ระบบงานยุติธรรมกับบริบททางสังคม

ระบบงานยุติธรรมกับบริบททางสังคม

ทุกคนต้องการความยุติธรรม และเชื่อมั่นว่าเราต้องได้รับความยุติธรรมในทุกเรื่อง

เรื่องราวของความยุติธรรมจึงไม่ผูกขาดอยู่เฉพาะในกระบวนการทางศาลเท่านั้น และนั่นหมายความว่าความยุติธรรมจะต้องแทรกอยู่ในทุกบริบทแวดล้อมในสังคม แต่หากมองสังคมทั่วไปอย่างกว้างจะพบว่าระบบงานยุติธรรมเป็นระบบทางสังคมที่มีโครงสร้างเป็นสถาบันอยู่ในระบบสังคมใหญ่ ดังนั้น การตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับปฏิสัมพันธ์ของระบบงานยุติธรรมกับบริบทสังคมโดยทั่วไปในกรอบคิดของหลักการสิทธิมนุษยชนจึงเป็นประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามไป

ในกรอบความคิดของการยอมรับและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น ระบบงานยุติธรรมมักถูกมองว่าเป็นเครื่องมือของสังคมที่แปลงหลักการดังกล่าวให้เป็นรูปธรรม ซึ่งโดยทั่วไปทั้งปัจเจกชนและสังคมจึงมีความคาดหวังต่อบทบาทและหน้าที่ของระบบงานยุติธรรมสูงมาก

การอำนวยความยุติธรรมในแต่ละสังคมจึงควรมีศักยภาพในการตอบสนองความต้องการของสังคม และในขณะเดียวกันจะต้องมีผลงานที่สอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมและสามารถตอบสนองความต้องการของทุกกลุ่มในสังคมได้

สังคมจึงมีความคาดหวังให้การอำนวยความยุติธรรมในทุกรูปแบบที่ครอบคลุมบริบทของสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองเป็นไปโดยเสมอภาคไม่เลือกปฏิบัติ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความยุติธรรมที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องก่อให้เกิดรูปธรรมของการยอมรับและเคารพความเป็นมนุษย์ที่สอดคล้องกับบริบททางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ระบบงานยุติธรรมจึงต้องเผชิญความท้าทายที่เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของบริบททางสังคมอยู่ตลอดเวลาเช่นกัน และความท้าทายเช่นว่านี้ก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างระบบงานยุติธรรมกับบริบททางสังคมตามนัยของพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนของสังคมไทยได้อย่างชัดเจนตลอดมา

ในห้วงเวลาสองศตวรรษที่ผ่านมาระบบงานยุติธรรมตอบสนองความท้าทายทางสังคมด้วยการพัฒนาเชิงโครงสร้างและกระบวนการ เราจะคุ้นชินกับคำว่าเพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงความยุติธรรมได้มากขึ้น พร้อมๆ ไปกับการพัฒนากระบวนการในการอำนวยความยุติธรรมให้มีความหลากหลายเชิงภารกิจมากขึ้น เราจะเห็นได้ชัดเจนจากภารกิจการอำนวยความยุติธรรมของฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ

ระบบงานยุติธรรมโดยรวมไม่ว่าจะอยู่ในภารกิจของฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ หรือในฝ่ายการเมืองก็ตามต่างถูกท้าทายด้วยปัญหาเชิงประเด็นที่หลากหลายจากสังคมอยู่เสมอ และแทบทุกประเด็นท้าทายก็จะมีความเชื่อมโยงไปยังประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชนพื้นฐานทั้ง 5 ด้านอันได้แก่ สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง สิทธิทางสังคม สิทธิทางเศรษฐกิจ และสิทธิทางวัฒนธรรม

ความท้าทายของสังคมที่มีความซับซ้อนมากขึ้นจึงเป็นแรงกดดันในสังคมให้ระบบงานยุติธรรมที่แม้จะได้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและกระบวนการบ้างแล้วถูกผลกระทบให้จะต้องปรับกระบวนการคิดและทัศนคติในการอำนวยความยุติธรรมให้เป็นรูปธรรมและส่งผลในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของสังคมมากขึ้น จนเกิดวาทกรรมในสังคมที่เรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมกันมากขึ้น

ภายใต้ความท้าทายร่วมสมัยที่เรียกร้องความยุติธรรมเชิงเนื้อหามากกว่าเชิงรูปแบบ กระบวนการ และสัญลักษณ์ดังเช่นที่เคยผ่านมาในอดีต กระบวนการคิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐานจึงน่าจะเป็นหนึ่งในกระบวนการคิดพื้นฐานของการอำนวยความยุติธรรมทั้งในภารกิจของฝ่ายบริหารและฝ่ายตุลาการ เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมมิใช่เป็นเพียงการปรับใช้กฎหมายหรือระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆ เข้ากับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นซึ่งถือว่าเป็นการอำนวยความยุติธรรมตามเทคนิคแต่เพียงอย่างเดียว

ด้วยเหตุที่เป้าหมายของการอำนวยความยุติธรรมร่วมสมัยจะต้องครอบคลุมมิติที่เป็นสหวิทยาการมากกว่าการตอบสนองต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย ระเบียบ และกฎเกณฑ์แต่เพียงอย่างเดียว กระบวนการคิดและทัศนคติที่มีความเป็นมนุษย์เป็นศูนย์กลางจึงน่าจะส่งผลให้ระบบงานยุติธรรมมีศักยภาพในการตอบสนองความต้องการของสังคม รวมทั้งเป็นกลไกในการจัดการความขัดแย้งในสังคมได้เป็นอย่างดี

การพัฒนาระบบงานยุติธรรมในยุคนี้ไม่ใช่เป็นกระบวนการทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพทางกฎหมายเท่านั้น เมื่อขยายมุมมองและภารกิจของการอำนวยความยุติธรรมจะเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวมีแนวทางของกระบวนการขับเคลื่อนทางสังคมที่ทุกฝ่ายจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วม เพราะระบบงานยุติธรรมเป็นกลไกของการสร้างหลักนิติธรรมเพื่อนำไปสู่สังคมประชาธิปไตยนั่นเอง