เมื่อร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ งัดข้อแอ๊ปเปิ้ล ใครจะอยู่ ใครจะไป

เมื่อร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ งัดข้อแอ๊ปเปิ้ล ใครจะอยู่ ใครจะไป

“แอ๊ปเปิ้ลเพย์” เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่และถูกพูดถึงมาก หลังงานเปิดตัวไอโฟน 6 เมื่อวันที่ 9 ก.ย.จบลง

บริการชำระเงินบนมือถือตัวนี้เป็นความหวังของคนในอุตสาหกรรมว่า จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใช้จ่ายบนมือถือได้จริงๆ เสียที เพราะการนำชิปเอ็นเอฟซีฝังโทรศัพท์มือถือก็มีมานานแล้ว โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนฝั่งแอนดรอยด์ แต่ยังไม่มีใครที่ประสบความสำเร็จนำมาใช้งานด้านโมบาย เพย์เม้นท์อย่างจริงจัง

แอ๊ปเปิ้ลซุ่มพัฒนาบริการแอ๊ปเปิ้ลเพย์อย่างเงียบๆ เริ่มจากเปิดตัวแอพบนไอโอเอสที่ชื่อว่า “Passbook” รวบรวมข้อมูลบัตรต่างๆ บัตรเครดิต พาสปอร์ต ตั๋วหนัง บัตรผ่านของสายการบิน

ต่อมาเดือน ก.ค. ปี 2555 แอ๊ปเปิ้ลซื้อบริษัท “AuthenTec” ที่มีเทคโนโลยีสแกนและจำลายนิ้วมือ พร้อมระบบรักษาความปลอดภัยขั้นสูงที่ใช้ในแวดวงทหาร เทคโนโลยีจาก AuthenTec ถูกพัฒนากลายมาเป็น TouchID และเปิดตัวพร้อมไอโฟน 5เอส เมื่อ ก.ย.ปี 2556

ทิม คุก ได้มอบหมายให้ Eddy Cue ผู้ดูแลไอทูนส์ สโตร์ และแอพ สโตร์ เป็นหัวหน้าทีมเจรจาหาพาร์ทเนอร์มาร่วมกับแอ๊ปเปิ้ลเพย์ให้มากที่สุด การเจรจาดีลต่างๆ เริ่มเกิดขึ้นต้นปี 2557 กับผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่อย่าง วีซ่า มาสเตอร์การ์ด และอเมริกัน เอ็กซ์เพรส กลุ่มธนาคารรายใหญ่ รวมถึงร้านค้าปลีกต่างๆ ที่มีสาขารวมกันกว่าสองแสนสาขา (เช่น McDonald , Subway)

แอ๊ปเปิ้ลเพย์เริ่มให้บริการครั้งแรกวันที่ 20 ต.ค. 2557 ที่ผ่านมา เพียง 3 วันแรกของการเปิดให้บริการ มีจำนวนบัตรเครดิตถูก activate ให้ใช้กับแอ๊ปเปิ้ลเพย์กว่า 1 ล้านใบ และมีข่าวดีว่าระบบยูเนี่ยน เพย์ ที่มีมูลค่ารวมการใช้จ่ายสูงสุดอันดับ 2 ของโลกรอง วีซ่า และอาลีเพย์ เตรียมจับมือกับแอ๊ปเปิ้ลเพย์ เร็วๆ นี้

แต่อนาคตแอ๊ปเปิ้ลเพย์ไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะร้านค้าปลีกยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ ได้รวมตัวกันปิดระบบชำระเงินด้วยเอ็นเอฟซี เพื่อไม่ให้แอ๊ปเปิ้ลเพย์ใช้ได้

ร้านค้าปลีกเหล่านี้ รวมตัวเป็นสมาชิกกลุ่มเรียกว่า “Merchant Customer eXchange” (MCX) ตั้งแต่ปี 2554 นำโดยยักษ์ค้าปลีกระดับประเทศอย่าง Walmart , 7-Eleven , Best Buy , Target และอื่นๆ โดยมีจำนวนสาขารวมกันกว่า 110,000 สาขา

MCX ได้ซุ่มเตรียมตัวสร้างระบบจ่ายเงินบนมือถือขึ้นมาเองอย่างยาวนาน และเตรียมเปิดตัวในชื่อ “CurrentC” ระบบที่พัฒนาขึ้นมาใช้วิธีการสแกนคิวอาร์ โค้ด 2 รอบเพื่อเวอร์ริฟายการชำระเงินแต่ละครั้ง ทำให้รองรับโทรศัพท์รุ่นที่ไม่มีเอ็นเอฟซีในตัวได้ด้วย CurrentC ยังถูกออกแบบให้เชื่อมต่อระบบลอยัลตี้ โปรแกรม ที่ใช้ในการสะสมแต้มต่างๆ ของทางร้านค้า

จุดประสงค์หลัก MCX คือ ต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีชำระเงินของลูกค้าบัตรเครดิต มาเป็นระบบตัวเอง ซึ่งเชื่อมต่อบัญชีธนาคารของลูกค้าโดยตรง เพราะร้านค้าไม่อยากจ่ายค่าธรรมเนียม 2-3% ในทุกครั้งที่ชำระด้วยบัตรเครดิต ซึ่งกลุ่ม MCX มียอดชำระเงินรวมกันกว่า หนึ่งล้านล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เป็นบัตรเครดิต

ถ้าทำสำเร็จ แน่นอนว่าร้านค้าปลีกเหล่านี้ย่อมมีกำไรเพิ่มขึ้นมหาศาล เพราะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมให้บริษัทบัตรเครดิตอีกต่อไป บรรดาร้านค้าปลีกจึงชอบ CurrentC เป็นพิเศษ ล่าสุด CVS Health และ Rite-aid เชนร้านขายยาขนาดใหญ่ ก็เข้าร่วม MCX เพื่อสนับสนุน CurrentC เช่นกัน

แต่การแบนแอ๊ปเปิ้ลเพย์ของกลุ่ม MCX สร้างความไม่พอใจให้ผู้ใช้จำนวนมาก โดยมีการรวมตัวกันของผู้ใช้ในชุมชนออนไลน์ชื่อว่า “Reddit” เพื่อแบนร้านค้าในกลุ่ม MCX ที่ปิดเอ็นเอฟซี เพื่อตัดการชำระเงินด้วยแอ๊ปเปิ้ลเพย์

CurrentC เป็นความพยายามของ MCX ที่จะแทนที่บัตรเครดิตเพื่อแก้ปัญหาของร้านค้าเอง แต่อาจไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้เรื่องความสะดวกสบาย เพราะมีขั้นตอนใช้งานยาก แต่ข้อดี คือ รองรับกลุ่มผู้ใช้ที่กว้างกว่า เพราะไม่ได้ใช้เอ็นเอฟซี และการเก็บข้อมูลผู้ใช้รองรับระบบลอยัลตี้ โปรแกรม สามารถเสนอส่วนลดกับข้อเสนอพิเศษต่างๆ กับลูกค้าได้

ขณะที่แอ๊ปเปิ้ลเพย์เลือกเป็นพันธมิตรบัตรเครดิต โดยนำเทคโนโลยีที่ดีกว่ามาแทนที่การรูดบัตรแบบเดิมๆ และใช้ไอโฟนที่มาพร้อมกับระบบรักษาความปลอดภัยสูงสุด มาใช้แทนที่บัตรพลาสติกที่เสี่ยงถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบัตร เป็นการแก้ไขปัญหาของผู้ใช้และปัญหา fraud จำนวนร้านค้าปลีกทั้งหมดในสหรัฐมีอยู่ราว 3.8 ล้านสาขา ยังมีโอกาสอีกมากสำหรับระบบชำระเงินทั้งสองระบบ ที่มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป แต่ระบบที่นำเสนอคุณค่าที่ดีกว่าให้ผู้ใช้จะกลายเป็นผู้ชนะในที่สุด