ทุนจีนไหลเข้าอาเซียน ทุนไทยพร้อมแค่ไหน ?

ทุนจีนไหลเข้าอาเซียน ทุนไทยพร้อมแค่ไหน ?

ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ที่ระบุว่า การลงทุนใน "สินทรัพย์คงที่" ของจีนในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.)

ของปีนี้ ปรับตัวลดลง "ต่ำสุด" ในรอบ 12 ปี โดยตัวเลขการลงทุนดังกล่าวถือเป็น "เกณฑ์หลัก" ในการวัด "การใช้จ่ายด้านโครงการสาธาณูปโภค" ของจีนเพื่อผลักดันการเติบโตของประเทศ ว่าจะปรับตัวลดลงตาม

นอกจากนี้ จีนยังได้รายงาน "ผลผลิตอุตสาหกรรม" และ "ยอดขายปลีก" ในเดือนเม.ย.เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ว่าเติบโต "ต่ำสุด" ในรอบ 5 ปี

เหล่านี้ ล้วนเป็น "ดัชนี" สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่ของขนาดเศรษฐกิจใหญ่ "อันดับสอง" ของโลก อย่างจีน แซงหน้าญี่ปุ่นมาได้ไม่นาน ว่า "กำลังอ่อนล้า"

ปรากฏการณ์เศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะรัฐบาลจีน ดำเนินนโยบาย "ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ" เพื่อลดความร้อนแรง โดยวิตกว่าการเติบโตที่รวดเร็ว อาจทำให้เกิด "ภาวะฟองสบู่" ในอุตสาหกรรมบางภาค โดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และภาคการเงินนอกระบบที่มีมูลค่าสูงถึง 7-11 ล้านล้านหยวน ซึ่งเปราะบางต่อระบบเศรษฐกิจ

ส่งผลให้นาทีนี้ น้ำหนักการลงทุนของจีน จะปรับจากอุตสาหกรรมหนัก มาเป็นอุตสาหกรรมเบาและภาคการเกษตร มากขึ้น ภายใต้ปัจจัยบั่นทอนเรื่อง "ค่าจ้างแรงงาน" ของจีน ที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น จนทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันบางธุรกิจของจีน เริ่มถดถอย

นี่คือสิ่งที่สภาธุรกิจไทย-จีน ให้ข้อมูล

สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ "การไหลเข้าของทุนจีน" เพื่อมาแสวงหาต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่า และทรัพยากรธรรมชาติ ก่อนผลิตสินค้าส่งกลับไปจำหน่ายในจีน รองรับความต้องการประชากร 1,300 ล้านคน ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก

สภาธุรกิจไทย-จีน ยังระบุว่า "อาเซียน" รวมถึง "ไทย" คือ เป้าหมายนั้น

ทว่า..เราพร้อมแค่ไหน..!! ที่จะ "ดักโอกาส" จากทุนจีนที่กำลังโถมเข้ามาในอนาคตอันใกล้ โดยมีการเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปลายปี 2558 หรือในอีก "ปีเศษ" จากนี้ เป็น "ตัวเร่ง"

หรือเราจะปล่อยให้ประเทศอื่นในอาเซียน ที่มาแรงสุดๆ อย่าง "อินโดนีเซีย" ดักโอกาสไปหมด

อีกมุมหนึ่ง ไม่เพียงเป็น "โอกาส" ในการกอบโกยทุน ผลักดันรายได้ให้กับประเทศ และหาพันธมิตรร่วมทุนต่อยอดธุรกิจ ไม่ต่างจากการเข้ามาของ "ทุนญี่ปุ่น" นักลงทุนอันดับ 1 ในไทย เท่านั้น

แต่ยังเป็น "วิกฤติ" สำหรับผู้ประกอบการไทย ที่ไม่พร้อมที่จะแข่งขันกับ "กลุ่มทุนใหม่" เหล่านี้

สำทับด้วยข้อมูลของสถาบันพัฒนาการบริหารจัดการระหว่างประเทศ หรือ IMD ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งระบุถึง "ขีดแข่งขันของไทย" ในปีที่ผ่านมาว่าอยู่ในอันดับที่ 27 จากจำนวน 60 ประเทศที่ทำการสำรวจ ทิ้งห่างมาเลเซียที่อยู่อันดับที่ 15

โดยยังยอมรับว่า "มีความเป็นไปได้" ที่ขีดแข่งขันไทยจะลดลง จากปัญหาการเมืองลากยาวมาตั้งแต่ปลายปี 2556 จนถึงปัจจุบัน

เป็นเวลากว่า "ครึ่งปี" ที่ประเทศไทย (คนไทย ธุรกิจไทย) ปล่อยทิ้งเวลาแห่งโอกาส ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพราะมัวแต่ห่วงหน้าพะวงหลังกับความไม่แน่นอนทางการเมือง

ทุกวันนี้ ธุรกิจมีแต่จะ "ประคอง" ให้รอด ลดการลงทุนใหม่ ลดงบการตลาด พลิกตลาดจะในประเทศ มาเป็นการ "ส่งออก" เพื่อชดเชยรายได้

แต่จะว่าไปแล้ว "ช่วงเวลานี้" อาจจะเป็นช่วงเวลาที่ดี ในการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมกับการแข่งขัน

โดยวางปัจจัยการเมือง ที่เริ่มกลายเป็น "ความเคยชิน" ไว้เบื้องหลัง

เพราะพิสูจน์แล้วว่า ..การเมืองไม่ใช่ที่พึ่ง

ตนคือ "ที่พึ่งแห่งตน"