ทีวีการเมืองก่อนและหลังรัฐประหาร 2557

ทีวีการเมืองก่อนและหลังรัฐประหาร 2557

ถ้ายังจำกันได้ ทีวีการเมืองเริ่มปรากฏเห็นเป็นองค์ประกอบใหม่ทางการเมืองไทยมาตั้งแต่สมัย “ขับไล่ทักษิณ”

รัฐประหารผ่านมากว่า 200 วันแล้ว นอกจากการชุมนุมประท้วงจะหายไปจากท้องถนนในกรุงเทพฯอีกปรากฏการณ์สำคัญทางสังคมที่เคยมีอิทธิพลต่อการรับรู้ทางการเมืองของประชาชนคนไทยก็ดูเหมือนจะหายไปด้วย นั่นก็คือ ทีวีการเมือง ซึ่งมักออกอากาศผ่านช่องรายการหรือสถานีในระบบโทรทัศน์ดาวเทียม

ถ้ายังจำกันได้ ทีวีการเมืองเริ่มปรากฏเห็นเป็นองค์ประกอบใหม่ทางการเมืองไทยมาตั้งแต่สมัย “ขับไล่ทักษิณ” ในช่วง พ.ศ. 2548 - 2549 ประเดิมด้วยเอเอสทีวีของค่ายผู้จัดการที่ถ่ายทอดการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ “กลุ่มคนเสื้อเหลือง” แบบ reality tv โดยมี สนธิ ลิ้มทองกุล หัวเรือใหญ่ของค่ายผู้จัดการเป็นผู้ขับเคลื่อน ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของเอเอสทีวี เป็นผลสืบเนื่องโดยตรงจากการปิดกั้นสื่อในสมัยรัฐบาลทักษิณ สืบเนื่องจากรายการ “เมืองไทยรายสัปดาห์” ของสนธิทางช่อง 9 อสมท.ถูกถอดรายการกะทันหัน จากการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทักษิณหนักหน่วง ทำให้ต้องลี้ภัยการเมืองไปออกอากาศผ่านดาวเทียมในที่สุด

ในช่วงต่อมา หลังจากเอเอสทีวีเป็นที่นิยมกว้างขวางโดยเฉพาะในมวลชนคนไม่ปลื้มทักษิณ ทางฟากฝั่งตรงข้ามที่ต้องการพิทักษ์ทักษิณ ก็พยายามใช้ยุทธศาสตร์เดียวกันแก้เกม ด้วยการเปิดทีวีรูปแบบเดียวกันและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารในลักษณะที่สนับสนุน พตท.ทักษิณและรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ผ่านสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม MV1 โดยมีผู้ดำเนินรายการคนสำคัญอย่าง สมัคร สุนทรเวช (ผู้ล่วงลับไปแล้ว) วีระ มุสิกพงศ์ จตุพร พรหมพันธุ์ และ ณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ เป็นหัวขบวน ซึ่งนอกจากจะออกอากาศผ่านเครือข่ายดาวเทียมไทยคมแล้วก็ยังรับได้ผ่านเครือข่ายเคเบิลทีวีท้องถิ่นด้วย

จากวิธีการนำเสนอเนื้อหาแบบโผงผาง รุนแรง ประกอบกับแนวโน้มการโฆษณาชวนเชื่อและปลูกฝังความเกลียดชังต่อฝ่ายตรงข้ามอย่างชัดเจน สื่อในรูปแบบใหม่นี้จึงถูกสื่อกระแสหลักโดยผู้นำองค์กรวิชาชีพสื่อที่เป็นที่รู้จักกันอย่าง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขนานนามว่า “สื่อเทียม” จนเป็นที่มาของวาทกรรม “สื่อแท้ สื่อเทียม” สืบเนื่องต่อมา

จนล่วงเลยมาถึงหลังรัฐประหาร เดือนก.ย. พ.ศ.2549 ทีวีดาวเทียมของกลุ่มที่ไม่ปลื้มรัฐประหารในนาม “ทีวีเพื่อประชาชน” หรือพีทีวี (PTV จาก People’s Television) ซึ่งผลิตโดยทีมงานจากพรรคไทยรักไทยเดิมก็ถือกำเนิดขึ้น แต่ติดขัดไม่สามารถออกอากาศได้ในช่วงแรกเพราะทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)ขัดขวางไว้ ซึ่งการปิดกั้นการออกอากาศของPTVเป็นมูลเหตุสำคัญหนึ่งของการรวมตัวกันของกลุ่มที่ต่อต้านรัฐประหาร จนนำไปสู่การจัดตั้งแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.)ในที่สุด จะเห็นได้ว่า การพยายามปิดกั้นสื่อในยุคข้อมูลข่าวสาร นอกจากจะเป็นความพยายามที่ไร้ผลแล้ว ยังกลับทำให้สถานการณ์เลวร้ายลงในระยะยาว เพราะ การบีบกดไม่ให้มีเสียง ไม่ให้มีทางออกย่อมนำไปสู่แรงสะท้อนกลับที่รุนแรงกว่า ดังที่เราได้เห็นมาแล้วจากกรณีของการใช้ทีวีการเมืองเป็นตัวขับเคลื่อนและระดมมวลชนในทุกๆ วิกฤตการณ์ทางการเมืองในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี การอุบัติขึ้นของทีวีการเมืองทั้งสีเหลืองสีแดงดังที่กล่าวข้างต้น เกิดขึ้นในช่วงแห่งสุญญากาศแห่งการกำกับดูแล กล่าวคือภาควิทยุและโทรทัศน์ของประเทศไทยปราศจากองค์กรกำกับดูแล จึงสามารถเปิดกันได้อย่างไร้ระเบียบ จนกระทั่ง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.สามารถจัดตั้งขึ้นและเริ่มดำเนินการได้ในเดือนต.ค. พ.ศ.2554 เมื่อมีกสทช.จึงเริ่มมีระบบการให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบกิจการวิทยุและโทรทัศน์

ซึ่งในช่วงที่กสทช.เกิดขึ้นมา ทีวีการเมืองต่างๆ ก็ได้ขยายไปกว้างขวางและแตกไลน์ใหม่ออกไปอีก แม้ทีวีของกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดงจะยังคงมีอยู่ แต่ก็มีทีวีการเมืองดาวเทียมหลายช่องที่ไม่ได้วางตัวเองไว้ตามแนวความขัดแย้งแบบเสื้อสี ตัวอย่างก็เช่น ช่อง 13 สยามไท ภายใต้การนำของ พลเรือเอก บรรณวิทย์ เก่งเรียน ซึ่งโฆษณาว่าเป็นสถานีโทรทัศน์เสียงประชาชน หรือ ช่องทีนิวส์ที่ระบุว่าเป็นสำนักข่าวแต่ก็แสดงถึงพันธกิจที่ชัดเจนในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และที่จะลืมเสียมิได้ก็คือ ช่องบลูสกายที่เป็นกลไกสำคัญของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยบลูสกายเป็นช่องใหม่ที่ถือกำเนิดขึ้นหลังเกิดกสทช.แล้ว

สิ่งที่น่าสังเกตก็คือ แม้จะมีกสทช. แต่ก็ไม่ได้มีการจัดระเบียบทีวีการเมืองเหล่านี้อย่างจริงจัง การออกอากาศแบบไร้หลักปฏิบัติที่ดี การโฆษณาชวนเชื่อ ไปจนถึงการเผยแพร่ประทุษวาจา (hate speech) ยังคงเกิดขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้นตามดีกรีความขัดแย้งในสังคม แม้กสทช.จะเป็นทั้งผู้ให้ใบอนุญาตและผู้กำกับดูแลแต่ก็ปล่อยปละให้มีการออกอากาศที่ห่างไกลจากคำว่า “ประโยชน์สาธารณะ” ดำเนินต่อไป ดังจะเห็นได้ว่าไม่เคยมีทีวีการเมืองช่องใดเลยที่ถูกตักเตือน หรือลงโทษทางปกครองจากกสทช. จากเนื้อหาที่ออกอากาศ

จนกระทั่ง เมื่อเกิดรัฐประหารครั้งล่าสุด คำสั่งคสช.ที่ 15 ได้นำไปสู่การปิดทีวีการเมืองรวม 14 ช่องรายการ/สถานีซึ่งก็รวมถึงเกือบทุกช่องที่ได้เอ่ยถึงไป และช่องอื่นๆ อีกที่แตกไลน์มาจากขั้วเดียวกันอย่าง ช่องดีเอ็นเอ็น ช่องยูดีดี ช่องเอ็มวี 5 ช่องเอเชียอัพเดท และช่องพีแอนด์พี ที่เป็นเครือสีแดงทั้งหมด ช่องเอเอสทีวี ช่องบลูสกาย และช่องทีนิวส์เองก็โดนปิดไปด้วย

สถานีและช่องรายการดังกล่าวถูกปิดไปหลายเดือน จนปลายเดือนส.ค. ทางคสช.จึงได้อนุญาตให้ 7 ช่องรายการ/สถานีเปิดทำการได้ใหม่ โดยทุกช่องต้องเปลี่ยนชื่อ (เพื่อสลายอัตลักษณ์เดิมๆ) และต้องไปทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับกสทช. มีข้อจำกัดด้านการนำเสนอเนื้อหาหลายข้อ ซึ่งรวมถึง การต้องไม่นำเสนอเนื้อหาที่นำไปสู่การใช้ความรุนแรง ยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก ข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ หรือที่ส่อไปในทางหมิ่นประมาทบุคคลอื่น การวิพากษ์ วิจารณ์ คสช.เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ การชักชวนให้ซ่องสุมคน เป็นต้น หากฝ่าฝืนก็อาจถูกระงับใบอนุญาตทันที

หลังการทำ MOU แล้ว ทางคลช.ได้มีคณะทำงานติดตามสื่อซึ่งจะคอยส่งบันทึกต่อให้กสทช.หากเห็นว่ามีการละเมิด MOU และในกสทช.เองก็มีทีมมอนิเตอร์ทีวีการเมืองเหล่านี้อยู่เช่นกัน ในปัจจุบัน สถานี/ช่องทีวีการเมืองที่มีการเปลี่ยนนามเสียใหม่ดังปรากฏข้อมูลตามในตารางข้างล่าง ก็ต้องระมัดระวังที่จะไม่ไปละเมิดเงื่อนไขใน MOU เพื่อจะไม่เป็นการตัดอนาคตการออกอากาศของตนเอง และแม้สไตล์การนำเสนอจะไม่สามารถเผ็ดร้อน รุนแรงได้เท่าเดิม แต่ก็ยังปรากฏว่า หลายช่องยังคงถูกผู้กำกับดูแล “เรียกมาคุย” อยู่เนืองๆ เพราะผู้จัดรายการยังคงติดรูปแบบคุยหรือวิพากษ์การเมือง ที่กลอนมักจะพาไปให้เป็นปัญหาตามมาจากการตีความตามMOU

ถึงจะไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางด้านเนื้อหาของทีวีการเมือง และไม่รู้สึกว่าการมีอยู่ของช่อง/สถานีเหล่านี้จะเป็นผลดีใดๆ ต่อสังคมประชาธิปไตย แต่ก็อดหวั่นใจลึกๆ ไม่ได้ว่า การใช้การปิดกั้นและควบคุมเป็นแนวทางกำกับดูแลหลักจะนำไปสู่ผลลัพธ์อย่างไร เพราะคงไม่มีใครอยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเป็นวงจรพิษทางการสื่อสารอย่างนี้สืบไป