พัฒนาการการมีส่วนร่วมในระบบงานยุติธรรม

พัฒนาการการมีส่วนร่วมในระบบงานยุติธรรม

ในที่นี้หมายถึงระบบงานยุติธรรมอย่างกว้างที่ไม่จำกัดเฉพาะศาลประเภทต่างๆ เท่านั้น แต่จะรวมไปถึงกลไกต่างๆ

ไม่ว่าจะอยู่ในภารกิจของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระอื่นๆ เพื่อจะมองดูทิศทางที่ผ่านมาและแนวโน้มไปข้างหน้าของการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบงานยุติธรรมของสังคมไทย

เหตุที่หยิบยกประเด็นนี้ ด้วยเห็นว่าอยู่ในกระแสของการพัฒนาประชาธิปไตยซึ่งไม่มีใครเถียงว่าระบบงานยุติธรรมทั้งระบบที่มีกลไก กระบวนการ และขั้นตอนอันหลากหลายนั้นถือว่าเป็นเสาหลักสำคัญในการขับเคลื่อนประชาธิปไตย และเรายอมรับเช่นกันว่าการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบงานยุติธรรมต้องถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนกระบวนการประชาธิปไตยเช่นกัน

สังคมประชาธิปไตยต้องมีการเชื่อมโยงระบบงานยุติธรรมภายใต้หลักนิติธรรมเข้ากับรูปธรรมของการเคารพและยอมรับในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือสิทธิมนุษยชน ซึ่งในแต่ละสังคมจะต้องมีตัวชี้วัดที่สำคัญคือ ความหลากหลายของช่องทางและกระบวนการที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในระบบงานยุติธรรมเพื่อเป็นหลักประกันว่าการอำนวยความยุติธรรมจะเป็นไปโดยบริสุทธิ์และยุติธรรม ตามหลักที่ว่าทุกคนต้องเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย

เมื่อหันมามองระบบงานยุติธรรมภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจะพบว่าความหมาย ขอบเขต บทบาท และภารกิจได้ขยายกว้างมากขึ้นภายใต้คำที่เราคุ้นเคยกันว่าเป็นการอำนวยความยุติธรรม เราจะพบว่าระบบงานยุติธรรมจะมีนัยของการเป็นกลไกในการจัดการความขัดแย้งที่ขยายภารกิจครอบคลุมไปมากกว่าการตัดสินคดีระหว่างปัจเจกบุคคลดังเช่นที่ผ่านมา แต่ได้ครอบคลุมไปยังเรื่องทั้งด้านเศรษฐกิจและ การเมือง รวมไปถึงปัญหาสังคมในรูปแบบใหม่ๆ อีกด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสรรทรัพยากรของสังคม

บทบาทของระบบงานยุติธรรมยังมีทิศทางของการเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างมีนัยสำคัญมากขึ้นโดยอยู่ในกรอบแนวความคิดของการเสริมบทบาทของการบังคับใช้กฎหมายเพื่อการพัฒนาประเทศเกือบจะทุกด้าน โดยแทรกตัวอยู่ในการให้เหตุผลทางกฎหมายในการชี้ขาดข้อพิพาททั้งในรูปแบบของคำพิพากษาของศาล การชี้ขาดข้อพิพาทของฝ่ายบริหารหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือในรายงานของกรรมาธิการของรัฐสภา

นอกจากนั้นระบบงานยุติธรรมของบ้านเรายังยอมรับมาตรฐานสากลในระบบ กลไก และกระบวนการในการอำนวยความยุติธรรมหรือการจัดการความขัดแย้งมาปรับใช้และมีความพยายามเชื่อมโยงกับสถานการณ์ในประเทศตั้งแต่ในระดับกำหนดนโยบาย การกำหนดเป็นมาตรการ การพัฒนาเป็นแนวปฏิบัติในการอำนวยความยุติธรรมเพื่อจัดการกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยมุ่งหวังให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

บทบาทและภารกิจของระบบงานยุติธรรมที่ขยายตัวออกไปอันเป็นผลจากรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 และฉบับปัจจุบัน ทำให้ภาพรวมของระบบงานยุติธรรมมีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงความยุติธรรมได้มากขึ้นกว่ายุคที่ผ่านมา ประชาชนได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพมากขึ้นและโดยทั่วถึง อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือด้วยความซับซ้อนของสังคมที่มีมากขึ้นย่อมทำให้ประเด็นขัดแย้งใหม่ๆ เกิดขึ้นแต่กลไกในระบบงานยุติธรรมได้พยายามปรับตัวเข้าไปจัดการความขัดแย้งเหล่านั้นเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้กับสังคม

ด้วยบทบาทและภารกิจของระบบงานยุติธรรมดังกล่าวจึงเห็นพัฒนาการที่สำคัญของการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่การยอมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะมากขึ้น ไปจนถึงการพัฒนาระบบและกระบวนการ ตลอดจนกลไกที่ให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทในการอำนวยความยุติธรรมด้วยตนเองดังจะเห็นได้จากระบบผู้พิพากษาสมทบในคดีเด็กและเยาวชนหรือคดีแรงงานเป็นต้น การสรรหาและแต่งตั้งผู้พิพากษามีกรอบคุณสมบัติของในคัดเลือกที่เปิดกว้างขึ้นมีแนวโน้มไปในทางสหวิทยาการมากขึ้น

นอกจากนั้นการอำนวยความยุติธรรมของแต่ละกลไกยอมรับความต่อเนื่องและเชื่อมโยงซึ่งกันและกันมากขึ้น เช่นการพัฒนาการเชื่อมต่อของระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและประนีประนอมยอมความตามอำนาจหน้าที่ของฝ่ายปกครองและศาลยุติธรรม บทบาทของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดและศาลยุติธรรม หรือแม้กระทั่งการเชื่อมต่อของรายงานคณะกรรมาธิการของรัฐสภาและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการประพฤติทุจริตมิชอบ ทำให้การอำนวยความยุติธรรมมีความเป็นระบบงานยุติธรรมมากขึ้น

เมื่อพิจารณาบทบาทและภารกิจร่วมกับพัฒนาการของการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบงานยุติธรรม ทำให้มองเห็นแนวโน้มในอนาคตของการพัฒนาประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมในสังคมไทยจะมีทิศทางในการพัฒนาที่ให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางมากขึ้น โดยมีประเด็นท้าทายความสำเร็จอยู่ที่ความเชื่อมั่นของประชาชนนั่นเอง