ปฎิบัติการ.. คืนความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ

ปฎิบัติการ.. คืนความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติ

ตั้งแต่บ้านเมืองเกิดปัญหาวุ่นวาย ผู้คนแบ่งเป็นฝักฝ่าย “ความสุข” ของคนในประเทศก็พลอยหายไปด้วย

เช่นเดียวกับ “ความเชื่อมั่น” ของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่บั่นทอนลงเรื่อยๆ จะเห็นว่าที่ผ่านมามีหลายโครงการซึ่งนักลงทุนต่างชาติสนใจและอยากเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่ด้วยปัญหาความไม่สงบที่ “เรื้อรัง” ยาวนาน ทำให้มีไม่น้อยต้อง “เบนเข็ม” ไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านแทน ทั้งที่ทักษะแรงงานเทียบกับไทยแล้วต่างกันลิบ

โชคดีที่เวลานี้ “ความสุข” เริ่มกลับคืนสู่สังคมไทยบ้างแล้ว

ส่วนในเรื่อง “ความเชื่อมั่น” ของนักลงทุนต่างชาตินั้น ก็หวังว่าจะกลับคืนมาโดยเร็ว เพราะที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เร่งดำเนินการในเรื่องนี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดตั้ง คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) โดยที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. นั่งเป็นประธานด้วยตัวเอง

ขณะเดียวกันยังดึง “หัวกระทิ” ของหน่วยงานเศรษฐกิจต่างๆ มาร่วมนั่งเป็นบอร์ดด้วย เช่น ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นต้น

ที่สำคัญหลังจากตั้ง บอร์ดบีโอไอ ได้เพียง 10 วัน ก็สามารถอนุมัติโครงการลงทุนขนาดใหญ่ออกมาได้ 18 โครงการ คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ผ่านมา หัวหน้า คสช. ยังเดินสายพบปะพูดคุยกับผู้แทนหอการค้าต่างประเทศจากประเทศต่างๆ ที่ประจำอยู่ในไทย ซึ่งดำเนินการมาร่วม 3 ครั้งแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ

ยังไม่หมดเท่านี้ เพราะภายในหน่วยงานกระทรวงการคลังเองยังมี “แผนเชิงรุก” ในด้านการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ โดยจะเรียกประชุมหารือและชี้แจงทำความเข้าใจกับนักลงทุนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน

การหารือที่ว่านี้ เป็นการชี้แจงและทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวการดำเนินนโยบายของรัฐบาล สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ การคลัง และสังคมที่เป็นที่สนใจต่อสาธารณชน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจถูกต้องและสอดคล้องไปทิศทางเดียวกัน

ขณะเดียวกันยังเตรียมจัดให้ผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงการคลัง และเจ้าหน้าที่ในการเดินทางไปหารือกับผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง สร้างความเชื่อมั่น และแสดงถึงความชัดเจนด้านนโยบาย รวมถึงสร้างความสัมพันธ์อันดี ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการวิเคราะห์ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศได้

ทั้งหมดนี้ ต้องบอกว่า “สิ่งที่ควรทำ” ก็ได้ทำไปเกือบจะหมดแล้ว ที่เหลือคงต้องลุ้นว่า นักลงทุนต่างชาติ จะ “รับ” ความเชื่อมั่นกลับคืนไป เหมือนที่ “คนไทย” ได้ความสุขกลับคืนมาหรือไม่ ..ซึ่ง “ความเชื่อมั่น” ต่างกับ “ความสุข” ตรงที่ความสุขสัมผัสได้ในทันที แต่สำหรับความเชื่อมั่นแล้วยังต้องมองยาวในอนาคต ถือเป็นโจทย์ที่ยากไม่น้อย!