ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต "ครั้งแรก"รัฐเรียกถกเอกชน

ปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต "ครั้งแรก"รัฐเรียกถกเอกชน

เพราะการจัดเก็บ "ภาษี" ส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ผู้บริโภค

แม้กระทั่งรัฐบาลเอง

ทว่า "ไม่บ่อยนัก" ที่การปรับโครงสร้างภาษีของเมืองไทย จะเปิดทางให้ภาคธุรกิจในฐานะผู้ใช้กฎหมาย จะได้ร่วมแสดงความคิดเห็น ในฐานะผู้ที่ได้รับผลกระทบ "ยกเว้น" แต่ครั้งนี้

ที่กรมสรรพสามิต มีกำลังจะปรับโครงสร้างภาษีครั้งใหญ่ หนึ่งในนั้นคือการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิต จากที่มีกระจายอยู่กว่า 7 ฉบับแล้วแต่ประเภทสินค้า รวบมาเหลือเพียง "ฉบับเดียว" ภายในเกณฑ์การคำนวณภาษีเดียวกัน ภายใต้ "ประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต" ....

ที่ภาคธุรกิจได้เข้าไปมีส่วนร่วม ด้วยการจัดตั้งคณะทำงานร่างประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต

ด้วยความหวังว่า การปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรอบนี้ จะทำให้เกิด "ความเป็นธรรม" และ "ความยุติธรรม" มากขึ้นกว่าเกณฑ์การคำนวณภาษีที่ใช้กันอยู่

แต่ทั้งความเป็นธรรม และความยุติธรรม ล้วนขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ประกอบการ วาระนี้ภาคธุรกิจที่ดูจะ "ตื่น" กับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตมากที่สุด เห็นจะเป็นกลุ่มธุรกิจ "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" เพราะเพิ่งโดนรีดภาษีเพิ่มไปเมื่อปลายปี 2556 จากการปรับเกณฑ์การคำนวณภาษีจากราคาหน้าโรงงานอุตสาหกรรม มาเป็น "ราคาขายส่งช่วงสุดท้าย" ที่หลายฝ่ายมองว่าไม่ได้สร้างความเป็นธรรม เนื่องจากไม่มีฐานราคาที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับว่าจะนำราคาจากตัวแทนจำหน่ายใดมาอ้างอิง

"ราคาขายปลีกแนะนำ" จึงกลายเป็นคำตอบของการเปลี่ยนวิธีการคำนวณภาษีสรรพสามิตรอบใหม่นี้ เพราะไม่ว่าผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ก็ต้องมาใช้ฐานราคานี้ในการคำนวณภาษี โดยหวังลดความเหลื่อมล้ำ

ทว่าเกณฑ์ในการคำนวณดังกล่าว กลายเป็นประเด็นที่ถกกันมาก เมื่อค่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยักษ์ใหญ่ของไทย ค้านเสียงแข็ง เพราะกังวลว่ารัฐจะใช้ราคาขายจาก "ห้างค้าปลีก" เป็นตัวกำหนด กลายเป็นห้างค้าปลีกเป็นผู้กำหนดฐานภาษีแอลกอฮอล์

จึงเรียกร้องให้รัฐพิจารณาเกณฑ์การคำนวณภาษีแอลกอฮอล์จากปริมาณแอลกอฮอล์บริสุทธิ์แทน

ขณะที่ฟากเบียร์พรีเมียมซึ่งเป็นฝ่าย "ชง" วิธีคิดคำนวณภาษีจากราคาขายปลีกแนะนำ ก็ไม่ยอมแพ้ กลายเป็นวิวาทะย่อมๆ

ทั้งนี้ กูรูจากตลาดเบียร์รายใหญ่ออกมาให้ข้อมูลว่า หากรัฐจะเก็บภาษีโดยคิดตามปริมาณแอลกอฮอล์ ไฮเนเก้น เบียร์เบอร์ 4 ของโลก จากเนเธอร์แลนด์ ค่อนข้างได้ประโยชน์ เมื่อเทียบกับเบียร์ลีโอของค่ายสิงห์ เพราะมีแนวโน้มที่จะจ่ายภาษีในอัตราเท่ากัน เมื่อพิจารณาเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ พบว่า ไฮเนเก้นอยู่ที่ 5% และลีโอ 6%

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีทั้งผู้ที่ "เห็นด้วย" และ "ไม่เห็นด้วย" กับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตดังกล่าว แต่เมื่อภาครัฐ "เปิดทาง" ให้เอกชนเข้าไปรับฟังหรือเสนอแนะ ก็เป็นเรื่องดีที่ได้ชี้แจงผลกระทบที่เกิดขึ้นร่วมกัน

เพราะสุดท้าย หากรัฐการรื้อโครงสร้างภาษีเกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการ กระทั่งทำให้ราคาขายสินค้าเพิ่มขึ้นแล้ว

ผลกระทบที่กว้างกว่านั้นคือ "ผลกระทบต่อผู้บริโภค"

ซึ่งเป็นแรงกระเพื่อมที่สำคัญที่สุด ต่อกำไรในกระเป๋าของผู้ประกอบการ และภาษีของรัฐ