พลิกอาคารเป็นผลิตภัณฑ์

พลิกอาคารเป็นผลิตภัณฑ์

การเลือกของประดับบ้านหนึ่งชิ้นใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่าย (โดยเฉพาะตัวผม) บางท่านนิยมภาพวาดจากศิลปิน

บางท่านเลือกเอางานประติมากรรม

บางท่านนิยมของโบราณและบางท่านให้ความสำคัญกับเฟอร์นิเจอร์ที่สะท้อนตัวตนของผู้อยู่อาศัย วันนี้ผมผ่านไปเจอแนวคิดในการนำงานสถาปัตยกรรมของโลก มาพลิกเป็นของตกแต่งบ้านที่มากด้วยประโยชน์ใช้สอย

Naihan Li นักออกแบบเชื้อสายจีนแผ่นดินใหญ่ชี้ให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่นิยมนำสิ่งของที่ประทับใจมาตกแต่งบ้าน เหมือนในอดีตที่เราพบเห็นภาพวาดปลายพู่กันที่ถูกแขวนไว้บนผนัง ภาพแต่ละภาพล้วนมีจุดสนใจที่แตกต่างกัน บางภาพเน้นเทือกเขา บางภาพเน้นรูปพระราชวัง บางภาพเน้นรูปสัตว์มงคล อาทิ มังกร ม้า สิงโต

Li นำแนวคิดนี้มาเป็นต้นตอแรงบันดาลใจในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้าน คอลเลคชั่น I am a Monument โดยเลือกใช้อาคารสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นบนโลกใบนี้มาย่อขนาดให้เล็กลงกว่า 1,000 เท่า โดยเก็บอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของงานสถาปัตยกรรมนั้นๆ เอาไว้ เช่น รูปทรงห้าเหลี่ยมของอาคารเพนตากอน สำนักงานใหญ่ของกระทรวงกลาโหม สหรัฐอเมริกา มาพลิกเป็นเตียงนอนเล่น (Day Bed) หรือการนำ Edinburg Palm House จาก Botanic Garden Conservatory ในกรุงเอดินบะระ ประเทศสกอตแลนด์ มาสร้างเป็นที่ปลูกต้นไม้ นอกจากอาคารทั้งสองแล้วยังมีอาคารตลาดหลักทรัพย์ในกรุงนิวยอร์กมาออกแบบเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปจำลอง สำนักงานยูเอ็นกับตู้หนังสือ

เห็นได้ว่า นอกจากรูปทรงของอาคารที่นำมาใช้แล้ว Li ได้นำความหมายของอาคารมาปรับใช้กับงานออกแบบเพื่อให้ชิ้นงานมีคุณค่าทั้งทางด้านรูปทรง

และความหมายด้วย อีกหนึ่งแนวคิดในการนำเอกลักษณ์มาปรับใช้บนงานออกแบบผลิตภัณฑ์ (อ้างอิง : naihanli.com)