ปฏิรูปสื่อภายใต้เงา 'คสช.'

ปฏิรูปสื่อภายใต้เงา 'คสช.'

การปฏิรูปสื่อครั้งนี้มีความน่าสนใจและแง่มุมที่ท้าทายกว่าครั้งใดๆ ที่ผ่านมา

ไม่ใช่เพียงเพราะดำเนินอยู่ในกรอบที่ถูกออกแบบมาในระบอบหลังรัฐประหาร แต่ยังเป็นเพราะบริบททางสังคมที่ทำให้สื่อกลายมาเป็นตัวเดิมพันสำคัญของกลุ่มอำนาจที่ขัดแย้งกันในสังคม ซึ่งแม้คลื่นบนผิวน้ำในปัจจุบันจะยังคงดูราบเรียบ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคลื่นใต้น้ำก่อตัวอยู่ในหลายแห่งด้วยกัน และสื่อก็เป็นศูนย์กลางของแอ่งน้ำวนเหล่านั้นไม่มากก็น้อย

ในอดีตที่ผ่านมาโดยเฉพาะในบริบทสากล การปฏิรูปสื่อมักเป็นปัจจัยนำ เป็นการเคลื่อนไหวควบคู่กัน หรือเป็นผลสืบเนื่องจากการปฏิรูปการเมือง หรือกระบวนการประชาธิปไตย โดยมีเงื่อนไขสำคัญในการก่อเกิดคือ การขาดความน่าเชื่อถือและชอบธรรมในสื่อ วิกฤตการณ์ทางการเมือง และการอุบัติขึ้นของเทคโนโลยีสื่อใหม่ๆ ที่ส่งผลต่อโครงสร้างและแบบแผนการปฏิบัติด้านการสื่อสารไปอย่างพลิกโฉม

ในประสบการณ์ของสังคมไทย ก็พบองค์ประกอบเหล่านี้อย่างชัดเจน ทั้งในการปฏิรูปสื่อรอบแรกซึ่งพัฒนาไปพร้อมๆ กับการปฏิรูปการเมืองในช่วงก่อนและหลังปี พ.ศ. 2540 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างสิทธิทางการสื่อสารของประชาชนที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย และในความพยายามรอบสองที่ริเริ่มโดยอดีต นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยบรรจุเป็นหนึ่งในแผนปรองดองแห่งชาติหลังเหตุการณ์ความไม่สงบในช่วงเดือน มีนาคม - พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ซึ่งมีเป้าหมายค่อนข้างชัดเจนว่าต้องการปฏิรูปสื่อที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เนื่องจากสื่อถูกมองว่าเป็นตัวการสำคัญในการสร้างความขัดแย้งทางการเมือง

สมัยวิกฤตการณ์ความขัดแย้ง พฤษภาคม พ.ศ. 2535 ระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยกับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของพลเอก สุจินดา คราประยูร มีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการกระจายข่าวสารทางการเมือง เพื่อตอบโต้การปิดกั้นและแทรกแซงสื่ออย่างเข้มงวดของรัฐ จนนำไปสู่ปรากฏการณ์ “ม็อบมือถือ” ที่ขยายวงกว้างและนำไปสู่จุดจบของรัฐบาลทหารในที่สุด

ส่วนเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ในเดือนมีนาคม - พฤษภาคม พ.ศ. 2553 สื่อใหม่ที่เข้าถึงและเปิดรับง่าย อย่างวิทยุชุมชน เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม ตลอดจนสื่อใหม่ที่ผู้ใช้สามารถสร้างเนื้อหาและกำหนดผู้รับเองได้ อย่างอินเทอร์เน็ต ได้เปิดพื้นที่การสื่อสารทางการเมืองซึ่งเคยถูกผูกขาดโดยรัฐ และสื่อที่เลือกข้างรัฐ ให้ผู้ปฏิบัติการสื่อที่ต่อต้านรัฐ สามารถนำเสนอประเด็นและวาระทางการเมืองที่แตกต่างได้

สำหรับการปฏิรูปสื่อครั้งปัจจุบัน น่าจะดูเป็นวาระแห่งชาติที่สุดและมีรูปแบบที่จัดตั้งอย่างเป็นระบบที่สุดเมื่อเทียบกับสองครั้งที่แล้วมา เนื่องจากมีกระบวนการสรรหาผู้เชี่ยวชาญเข้าไปเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าว และมีการจัดสรรอำนาจหน้าที่ให้สปช.อย่างเป็นระบบ

แต่เนื่องจากสปช.เพิ่งเริ่มปฏิบัติงานได้ไม่นาน จึงยังไม่ชัดเจนว่า เป้าหมายการปฏิรูปคือเพื่ออะไรแน่ แต่เท่าที่พอประเมินได้จากสาระสำคัญของประกาศคสช.ฉบับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสื่อ เอกสารที่คณะทำงานของคสช.ประมวลขึ้นมา (เช่น เอกสาร “กรอบความเห็นร่วมปฏิรูปประเทศไทย ด้านสื่อสารมวลชน” ของ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นต้น) ท่าทีของคสช.ที่มีการติดตามเฝ้าระวังสื่ออย่างแข็งขัน ตลอดจนการ “ขอความร่วมมือ” และ “ตักเตือน” สื่อต่างๆ ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์ระดับชาติ สื่อการเมืองที่มีอัตลักษณ์แบบเสื้อสี หรือแม้แต่สื่อสาธารณะ ทั้งที่ทำโดยตรงและโดยผ่านกสทช. ก็คาดว่าเป้าหมายน่าจะคล้ายคลึงกับสมัยของรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่เน้นการควบคุมที่เข้มงวดมากกว่า เนื่องจากรัฐบาลของอภิสิทธิ์เป็นรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง จึงติดอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากกว่า และไม่สามารถปิดสื่อหรือควบคุมการทำงานของสื่อได้อย่างเป็นผลเท่าไรนัก

เมื่อครั้งที่อภิสิทธิ์พยายามจะสร้างการปฏิรูปสื่อให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยริเริ่มให้เกิดโครงการวิจัยการปฏิรูปสื่อ โดยมอบหมายให้คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯเป็นแกนกลางเพื่อแสวงหาองค์ความรู้และสรุปบทเรียนที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนแผนปรองดองแห่งชาติในเรื่องสื่อ ทางองค์กรวิชาชีพสื่อกระแสหลัก (เช่นองค์กรตัวแทนของหนังสือพิมพ์ระดับชาติ วิทยุและโทรทัศน์ระดับชาติ) ก็ได้สร้างการเคลื่อนไหวคู่ขนานในรูปของคณะกรรมการอิสระ “คณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและความรับผิดชอบสื่อมวลชน” หรือ คพส. ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพสื่อ นักวิชาการสื่อสารมวลชน นักกฎหมาย ผู้แทนองค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เพื่อจัดทำแผนงานการปฏิรูปสื่อมวลชนภาครัฐและการพัฒนาสื่อเอกชน อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์จากทั้งสองส่วนก็ไม่ได้ถูกนำมาขับเคลื่อนให้เกิดผลในทางปฏิบัติ แม้จนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี ในการปฏิรูปสื่อทั้งสองครั้งที่ผ่านมา แนวทางของการปฏิรูปมักจะเน้นไปในสองสามแนวทางหลักๆ คือ การปฏิรูปนโยบาย กฎหมายและการกำกับดูแลสื่อ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของการเข้าถึงและใช้ทรัพยากรการสื่อสาร เช่น คลื่นความถี่วิทยุ เพื่อให้กระจายสู่ประชาชนมากกลุ่มขึ้น ภายใต้การแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมอันผูกโยงอยู่กับการสร้างองค์กรกำกับดูแลที่เป็นอิสระ (และควรจะเป็นมืออาชีพ) อย่างกสทช.และในเรื่องของการส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกของสื่อเป็นหลัก ที่เห็นเป็นวาระรองลงมาก็เช่น แนวทางการปรับเปลี่ยนแนวทางด้านเนื้อหาอย่างการก่อกำเนิดของโทรทัศน์สาธารณะเพื่อให้เป็นทางเลือกด้านเนื้อหา และแนวทางการยกระดับมาตรฐานทางวิชาชีพของผู้ผลิตสื่อผ่านการสร้างระบอบการกำกับดูแลกันเอง ซึ่งก็ยังได้ผลจำกัด และ การอบรมสร้างความรู้และสำนึกแห่งความรับผิดชอบให้แก่นักวิชาชีพสื่อ ซึ่งก็ยังค่อนข้างจำกัดอยู่กับสื่อกระแสหลักเช่นกัน

อย่างไรก็ดี บางด้านของการปฏิรูปที่ยังคงไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงพอก็คือ ด้านการสร้างบุคลากรที่จะเป็นพลังให้กับสื่อยุคหลังปฏิรูป ด้านการสร้างความหลากหลายที่สร้างสรรค์ในสื่อภายใต้ภูมิทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงไปอักโข ด้านการเสริมพลังให้สื่อขนาดเล็กที่เข้าใจแก่นแกนของความเป็นประชาธิปไตย และ เป็นสิทธิเป็นเสียงให้ผู้ด้อยโอกาส หรือคนชายขอบในสังคม และ ด้านของการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างสื่อกับผู้ดู ผู้ชม ผู้ฟัง และ ผู้ใช้สื่อ โดยสร้างความรู้เท่าทันสื่อ เพื่อให้เกิดการบริโภคสื่ออย่างวิเคราะห์วิจารณ์ และ ความสามารถในการตรวจสอบและเฝ้าระวังสื่อ โดยประชาชน และการส่งเสริมการตรวจสอบสื่อจากสังคม

ก็คงต้องขอฝากวาระที่ยังคงไม่ได้รับการดูแลให้สปช.ซึ่งมีตัวแทนจากหลายภาคส่วนทั้งในและนอกสื่อ (แต่ไม่มีจากสื่อทางเลือกเลย) ให้รับไปพิจารณาด้วย คลื่นใต้น้ำที่กล่าวไปข้างต้นจะก่อตัวเป็นสึนามิ หรือคลื่นกระทบฝั่งตามครรลองก็ขึ้นกับพวกท่านแล้ว