกิจที่เสนอตัวเข้ามา ไม่ต้องยื่นเอกสารต่อตลาดฯ และไม่ต้องทำตามเงื่อนไขแบบปกติ บางคนจึงอาจมองว่า นี่เป็นการอาศัยช่องว่างหลบเลี่ยงกติกาหรือเปล่า หรือกลับกันอาจจะมองว่า นี่เป็นการสร้างความคล่องตัวเพิ่มมากขึ้นก็ได้ ซึ่งความสำเร็จส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับเจ้าของแพลทฟอร์ม Crowdfunding นั้นๆ ว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ดีขนาดไหน


แต่หากมองในมุมของผู้บริโภคแล้ว ก็อาจจะทำให้นึกไปได้ว่า มีโอกาสถูกเอาเปรียบได้มาก


ความจริงแล้วใช่ครับ ในต่างประเทศเอง มีหลายกรณีที่การระดมทุนแบบนี้ไม่ได้ผลอย่างที่คิด ทำให้เกิดคดีความมากมายตามมา บ้านเราเองยังไม่มีการให้บริการในรูปแบบนี้ แต่ก็ไม่แน่เหมือนกันเพราะผมเห็นตลาดหลักทรัพย์ให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย


ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตาม หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่เงิน ในฐานะที่เป็นเงินของใครคนใดคนหนึ่ง ถ้าจะว่าไป หัวใจจริงคือ มันเป็นเงินของใครก็ไม่รู้ ซึ่งระดมกันเข้ามาช่วยให้การสนับสนุนธุรกิจหรือนวัตกรรมนั้นๆ โดยผู้ที่ให้เงิน เขาก็ดูสองสามองค์ประกอบเท่านั้นคือ 1) นวัตกรรมคืออะไร 2) ทำเพื่อธุรกิจหรือสาธารณประโยชน์ และ 3) เราอยากได้อะไรตอบแทนหรือไม่ จากนั้นก็สนับสนุนเงินลงไป ส่วนมากแล้วไม่มีข้อจำกัดครับว่าต้องกี่บาท ในเมืองไทยเท่าที่เห็นก็หลักร้อยบาทขึ้นไปครับ ไม่หนักหนา


ข้อดีคือ วันหนึ่งถ้าโครงการเหล่านั้นเกิดประสบความสำเร็จ ดังเปรี้ยงปร้างขึ้นมา คุณอาจคุยได้เต็มปากเต็มคำว่า นี่ฉันเป็นคนสนับสนุนเงินให้เขาตั้งแต่เริ่มแรกเลยนะ


เรื่องอย่างนี้เท่ไม่หยอกเชียวครับจะบอกให้