ก่อนจะถึง 4G

ก่อนจะถึง 4G

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน ช่วงเดือนที่ผ่านมามีข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz หรือ 4G

ซึ่งทั้งนักวิชาการและประชาชนต่างให้ความสนใจต่อการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) มีแผนจะจัดขึ้นในช่วงเดือนสิงหาคมนี้เป็นอย่างมาก คลื่นความถี่ 1800 MHz ที่จะนำมาประมูลในครั้งนี้ เป็นคลื่นความถี่ที่ดีพีซีและทรูมูฟได้ใช้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 2G ภายใต้สัญญาสัมปทานจากบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท.) ซึ่งสัญญาทั้งสองฉบับได้สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2556

ในบทความวันนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงการดำเนินการของบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด (ทรูมูฟ) ภายหลังจากที่สัญญาสัมปทานของทั้งสองรายสิ้นสุดลง ซึ่งก่อนที่สัญญาสัมปทานทั้งสองฉบับจะสิ้นสุดลงนั้น กสทช. ได้ออกประกาศเรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. 2556 (ประกาศเยียวยาฯ) ที่มีผลใช้บังคับในวันที่ 30 สิงหาคม 2556 เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการของดีพีซีและทรูมูฟ ที่มีรวมกันมากกว่า 17 ล้านเลขหมาย ดังนั้น ในระหว่างที่การจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 MHz ยังไม่แล้วเสร็จ ประกาศเยียวยาฯ กำหนดให้ดีพีซีและ ทรูมูฟ ต้องดำเนินการ ดังนี้

1. ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการของตนบนคลื่นความถี่ 1800 MHz ต่อไปอีก 1 ปีนับแต่วันที่สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง หรือจนถึงวันที่ 15 กันยายน 2557

2. อำนวยความสะดวกในการย้ายค่ายไปยังผู้ให้บริการรายใหม่ ภายในวันที่ 15 กันยายน 2557

3. ห้ามรับผู้ใช้บริการรายใหม่

4. คืนเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการที่คงเหลืออยู่ในโครงข่ายของตน ในกรณีที่ระยะเวลาเปลี่ยนถ่ายสิ้นสุดแล้ว แต่ยังมิได้มีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และผู้ใช้บริการรายนั้นมีเงินค้างอยู่

ในปัจจุบันเหลือระยะเวลาอีกไม่ถึง 3 เดือนก่อนที่ระยะเวลาเปลี่ยนถ่ายจะสิ้นสุดลง แม้ว่า กสทช. ได้เปิดเผย สถิติการโอนย้ายค่ายนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 ว่า มีอัตราการโอนย้ายสำเร็จค่อนข้างสูง ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนเมษายน 2557 มีจำนวนเลขหมายที่โอนย้ายสำเร็จ (Port Completed) เป็นจำนวนสูงถึง 3,117,144 เลขหมายก็ตาม แต่คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการคงค้างในโครงข่ายของทรูมูฟ ณ วันสิ้นสุดระยะเวลาเปลี่ยนถ่าย ประมาณ 4 ล้านราย โดยเฉพาะผู้ใช้บริการกลุ่มที่ใช้ระบบเติมเงิน และคาดว่า ดีพีซีน่าจะโอนย้ายผู้ใช้บริการทั้งหมดได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ หากระยะเวลาเปลี่ยนถ่ายสิ้นสุดลง และยังมีผู้ใช้บริการตกค้างในทั้งสองโครงข่าย ก็จะประสบปัญหาซิมดับในทันที

ท่านผู้อ่านคงเกิดคำถามว่า ทำไมถึงไม่สามารถโอนย้ายผู้ใช้บริการออกจากทั้งสองโครงข่ายได้ภายในกำหนด ทั้งที่มีระยะเวลาดำเนินการโอนย้ายหนึ่งปี การโอนย้ายผู้ใช้บริการมีหลักการว่าต้องเป็นความสมัครใจของผู้ใช้บริการ ว่าต้องการย้ายไปใช้บริการของผู้ให้บริการรายใด เพื่อป้องกันมิให้ผู้ให้บริการย้ายผู้ใช้บริการได้เองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ดี เนื่องจากการโอนย้ายค่ายต้องทำผ่านระบบที่ร่วมดำเนินการโดยผู้ให้บริการทุกราย โดยมี Clearing house เป็นผู้ดูแลการโอนย้าย ซึ่งมีรายละเอียดทางเทคนิคอย่างมาก เปรียบเทียบเหมือนการกดเงินสดผ่านตู้ ATM ด้วยบัตร ATM ของธนาคารใดก็ได้ ผ่านระบบ ATM Pool

ดังนั้น หากผู้ให้บริการรายใหม่และรายเดิม ทำการโอนย้ายกันเองโดยไม่ผ่าน Clearing house อาจจะส่งผลให้เลขหมายที่โอนย้ายนั้นไม่สามารถรับสายหรือโทรออกไปยังหมายเลขในโครงข่ายอื่นได้ เพราะโครงข่ายอื่นจะไม่รู้ว่าเลขหมายนี้ ณ ปัจจุบันใช้งานที่โครงข่ายใด ยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ เช่น หากท่านผู้อ่านย้ายออกจากทะเบียนบ้านโดยไม่แจ้งสำนักงานเขตถึงทะเบียนบ้านใหม่ ท่านก็จะไม่ได้รับจดหมายราชการที่ถูกส่งไปยังทะเบียนบ้านเดิม เพราะท่านไม่ได้อยู่ทะเบียนบ้านนั้นแล้ว แต่ถ้าท่านแจ้งทะเบียนบ้านใหม่ให้สำนักงานเขตทราบ จดหมายราชการก็จะส่งไปยังทะเบียนบ้านใหม่ ทุกคนก็สามารถติดต่อท่านได้ค่ะ

นอกจากนี้ ศักยภาพของระบบในการรองรับข้อมูลที่ส่งผ่านระหว่างผู้ให้บริการทุกรายและ Clearing house ที่ใช้ในการโอนย้ายก็มีความสำคัญมาก ซึ่งนับแต่วันที่สัญญาสัมปทานของดีพีซีและทรูมูฟสิ้นสุดลง Clearing house ก็ได้เพิ่มศักยภาพในการโอนย้ายค่ายในแต่ละวันขึ้นมาเป็นลำดับ เพื่อรองรับการโอนย้ายค่ายของผู้ใช้บริการกว่า 17 ล้านเลขหมาย ตั้งแต่วันละ 40,000 กว่าเลขหมาย จนในปัจจุบันสามารถรองรับการโอนย้ายได้มากถึง 100,000 กว่าเลขหมายต่อวัน หรือ 3 ล้านกว่าเลขหมายต่อเดือน

นอกจากปัจจัยทางเทคนิคของระบบการโอนย้ายแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้การโอนย้ายค่ายล่าช้า เช่น ผู้ใช้บริการในระบบเติมเงินไม่ได้ลงทะเบียนซิมไว้ กับผู้ให้บริการ ทำให้ผู้บริการมีช่องทางในการติดต่อผู้ใช้บริการผ่านทาง SMS เพียงช่องทางเดียว ซึ่งผู้ใช้บริการบางรายก็มิได้ใช้หมายเลขดังกล่าวเป็นประจำ ทำให้ได้รับการประชาสัมพันธ์การโอนย้ายค่ายจากผู้ให้บริการล่าช้า หรือผู้ใช้บริการบางรายที่ใช้ซิมดังกล่าวแบบดาต้าเพียงอย่างเดียว ทำให้ไม่สามารถรับ SMS ประชาสัมพันธ์ดังกล่าวได้ รวมถึงผู้ใช้บริการบางรายยังไม่เข้าใจถึงการโอนย้ายค่าย หรือไม่ต้องการโอนย้ายค่าย เป็นต้น

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะไม่มีผู้ใช้บริการคงค้างในโครงข่าย ณ วันที่ระยะเวลาเปลี่ยนถ่ายสิ้นสุดลง คงต้องคอยดูกันว่า กสทช. และผู้ให้บริการทั้งสองรายจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้โอนย้ายผู้ใช้บริการทั้งหมดได้สำเร็จค่ะ

แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้า สวัสดีค่ะ

******************************************

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่