จับตา Xiaomi ผู้หาญกล้า ชนแอ๊ปเปิ้ลและซัมซุง

จับตา Xiaomi ผู้หาญกล้า ชนแอ๊ปเปิ้ลและซัมซุง

กลายเป็นวิวาทะร้อนแรงข้ามประเทศเมื่อ "โจนาธาน ไอฟ์" รองประธานฝ่ายออกแบบของแอ๊ปเปิ้ล

ถูกผู้ฟังคนหนึ่งถาม ในงานสัมมนา Vanity Fair New Establishment Summit ว่ารู้สึกยังไงกับสมาร์ทโฟนเซี่ยวหมี่ (Xiaomi) ที่ผลิตสมาร์ทโฟนของตัวเอง โดยการลอกเลียนดีไซน์ของไอโฟน

แม้ท่านเซอร์ไอฟ์จะตอบกลับไปกว้างๆ ไม่เจาะจงไปที่เซี่ยวหมี่ว่า “การลอกเลียนแบบไม่ใช่เรื่องน่ายกย่อง แต่ดูเหมือนหัวขโมย” ("I don't see it as flattery. I see it as theft") แต่ก็ทำให้ผู้บริหารเซี่ยวหมี่อย่าง "ฮิวโก้ บาร์รา" และ "ลิน บิน" ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัทเซี่ยวหมี่ออกมาตอบโต้ทันควัน

ลิน บิน ถึงกับบอกว่า ยินดีส่งมือถือเซี่ยวหมี่ไปให้โจนาธาน ไอฟ์ เป็นของขวัญ และอยากขอความเห็นหลังใช้งานว่าเป็นยังไงบ้าง เป็นวิวาทะร้อนๆ ระหว่างแอ๊ปเปิ้ล กับ แบรนด์สมาร์ทโฟนที่น่าจับตามองที่สุดแห่งปีอย่างเซี่ยวหมี่

เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เซี่ยวหมี่ ขึ้นแท่นผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนในจีนสำเร็จครั้งแรก โค่นบัลลังก์เจ้าตลาดเดิม "ซัมซุง" ลงได้ ทำให้ส่วนแบ่งตลาดสมาร์ทโฟนในจีนตอนนี้ มีเซี่ยวหมี่ครองสัดส่วนอยู่ 13.8% ตามด้วย ซัมซุงแชมป์เก่าที่มีส่วนแบ่งที่ 12.2% ขณะที่มือวางอันดับ 3 อย่างเลอโนโว ก็หายใจรดต้นคอรอแซงในส่วนแบ่งตลาดที่ใกล้มากที่ 12% อันดับ 4 คือ หยู่หลง (Yulong) 11.7% และอันดับ 5 คือ อีกหนึ่งยักษ์ใหญ่แดนมังกรอย่างหัวเว่ย 11%

ย้อนกลับไปปี 2556 ไม่น่าเชื่อว่าเซี่ยวหมี่ มีส่วนแบ่งตลาดในจีนเพียง 5% เท่านั้น ผ่านไปไม่ครบปี เติบโตจนเป็นที่ 1 ในตลาดสมาร์ทโฟนที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก

ประเทศต่อไปที่ เซี่ยวหมี่ เล็งพิเศษ คือ อินเดีย ตลาดสมาร์ทโฟนที่เติบโตเร็วที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจีน เติบโต 84% สูงกว่าอัตราเฉลี่ยการเติบโตทั้งโลก 4 เท่า ขณะที่ 2-3 เดือนที่ผ่านมา เซี่ยวหมี่ ได้รับการตอบรับดีมากมียอดขายในอินเดียถล่มทลายในรูปแบบแฟลชเซลล์ ผ่านเว็บ Flipkart.com ซึ่งเป็นเว็บอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่สุดของประเทศ

เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา มือถือรุ่น Redmi 1S ของเซี่ยวหมี่ถูกขายไปกว่า 100,000 เครื่องในรูปแบบแฟลชเซลล์ โดยมียอดพรีออเดอร์กว่า 300,000 เครื่อง เซี่ยวหมี่ตัดสินใจจ้าง Jai Mani อดีตพนักงานกูเกิลมาช่วยขยายฐานและเจาะตลาดสมาร์ทโฟนในอินเดียโดยเฉพาะ เจ้าตลาดสมาร์ทโฟนในอินเดีย คือ ซัมซุง ที่พ่ายให้เซี่ยวหมี่มาแล้ว เซี่ยวหมี่มีกลยุทธ์ที่น่าสนใจอะไรบ้างเริ่มต้นด้วย "กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย" ที่เซี่ยวหมี่เข้าไปเจาะครับ

ตลาดสมาร์ทโฟนแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ตลาดบน ฟีเจอร์จัดเต็ม ขายราคาพรีเมี่ยม ลูกค้ามีเงินระดับนึงถึงเป็นเจ้าของได้ ผู้เล่นตลาดนี้มีแบรนด์ใหญ่หลายแบรนด์ ส่งรุ่นระดับแฟล็กชิพมาต่อสู้ ซึ่งผู้นำตลาดคือ ไอโฟน ตลาดกลาง เป็นสมาร์ทโฟนราคาต่ำหมื่นสู้ด้วยสเปคและราคา มีปัจจัยเรื่องดีไซน์ เป็นส่วนสำคัญในการเลือก ตลาดล่าง เป็นสมาร์ทโฟนราคาพันต้นๆ ก็สู้ที่ราคากับสเปค

กลุ่มเป้าหมายที่เซี่ยวหมี่เลือก คือ ชนชั้นกลางที่อยากเป็นเจ้าของไอโฟน แต่งบไม่พอ หรือมีเงินแต่ไม่อยากจ่ายแพง กับกลุ่มวัยรุ่นที่อยากได้มือถือดูดีมีรสนิยม เป็นการตีตลาดกลาง โดยเอาโปรดักต์ที่มีความพรีเมียม เทียบเท่าโปรดักต์ที่ขายในตลาดบน เซี่ยวหมี่ใช้กลยุทธ์ความคุ้มค่าด้านราคาในการเจาะตลาดกลุ่มนี้ ตลาดกลาง มีซัมซุงเป็นเจ้าตลาดครองส่วนแบ่งเหนียวแน่น จากการออกมือถือขายหลายรุ่นเพื่อตอบสนองเซคเม้นท์ที่ต่างกัน

เซี่ยวหมี่แย่งส่วนแบ่งจากซัมซุง โดยนำเสนอโปรดักต์ที่ดีกว่าในแง่สเปคและดีไซน์ ตัวเครื่องมีดีไซน์พรีเมียมคล้ายไอโฟน มียูสเซอร์ อินเทอร์เฟซคล้ายไอโอเอส สเปคความแรงไม่ต่างซัมซุง ราคาถูกกว่าครึ่งนึงเมื่อเทียบกับกาแล็คซี่ เอส 5 ของซัมซุง ซัมซุงกาแล็คซี่ เอส 5 ที่มีบอดี้เป็นพลาสติก มีราคาขายอยู่ที่ 600-700 ดอลลาร์

แต่เซี่ยวหมี่ Mi5 หน้าจอ 5 นิ้ว บอดี้เป็นโลหะ มีสเปคสูงพอกับ S5 ราคาขาย 320 ดอลลาร์ โดนแบบนี้เข้าไปซัมซุงก็กระอัก ในตลาดจีนเสียส่วนแบ่งตลาดอย่างรวดเร็ว กระทั่งพ่ายให้เซี่ยวหมี่ในเวลาเพียง 3 ไตรมาส งบการตลาดที่เซี่ยวหมี่ใช้เป็นสัดส่วนเพียง 1% ของรายได้ เน้นการตลาดปากต่อปาก ให้ไวรัลผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย แต่สามารถเอาชนะซัมซุงที่ใช้งบการตลาด 5% ต่อปี (หลักพันล้านดอลลาร์) ธรรมดาซะที่ไหนล่ะ...

เซี่ยวหมี่มีวิธีคิดที่แตกต่าง โดยเฉลี่ยมือถือแต่ละรุ่นจะขายในตลาดประมาณ 265 วัน ก่อนออกอัพเกรดเป็นรุ่นใหม่ แต่เซี่ยวหมี่ขายในตลาดนาน 18-24 เดือน นานกว่าปกติของแบรนด์อื่น


เซี่ยวหมี่ใช้วิธีตั้งราคาขายเอาต้นทุนรวมทั้งหมดที่ใช้ผลิตมือถือแต่ละรุ่นมาเฉลี่ยแล้วบวกกำไรเพิ่มเข้าไป และขายในราคาเดิมตลอดระยะเวลาที่วางขายในตลาด ต่างจากแอ๊ปเปิ้ลที่ต้องการรักษากำไรสูงสุด ด้วยการออกไอโฟนรุ่นใหม่ออกมาเรื่อยๆ ขณะที่แบรนด์อื่นจะขายราคาสูง ช่วงโปรดักต์วางตลาดใหม่ๆ จากนั้นค่อยปรับลดราคาลงมาใช้วิธีรักษากำไรจากต้นทุนชิ้นส่วนการผลิตที่ลดลงโดยรวม แทนที่จะพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ออกรุ่นใหม่ตลอดเวลา เพื่อรักษากำไรไว้

และอย่าลืมนะครับว่าเซี่ยวหมี่ใช้งบการตลาดไม่เยอะเหมือนแบรนด์อื่น เลยไม่ต้องบวกเป็นต้นทุนขายสินค้า และยังมีรายได้เพิ่มจากการขายเกม ขายแอพ ธีม โฆษณาบนมือถือ และบริการเสริมต่างๆ จากการสร้างอีโค่ซิสเต็มของตัวเองให้อุปกรณ์ที่ผลิต ดำเนินรอยตามสิ่งที่แอ๊ปเปิ้ลทำ (สมฉายา “Apple of China” จริงๆ)

เซี่ยวหมี่ คาดว่า ปีนี้ (2557) จะขายสมาร์ทโฟนรวมกัน 60 ล้านเครื่อง และตั้งเป้าว่าปีหน้าจะมียอดขายสูงถึง 100 ล้านเครื่อง หรือเพิ่มขึ้นอีกกว่า 66%


น่าจับตามองว่า ปีหน้าเซี่ยวหมี่จะขึ้นเป็นผู้นำตลาดสมาร์ทโฟนของโลกได้รึเปล่า