คุกลับกับ "ค่ายรามสูร"

คุกลับกับ "ค่ายรามสูร"

กลับมาเป็นข่าวอีกรอบ กรณีที่มีรายงานข่าวเกี่ยวกับ "คุกลับ" ที่ภาคอีสาน ซึ่งอาจเป็นที่จังหวัดอุดรธานี

สืบเนื่องมาจากสงครามก่อการร้าย ที่สหรัฐอเมริกาทำตัวเป็น"ตำรวจโลก"ไล่จับกุมผู้ก่อการร้ายตัวเป้งๆ ซึ่งหลายประเทศที่มีเจ้าหน้าที่"ซีไอเอ"ประจำการอยู่ ก็จะมีสถานที่ควบคุมตัวเพื่อสอบสวน และดำเนินการส่งผู้ก่อการร้ายไปยังเรือนจำอีกทอดหนึ่ง

ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีไทยหลายคน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มีคุกลับ หรือสถานที่ควบคุมในการสอบสวนในชั้นต้นอยู่ในประเทศไทย

ล่าสุด สถานทูตสหรัฐอเมริกา เตือนประชาชนชาวสหรัฐอเมริกาในประเทศไทย ให้เพิ่มความระมัดระวังในเรื่องการก่อการร้าย โดยพาดพิงว่ามีการใช้คุกลับในประเทศไทยทรมานชาวอัลกออิดะห์

พล..อุดมเดช สีตบุตรรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก ได้ปฏิเสธอีกครั้งว่า ไม่เคยมีการกระทำเช่นนั้น และยังไม่เคยได้รับรายงาน

แต่ในสื่อสังคมออนไลน์ได้พากันวิพากษ์วิจารณ์กันไปมากมาย โดยคนกลุ่มหนึ่งพุ่งเป้าไปที่"ค่ายรามสูร"เมืองอุดรฯ ว่าเป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ก่อการร้ายนามกระเดื่องคนหนึ่งเมื่อ9ปีที่แล้ว

ค่ายรามสูร ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านโนนสูง ต.โนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ตั้งของ"กองพันทหารราบที่1กรมทหารราบที่13"

เดิมทีกองทัพสหรัฐ ตั้งค่ายรามสูร เป็นสถานีตรวจจับสัญญาณคลื่นวิทยุสื่อสารที่ใหญ่ที่สุด ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ปี2507ในภารกิจสงครามเวียดนาม และสงครามลับในลาว

เมื่อสงครามยุติ ทหารสหรัฐ ได้ขนย้ายอุปกรณ์สื่อสารออกไปหมด และได้โอนพื้นที่800ไร่3งาน23พร้อมตาข่ายเหล็กล้อมรอบให้กับกองทัพบกไทยซึ่งกองทัพบกได้มอบให้กองพันทหารราบที่1กรมทหารราบที่13ดูแลรับผิดชอบ

ค่ายรามสูร เป็นส่วนหนึ่งของสงครามต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ เช่นเดียวกับ"หน่วยผสม333"หรือ"บก.333"ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี2504มีฐานบัญชาการอยู่ที่บริเวณถนนหมากแข้ง อ.เมือง จ.อุดรธานี

ภารกิจที่"บก.333"ได้รับมอบหมายนั้นเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์การสู้รบในลาว

เนื่องจากรัฐบาลลาวฝ่ายขวาประสบภัยคุกคามจาก"แนวร่วมลาวกู้ชาติ"กับพันธมิตรเวียดนามเหนือ

และในขณะนั้น ไทยมีความเชื่อในเรื่องทฤษฎีโดมิโน จึงเกรงว่าหากราชอาณาจักรลาว ต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของฝ่ายคอมมิวนิสต์เมื่อใด ไทยก็คงหนีจากภัยคอมมิวนิสต์ไม่พ้น

บก.333ได้ปฏิบัติงานหาข่าว และจัดครูฝึกในรูปการปฏิบัติการพิเศษ ทำการฝึกประชาชนลาวในท้องถิ่นให้เป็นทหาร เพื่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์

สนามรบในลาวจัดเป็นส่วนสำคัญของสมรภูมิอินโดจีน แม้รัฐบาลสมัยนั้นจะไม่ยอมรับการมีอยู่จริงของกองกำลัง"เสือพราน"ในสมรภูมิรบเมืองลาว แต่โลกคงปฏิเสธความจริงข้อนี้ไม่ได้

สงครามลับในลาว โดย"บก.333"เป็นการทำงานร่วมกับสามฝ่ายระหว่างลาว ไทย และสหรัฐ

ซีไอเอคือหน่วยสืบราชการลับของรัฐบาลสหรัฐ ทำหน้าที่ควบคุม"บก.333"ทำการรบในสมรภูมิลาว ที่เป็นการรบนอกแบบ และเป็นภารกิจลับที่สุด

ทุกคนที่เข้าไปทำงานในลาว ต้องปกปิดตัวเอง ไม่บอกให้ผู้ใดได้รับรู้ถึงภารกิจที่ต้องปฏิบัติแม้แต่ตัวผู้ปฏิบัติ ก็ได้รู้เฉพาะภารกิจที่เกี่ยวกับหน้าที่ของตนเท่านั้น

จวบจนถึงทุกวันนี้ รัฐบาลไทยก็ไม่เคยยอมรับภารกิจ"สงครามลับ"ของทหารไทยในลาว

แม้จะมีการจัดตั้งสมาคมนักรบนิรนาม333ขึ้นมา มีอดีตนายทหารหลายนายเสนอแผนให้ไปนำอัฐิเพื่อนนักรบกลับบ้าน แต่รัฐบาลไทยไม่อนุมัติให้มีการไปขุดค้นหากระดูกนักรบเสือพรานในแผ่นดินลาว

เมื่อเป็นสงครามลับก็ต้อง"ลับ"กันต่อไป แต่จะนำกรณีนี้ไปเปรียบเทียบกับเรื่อง"คุกลับ"ได้หรือไม่นั้น..เชื่อว่าอีกไม่นานความจริงคงปรากฏ