เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับปริมาณสำรองปิโตรเลียม

เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับปริมาณสำรองปิโตรเลียม

คำว่า "ปริมาณสำรองปิโตรเลียม" นั้นจากที่ได้ติดตามความเข้าใจของประชาชนทั่วๆ ไป ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

และยังคงมีความสับสนค่อนข้างมาก จึงมีความจำเป็นต้องอธิบายเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้เข้าใจคำว่า "ปริมาณสำรองปิโตรเลียม" อย่างถูกต้องเพื่อจะได้สื่อสารกันระหว่างหน่วยงานราชการหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมกับภาคประชาชนด้วยความเข้าใจที่ตรงกัน

ตัวอย่างความเข้าใจผิดของปริมาณสำรองปิโตรเลียมเช่น “ปริมาณสำรอง คือ ปริมาณปิโตรเลียมใต้ดินทั้งหมด” หรือ “ปริมาณปิโตรเลียมใต้ดินที่มีการขุดพบเห็นแล้ว” หรือ “ปริมาณสำรองของไทยเป็นประเทศเดียวในโลกที่ว่าเป็นปริมาณสำรองที่ต้องทำสัญญาซื้อ-ขายระหว่างผู้ขายกับผู้ขุดเจาะไม่ใช่ปริมาณพลังงานที่เห็นทั้งหมด” หรือ “รัฐบอกว่ามีปริมาณสำรองเหลืออยู่ 10 ปี แต่ตอนนี้ผ่านมา 10 ปีแล้วก็ยังไม่หมดแสดงว่ารัฐโกหกประชาชน” เป็นต้น ผมได้มีโอกาสเห็นความเข้าใจผิดแบบนี้กระจายออกไปเป็นวงกว้างจึงอดเป็นห่วงไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมาปรับความเข้าใจให้ถูกต้องกันใหม่ ว่าคำว่าปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ นักลงทุน ในวงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่เขากล่าวถึงกันนั้นหมายความว่าอย่างไร

การจัดทำคำนิยามของ "ปริมาณสำรองปิโตรเลียม" ตามมาตรฐานสากลของ Petroleum Resources Management System (PRMS) ครั้งล่าสุดปี พ.ศ.2554 เกิดจากความร่วมมือจาก 5 องค์กรระดับนานาชาติทางด้านธรณีวิทยาและวิศวกรรมปิโตรเลียม ประกอบด้วยSociety of Petroleum Engineers (SPE), American Association of Petroleum Geologists (AAPG), World Petroleum Council (WPC), Society of Petroleum Evaluation Engineers (SPEE) และ Society of Exploration Geophysicists (SEG) โดยให้คำนิยามของ "ปริมาณสำรองปิโตรเลียม" ดังนี้

“Reserves are those quantities of petroleum anticipated to be commercially recoverable by applicationof development projects to known accumulations from a given date forward under defined conditions. Reserves must further satisfy four criteria: They must be discovered, recoverable, commercial, and remaining (as of a given date) based on the development project(s) applied.”

"ปริมาณสำรองปิโตรเลียมคือ ปริมาณปิโตรเลียมที่เหลืออยู่ในแหล่งปิโตรเลียมที่ถูกค้นพบแล้วโดยสามารถผลิตได้ด้วยแผนพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมปัจจุบันอย่างคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจและกฎระเบียบที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน" จะเห็นได้ว่าจะมีเงื่อนไขสำคัญอยู่ 4 อย่างคือ 1) discovered ถูกค้นพบแล้ว 2) recoverable สามารถผลิตได้ 3) commercial คุ้มค่าเชิงพาณิชย์หรือคุ้มทุน 4) development project applied มีแผนพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมแล้ว นั่นคือปริมาณปิโตรเลียมที่อยู่ใต้ดินจะถูกเรียกเป็นปริมาณสำรองได้นั้นต้องเป็นไปตามเงื่อนไขทั้ง 4 อย่างดังกล่าว

ขอขยายความเพิ่มเติมว่า ก่อนจะมาเป็นปริมาณสำรองได้จะต้องมีการขุดเจาะสำรวจพิสูจน์ (exploration drilling) ว่ามีปิโตรเลียมในโครงสร้างที่คาดว่าจะเป็นแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมบริเวณนั้นหรือไม่ ถ้าค้นพบปิโตรเลียมแล้ว (discovered) ก็จะทำการทดสอบหลุม (well test) ว่าสามารถผลิตได้ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันได้หรือไม่ ถ้าสามารถผลิตได้ (recoverable) ก็จะทำการขุดเจาะหลุมประเมินผล (appraisal drilling) เพื่อประเมินหาขอบเขตของแหล่งปิโตรเลียมนั้นว่ามีขนาดใหญ่เล็กแค่ไหน เพื่อประเมินความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ (commercial) โดยจัดทำแผนพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมและได้รับการเห็นชอบ (development project applied) ตามสภาวะเศรษฐกิจและเทคโนโลยีปัจจุบันโดยประเมินจากต้นทุนราคาปิโตรเลียม และตลาดที่รองรับผลผลิตจากโครงการ จึงจะสามารถรายงานเป็นปริมาณสำรองได้ตามหลักสากล

ในส่วนน้ำมันดิบนั้นปกติจะมีตลาดโลกรองรับอยู่แล้วสามารถขนส่งทางเรือไปที่ไหนก็ได้และมีราคาตลาดโลกส่วนกรณีก๊าซธรรมชาตินั้นจำเป็นต้องหาตลาดรองรับในแต่ละพื้นที่ถ้าไม่ทำเป็น LNG ที่ต้นทุนสูงมากก็ต้องขนส่งทางท่อ ทำให้ต้องมีการลงนามในสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติระหว่างผู้ซื้อ (เจ้าของท่อก๊าซหรือผู้ซื้อที่เข้าถึงท่อ) กับ ผู้ขาย (ผู้รับสัมปทาน) ก่อนเพื่อยืนยันการมีตลาดรองรับในระยะยาวถึงจะประเมินความคุ้มค่าเชิงพาณิชย์และวางแผนพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมได้และก๊าซธรรมชาติเหลว (คอนเดนเสท) ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขนี้ด้วยเพราะเป็นผลพลอยได้จากการผลิตก๊าซธรรมชาติ

ยกตัวอย่างคำอธิบายเกี่ยวกับปริมาณสำรองของ ปตท.สผ. ที่ระบุในแบบ 56-1 ในปี พ.ศ.2555 โดยปริมาณสำรองพิสูจน์แล้วไม่ได้รวมปริมาณปิโตรเลียมที่ได้สำรวจพบจากโครงการในประเทศเวียดนาม เนื่องจากยังไม่มีการลงนามในการจัดทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานสากลของ PRMS โดยประเทศเวียดนามก็ใช้มาตรฐานเดียวกัน

นอกจากนี้ การประเมินปริมาณสำรองยังแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามระดับความมั่นใจคือ ปริมาณสำรองพิสูจน์แล้ว (proved หรือ P1) ปริมาณสำรองคาดว่าจะพบ (probable หรือ P2) และ ปริมาณสำรองน่าจะพบ (possible หรือ P3) โดยปริมาณสำรองพิสูจน์แล้ว (proved reserves, P1 หรือ 1P) เป็นปริมาณสำรองที่มีการขุดเจาะพิสูจน์เห็นขอบเขตของแหล่งปิโตรเลียมแล้วจึงมีความมั่นใจถึง 90% ส่วนปริมาณสำรอง 2P (proved + probable) และ 3P (proved + probable + possible) จะรวมปริมาณสำรองที่ยังไม่ได้พิสูจน์คือส่วนที่เกินขอบเขตที่พิสูจน์แล้ว แต่คาดว่าหรือน่าจะพบอีกโดยมีความมั่นใจ 50% และ 10% ตามลำดับ

ต่อด้วยคำถามที่ว่า “เมื่อ 10 ปีที่แล้วบอกว่าประเทศไทยมีก๊าซธรรมชาติเหลือ 10 ปี มาวันนี้ทำไมยังไม่หมด” ก็เพราะว่าเรายังคงมีการลงทุนสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมรวมถึงมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีการค้นพบปริมาณสำรองในประเทศเพิ่มเติม แต่ระยะหลังมีการค้นพบปริมาณสำรองจากแหล่งใหม่ๆ น้อยมากขณะที่ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นหรือหาไม่ทันใช้นั่นเอง ทำให้วันนี้ประเทศไทยมีปริมาณสำรองพิสูจน์แล้วลดลงมากจนเหลือเพียง 6-7 ปี (สิ้นปี พ.ศ. 2555 ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติพิสูจน์แล้ว 9.04 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต จากปริมาณการผลิตประมาณ 4 พันล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน) ถ้ารวมกับปริมาณสำรองที่คาดว่าจะพบ (probable) ก็จะเหลือเพียงประมาณ 13-14 ปีเท่านั้น

จากคำนิยามของ “ปริมาณสำรองปิโตรเลียม” ข้างต้นนั้นเป็นมาตรฐานสากลที่ทุกองค์กรและบริษัทน้ำมันทั่วโลกใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันในรายงานผู้ถือหุ้น รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ และที่ปรากฏอยู่ในรายงานของ OPEC, BP Statistical Review หรือ US EIA เป็นต้น ซึ่งทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ก็ยืนยันว่าตัวเลขปริมาณสำรองของประเทศไทยก็เป็นไปตามมาตรฐานสากลของ PRMS ที่นับวันตัวเลขจะเหลือน้อยลงไปเรื่อยๆ

ดังนั้น การดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อค้นหาปริมาณสำรองเพิ่มเติม เช่น การเปิดสัมปทานรอบที่ 21 การพิจารณาแนวทางพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมสำหรับสัมปทานในพื้นที่ผลิตที่กำลังหมดอายุลง และการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา เป็นต้น จึงมีความสำคัญมากต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศซึ่งทำให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมของประเทศได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน