จะลงทุนในวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมกันอย่างไร?

จะลงทุนในวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมกันอย่างไร?

ต่อเนื่องจากคอลัมน์เดือนที่แล้ว ประเทศไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่มีโอกาสในการก้าวข้ามความยากจนและกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

เรายังมีเพื่อนๆ ประชาชนที่มีความเป็นอยู่ต่ำกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ เข้าใจว่าประมาณร้อยละสิบของประชากร ในขณะที่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อให้มีการยกระดับรายได้ของประชากรก็อาศัยการส่งออกเป็นสำคัญ ทั้งที่เราผลิตส่งออกเอง และที่เราเป็นฐานให้ประเทศอื่นมาผลิตและขายหรือส่งออก

หากแต่ในยุคนี้ ประชาคมโลกโชคดีที่มีตัวช่วยทางเศรษฐกิจโผล่ขึ้นมาอีกจำนวนหนึ่ง ในจำนวนนี้ก็คือการสร้างและใช้ประโยชน์จาก “นวัตกรรม” ทั้งที่เป็นนวัตกรรมเชิงกายภาพจับต้องได้ กับนวัตกรรมที่เป็นวิธีคิด กระบวนการหรือการจัดการที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้แม้คนรุ่นใหม่ในยุคนี้ก็สามารถเข้าสู่ระบบธุรกิจได้ตั้งแต่เรียนจบใหม่ๆ อาศัยแนวคิด และความสร้างสรรค์ ที่เดี๋ยวนี้สามารถพัฒนาไปสู่สินค้า บริการ และความรู้ที่ขายได้

หากต้องไม่ลืมว่า ผู้เล่นรายใหญ่ทางเศรษฐกิจไม่ใช่เพียงภาครัฐเท่านั้น แต่คือภาคการผลิต บริการ หรือพูดง่ายๆ คือภาคเอกชน สวทน.เองได้เสนอแนวทางการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาตลอดสี่ห้าปีที่ผ่านมา โดยชี้ให้เห็นถึงโอกาสที่จะทำให้ประเทศเคลื่อนไปข้างหน้าได้ด้วยนวัตกรรม และหากรัฐเข้าใจบทบาทของตนเอง ก็จะทำให้ภาคเอกชนสามารถเป็นหัวหอกทะลุทะลวงป้อมปราการทางเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี ความเข้าใจดังกล่าวนำไปสู่การวางแผนแบ่งงานกันอย่างเป็นระบบ อย่างที่ผมจะขออธิบายตามแผนภูมิประกอบ

แผนภูมิดังกล่าวใช้หลักการคำนวณจากรายได้มวลรวมประชาชาติ หรือ GDP ที่จัดสรรงบประมาณของภาครัฐ และการลงทุนของภาคเอกชนบวกกัน มาลงทุนในกระบวนการพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ ซึ่งหากเอาค่าเฉลี่ยของที่ทั่วโลกเขาทำกันก็ตกในราว 1% ของ GDP อย่างน้อยก็เป็นค่าเฉลี่ยที่ สวทน.เคยคำนวณไว้จากข้อมูลการจัดอันดับประเทศต่างๆ ห้าหกสิบประเทศของโลกโดยสถาบัน IMD หนึ่งเปอร์เซ็นต์ดังกล่าวหากคำนวณคร่าวๆ จาก GDP ณ วันนี้ก็จะตกอยู่ในราว 110,000 ล้านบาท

ในยุคที่ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเกิดการจ้างงาน โดยมีผลิตภาพสูงๆ การลงทุนใน วทน. ก็เช่นเดียวกัน ในวงเงินลงทุน วทน. แสนล้านบาทเศษๆ นี้ หากวางระบบให้ดี ภาคเอกชนจะเพิ่มวงเงินลงทุนสร้างความรู้ สร้างนวัตกรรม สร้างเทคโนโลยี ได้อีกมาก เพราะเห็นประโยชน์ทางการค้าการลงทุน และการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในโลก ในขณะที่รัฐทำหน้าที่สร้างความรู้ และสนับสนุนเอกชนมากๆ ไม่รวบอะไรต่อมิอะไรไปทำเองเสียหมด เนื่องจากหลายอย่างไม่อยู่ในข่ายที่จะทำได้ดีเท่าเอกชน อีกทั้งโจทย์และเป้าหมายต่างกัน

ณ ขณะนี้ตัวเลขการแบ่งงานกันลงทุนใน วทน. ของภาครัฐเท่าๆ กับภาคเอกชน ที่เท่าๆ กันเพราะเอกชนหันมาให้ความสนใจลงทุนใน วทน. มากขึ้นตามลำดับ ข้อมูลจากการสำรวจของ สวทน. บอกเราว่า เอกชนลงทุนในวทน.มากขึ้นเป็นเท่าตัวในรอบสองสามปีที่ผ่านมา หากในสองสามปีข้างหน้า เราตั้งเป้าที่จะเห็นสัดส่วนการลงทุนใน วทน. ของรัฐและเอกชนอยู่ที่ 40:60 เม็ดเงินจะอยู่ที่ 44,000 และ 66,000 ล้านบาทตามลำดับ นับเป็นครั้งแรกที่เราอาจได้ใช้ตัวเลขดังกล่าวในการผลักดันนโยบายและโครงการต่างๆ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายทางเศรษฐกิจที่สำคัญและความสามารถในการแข่งขันที่แท้จริงและยั่งยืน

ในส่วน 44,000 ล้านบาทที่ภาครัฐสมควรจะลงทุนนั้น แม้ว่ากว่าครึ่งหนึ่งควรจัดสรรให้สถาบันวิจัย และมหาวิทยาลัยต่างๆ ศึกษาค้นคว้าความรู้ใหม่ๆ แต่ต้องตั้งอยู่บนเงื่อนไขของการวิจัยร่วมกันเอกชนเป็นส่วนใหญ่ จึงจะไม่เป็นงานวิจัยขึ้นหิ้งอย่างที่พูดๆ กัน แต่ที่สำคัญที่มักถูกมองข้ามไป ก็คือบทบาทของรัฐในการสนับสนุนภาคเอกชน ในที่นี้ระบุไว้อีก 3 ด้านคือ การสร้างกำลังคนทางด้าน วทน. ป้อนให้กับภาคการผลิต, การกำหนดมาตรการสนับสนุนการวิจัยเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการทางการเงิน ภาษี การลงทุนที่มีความเสี่ยงทางเทคโนโลยี การสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ หรือข้อกำหนดที่เอื้อประโยชน์ให้ภาคการผลิตทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา, และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การที่รัฐควรจะต้องเป็นผู้ลงทุนหลักในโครงสร้างพื้นฐานทางด้าน วทน. เช่น อุทยานวิทยาศาสตร์ อุปกรณ์ห้องปฏิบัติการในมหาวิทยาลัย หรือโรงงานต้นแบบที่มีเอกชนมาเช่าใช้

ด้วยมาตรการของภาครัฐดังกล่าว เราจึงจะคาดหวังจากภาคเอกชนได้ ให้หันหลังให้กับการรับจ้างผลิตแต่เพียงอย่างเดียว แต่หันมาคิด ประดิษฐ์และผลิตของ ของเราเอง ส่งไปขายต่างประเทศ บริษัทข้ามชาติจำนวนมากในประเทศไทยจะมีส่วนสำคัญเนื่องจากกระเป๋าหนัก ที่จะมาลงทุนสร้างความรู้ สร้างคน สร้างผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นประเทศไทย บางบริษัทยินดีแต่รอเงื่อนไขที่เอื้ออำนวย ทั้งกฎหมาย คน ภาษี และความรู้

เมื่อเงื่อนไขดีสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวย การจัดตั้งศูนย์เชี่ยวชาญ ศูนย์วิจัย ก็จะเป็นแหล่งผลิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่สำคัญ พอๆ กับภาคเอกชนรายใหญ่ของไทยเองซึ่งปัจจุบันเป็นยักษ์ตื่น ตื่นต่อความจำเป็นที่จะต้องมีนวัตกรรมของตนเอง เลิกซื้อเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดการพึ่งพิงและเศษกำไรจากการค้าขาย ส่วนบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กของไทยต้องอาศัยนโยบายอีกชุดหนึ่ง ที่จะเอื้อให้เติมพลังในการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต จนแข็งแรงพอที่จะมีนวัตกรรมใหม่ๆ กับเขาบ้าง ถึงวันนั้นเราจะมีประเทศไทยที่มีความสามารถ มีความเป็นอยู่ที่ดี และมีศักดิ์ศรีในเวทีโลก