เคย์ดันเร็นและสามเหลี่ยมเหล็กในการเมืองญี่ปุ่น

เคย์ดันเร็นและสามเหลี่ยมเหล็กในการเมืองญี่ปุ่น

เคย์ดันเร็น (Keidanren / Japan Business Federation) คือองค์กรล็อบบี้ขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลมากที่สุด

ของภาคธุรกิจญี่ปุ่นสมาชิกของเคย์ดันเร็นประกอบไปด้วยบริษัท สมาคม และองค์กรธุรกิจของญี่ปุ่นจำนวนกว่าพันสี่ร้อยแห่ง หลายแห่งเป็นบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ที่เป็นที่รู้จักทั้งในระดับโลกและในระดับประเทศ เช่น โตโยต้า นิปปอนสตีล ซูมิโตะโมะ มิตซุย โทเร ฮิตาชิ ไดวะ เทปโก โตชิบา มิซูบิชิ อะซะฮี ยูนิชาม แคนนอน โนมูระ ฟูจิตสึ คิริน ชิเซโด อายิโนะโมะโต๊ะ พานาโซนิค นิสสัน ฯลฯ และโดยมากแล้ว ผู้บริหารของบริษัทชั้นนำเหล่านี้ก็จะดำรงตำแหน่งผู้บริหารของเคย์ดันเร็นด้วยเช่นกัน

เคย์ดันเร็นก่อตั้งขึ้นในปี 2489 หลังจากญี่ปุ่นแพ้ให้กับฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่สองเพียงแค่หนึ่งปี โดยในช่วงสิบปีแรก เคย์ดันเร็นเป็นเพียงตัวกลางที่ทำหน้าที่ส่งผ่านข้อคิดเห็นหรือความต้องการของภาคธุรกิจไปยังรัฐบาลญี่ปุ่นและองค์กรปกครองของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น (หลังแพ้สงครามในปี 2488 ญี่ปุ่นอยู่ใต้การปกครองของสหรัฐฯจนถึงปี 2495) แต่ในอีกสิบปีต่อมา ในช่วงของสงครามเย็น ความหวาดกลัวลัทธิคอมมิวนิสต์ของนักธุรกิจญี่ปุ่นได้ผลักดันให้เคย์ดันเร็นแสดงบทบาททางการเมืองด้วยการระดมเงินจากสมาชิกเพื่อบริจาคให้แก่พรรคแอลดีพีซึ่งเป็นพรรคการเมืองอนุรักษนิยมที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นในช่วงนั้น (2498) โดยเคย์ดันเร็นถือว่าเงินบริจาคนี้เป็นต้นทุนที่ภาคธุรกิจญี่ปุ่นจำเป็นจะต้องจ่ายเพื่อรักษาระบบทุนนิยมของประเทศเอาไว้ และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา เคย์ดันเร็นก็ระดมเงินบริจาคให้แก่พรรคแอลดีพีมาโดยตลอด และตลอดระยะเวลาที่พรรคแอลดีพีเป็นรัฐบาลนั้น เคย์ดันเร็นมีอิทธิพลเป็นอย่างมากต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของญี่ปุ่นทั้งในทางตรงและทางอ้อม โดยในช่วงที่เคย์ดันเร็นรุ่งเรืองถึงขีดสุดนั้น ประธานของเคย์ดันเร็นได้รับฉายาว่าเป็น“นายกรัฐมนตรีของโลกธุรกิจ”คู่ขนานไปกับหัวหน้าพรรคแอลดีพีที่เป็นนายกรัฐมนตรีในทางการเมือง



การบริจาคเงินให้พรรคแอลดีพีอย่างต่อเนื่องและยาวนานของเคย์ดันเร็นได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์แบบ“สามเหลี่ยมเหล็ก”หรือความสัมพันธ์เชิงอำนาจแบบสามเส้าที่เข้มแข็งระหว่างพรรคแอลดีพี เคย์ดันเร็น และข้าราชการขึ้น ในความสัมพันธ์นี้ เคย์ดันเร็นจะมีอิทธิพลต่อข้าราชการที่ทำหน้าที่กำกับดูแลระบบเศรษฐกิจและบริษัทเอกชนในทางอ้อมผ่านการมีอิทธิพลต่อรัฐบาลที่ทำหน้าที่ควบคุมข้าราชการอีกทีหนึ่ง รวมทั้งมีอิทธิพลโดยตรงต่อรัฐบาลที่ทำหน้าที่กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ความสัมพันธ์แบบสามเหลี่ยมเหล็กนี้เป็นลักษณะสำคัญของโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองของญี่ปุ่นในยุคหลังสงคราม และความสัมพันธ์นี้ยังสะท้อนถึงรูปแบบความสัมพันธ์ทางการเมืองที่กีดกัน“คนนอก”ออกจากพื้นที่ของการกำหนดนโยบายอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์แบบสามเหลี่ยมเหล็กนี้ได้คลายตัวลงจากการที่พรรคแอลดีพีสูญเสียอำนาจทางการเมืองจากการแพ้การเลือกตั้งให้กับพรรคดีพีเจในปี 2552 และการทยอยยุติบทบาทในการระดมเงินบริจาคให้พรรคแอลดีพีของเคย์ดันเร็นในเวลาต่อมา ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นโอกาสสำคัญสำหรับกลุ่มการเมืองและกลุ่มประชาสังคมที่อยู่นอกสามเหลี่ยมเหล็กจะพัฒนาความสัมพันธ์ทางการเมืองแบบใหม่ขึ้นมาทดแทน แต่การกลับมาชนะการเลือกตั้งของพรรคแอลดีพีในปี 2555 และการประกาศว่าจะกลับมาทำการระดมเงินบริจาคให้พรรคการเมืองอีกครั้งของเคย์ดันเร็นในปีต่อมาได้ทำลายโอกาสดังกล่าวไป

นโยบายอาเบะโนมิคส์ของชินโซ อาเบะ เป็นตัวแปรสำคัญสำหรับความสัมพันธ์แบบสามเหลี่ยมเหล็กในปัจจุบันเนื่องจากนโยบายเศรษฐกิจนี้มีผลทางอ้อมในการตอกย้ำให้ความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างพรรคแอลดีพีและเคย์ดันเร็นแน่นแฟ้นมากขึ้น เพราะการขึ้นค่าจ้างเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนญี่ปุ่นที่เป็นมาตรการสำคัญหนึ่งของอาเบะโนมิคส์จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากเคย์ดันเร็นในฐานะที่เป็นผู้นำของภาคธุรกิจญี่ปุ่น ดังนั้น ในบริบททางเศรษฐกิจการเมืองปัจจุบัน เคย์ดันเร็นไม่ได้เป็นเพียงผู้ที่บริจาคเงินเพื่อ“ซื้อนโยบาย”เช่นที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านของญี่ปุ่นกล่าวหาแต่ยังเป็นหุ้นส่วนสำคัญในทางการเมืองของพรรคแอลดีพีด้วย

ชัยชนะในการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2557 ที่ผ่านมาของพรรคแอลดีพีและท่าทีของเคย์ดันเร็นหลังการเลือกตั้งที่ให้การสนับสนุนอาเบะโนมิคส์ในเรื่องการขึ้นค่าจ้างจึงไม่ต่างอะไรกับการประกาศอย่างเป็นทางการว่าความสัมพันธ์แบบสามเหลี่ยมเหล็กได้กลับมาสู่การเมืองญี่ปุ่นแล้ว และอนาคตของญี่ปุ่นก็จะถูกกำหนดโดยการเป็นพันธมิตรระหว่างพรรคแอลดีพีและเคย์ดันเร็นเช่นที่เคยเป็นมา เว้นแต่ว่ากลุ่มการเมือง กลุ่มบริษัทธุรกิจ และกลุ่มประชาสังคมที่อยู่นอกความสัมพันธ์สามเหลี่ยมเหล็กจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงใดขึ้นมาได้ ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจ นโยบายความมั่นคงใหม่ และความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกจะเป็นตัวแปรสำคัญ