มองฟิลิปปินส์จากบาทวิถี (จบ)

มองฟิลิปปินส์จากบาทวิถี (จบ)

ภาพชีวิตริมบาทวิถีของแต่ละสังคมย่อมสะท้อนความเป็นจริงของชีวิตผู้คนธรรมดาสามัญในสังคมนั้นให้เราเห็น ภาพของคนเข้าโรงจำนำ

การเน้นการแสดงบัตรประจำตัว “พนักงาน” และการให้ความสำคัญแก่เครื่องแบบ เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนฟิลิปปินส์ในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน

มรดกของการตกเป็นอาณานิคมของสเปนและอเมริกาได้ทำให้เกิดกลุ่มอำนาจท้องถิ่นเข้มแข็งมาก บรรดาลูกครึ่งสเปนและลูกครึ่งจีนได้กลายเป็นเจ้าที่ดินครอบครองที่ดินมากมายกระจายอยู่ตามที่ต่างๆ เมื่ออเมริกาเข้ามาครอบครอง ท้องถิ่นก็ยิ่งมีอิสระทางการเมืองโดยสัมพัทธ์มากขึ้น อำนาจท้องถิ่นที่ดำรงอยู่มาเป็นเวลานานส่งผลให้อำนาจของรัฐบาลกลางในการควบคุมและจัดการท้องถิ่นนั้นมีไม่มากนัก ประกอบกับการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นปกครองตัวเองยิ่งทำให้บรรดาผู้นำท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนจึงสามารถครองอำนาจสืบเนื่องต่อมาได้อย่างเหนียวแน่นโดยสืบทอดความสัมพันธ์กับประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องยาวนาน วงศ์ตระกูลของนักการเมืองฟิลิปปินส์ (Political Dynasties) จึงมีจำนวนไม่น้อยและครอบครองอำนาจสืบเนื่องมายาวนาน

ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจ ที่แม้ว่ามีการเคลื่อนไหวของประชาชนขับไล่เผด็จการมาร์กอส (ขบวนการพลังประชาชน : People Power Revolution /Edsa Revolution) แต่อิเมลดา มาร์กอส และลูกชายก็ยังได้รับการเลือกตั้งหลายระดับและหลายครั้งจากประชาชนในท้องถิ่นหรือพื้นที่ของตนเอง

ในด้านหนึ่งการสร้างอำนาจท้องถิ่นที่เข้มแข็งเช่นนี้ทำให้เกิดสภาพที่นักรัฐศาสตร์เรียกฟิลิปปินส์ว่า “รัฐอ่อนแอ” (Weak State)

การกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจไปยังหมู่เกาะหรือภูมิภาคต่างๆ ก็เป็นไปตามอำนาจการต่อรองของวงศ์ตระกูลทางการเมืองของนักการเมืองกับรัฐส่วนกลาง พร้อมๆ กัน กลุ่มธุรกิจคนฟิลิปปินส์เชื้อสายลูกครึ่งสเปนหรือลูกครึ่งจีนก็จะเลือกเน้นการลงทุนพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ของตระกูลตนเอง เช่น การลงทุนพัฒนา Makati ของตระกูล Ayala ลูกครึ่งสเปน-เยอรมัน เป็นต้น (เพื่อนฟิลิปปินส์บอกกับผมว่านี่คือสิงคโปร์ของฟิลิปปินส์)

ความเจริญทางเศรษฐกิจของเมืองใหญ่จึงเป็นแรงดึงดูดให้ผู้คนในชนบทเดินทางเข้ามาสู่การหางานทำในเมือง โดยที่งานส่วนใหญ่นั้นเป็นกิจกรรมเศรษฐกิจภาคไม่เป็นทางการ (Informal sector) เพราะการขยายตัวของเศรษฐกิจภาคไม่เป็นทางการถูกทำลายไปตั้งแต่การสถาปนาทุนนิยมระบบพรรคพวก (Crony Capitalism) ของมาร์กอส

มีผู้ประมาณไว้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจภาคไม่เป็นทางการในรอบยี่สิบปีนี้ ได้ดึงดูดประชาชนเข้ามาเป็นแรงงานจำนวนถึงร้อยละเจ็ดสิบห้าของกำลังแรงงานในประเทศ แม้ว่าการประเมินนี้อาจจะไม่แน่นอน เพราะแรงงานผู้หญิงได้เดินทางออกนอกประเทศมากขึ้นมากทุกปี (จนกล่าวได้ว่ากำลังซื้อของคนในประเทศขึ้นอยู่กับการส่งเงินกลับของแรงงานผู้หญิงของฟิลิปปินส์) แต่ก็ถือได้ว่าคนทำงานในภาคการผลิตไม่เป็นทางการนี้เป็นกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุดในเขตเมือง

กลุ่มคนเหล่านี้ได้สร้างสรรค์งานเพื่อเลี้ยงชีพตนเองภายใต้เงื่อนไขที่รัฐและทุนไม่ได้เอื้อให้พวกเขาได้เติบโตในระบบเศรษฐกิจเป็นทางการ หากเดินบนบาทวิถีให้ไกลหน่อย ก็จะพบรูปแบบการสร้างสรรค์การทำงานนอกภาคทางการที่หลากหลายมากทีเดียว

คนกลุ่มนี้หาเงินได้เป็นรายวันและจะต้องหาทางส่งกลับบ้านที่ชนบทเป็นระยะๆ เมื่อเขาไม่สามารถใช้บริการของธนาคารได้ เพราะไม่มีบัตรประชาชนหรือบัตรแสดงตัวใดๆ (รัฐฟิลิปปินส์ไม่ทำบัตรประจำตัวประชาชน) จึงทำให้เขาต้องเข้าไปใช้บริการของโรงรับจำนำ ซึ่งโรงรับจำนำก็เปลี่ยนแปลงหน้าที่ตนเองจากการรับจำนำเช่นที่ผ่านมามาสู่การบริการส่งเงินไปยังชนบท ความน่าเชื่อถือของโรงรับจำนำก็ขึ้นอยู่กับข่าวสารอย่างไม่เป็นทางการของผู้คนที่เข้าไปใช้บริการ โรงรับจำนำจึงเป็นเสมือน “โพยก๊วน” ของคนจีนในไทยที่ส่งเงินไปให้พี่น้องที่ประเทศจีนในสมัยก่อน

ท่ามกลางกองทัพแรงงานนอกระบบ การจัดลำดับชั้นในสายตาของคนทั่วไปในฟิลิปปินส์ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครสามารถเข้าไปสู่ระบบการทำงานที่เป็นทางการได้ หากใครได้เข้าทำงานในบริษัทหรือห้างร้านก็จะถือได้ว่าประสบความสำเร็จในชีวิต ดังนั้น การแสดงบัตรประจำตัว “พนักงาน” จึงเป็นเรื่องของการแสดงอัตลักษณ์ตนเองต่อสายตาผู้คนทั่วไปว่าได้ก้าวเข้าสู่สังคมอีกระดับหนึ่ง ซึ่งก็จะได้รับการมองหรือการยอมรับสูงมากกว่าคนไม่มีบัตรประจำตัว “พนักงาน”

การได้ทำงานในระบบซึ่งมีบัตรประจำตัว “พนักงาน” เป็นเสมือนภาพที่แสดงว่าคนคนนั้นได้มีเงินเดือน/เงินอาทิตย์เลี้ยงชีพที่แน่นอน ไม่ต้องพะวงกับการหาเช้ากินค่ำเช่นกลุ่มงานไม่เป็นทางการ ความรู้สึกนี้ไม่ได้แตกต่างไปจากพี่น้องชนบทไทยที่หากใครได้ทำงานในโรงงาน อัตลักษณ์ของเขาก็เปลี่ยนไปกลายเป็น “คนทำงาน” ไม่ใช่ชาวไร่ ชาวนา หรือชาวบ้านธรรมดาอีกต่อไป

ขณะเดียวกัน การแต่งเครื่องแบบมีความหมายที่ซ้อนทับไปกับการมีบัตรประจำตัว “พนักงาน” เพราะเครื่องแบบในฟิลิปปินส์จะมาพร้อมกับอำนาจพิเศษบางอย่าง ที่สำคัญ เช่น เครื่องแบบรักษาความปลอดภัยที่สามารถติดอาวุธได้ อำนาจเช่นนี้เป็นอำนาจของผู้ชายที่สามารถมีเหนือสังคมทั่วไปได้ในฐานะผู้ปกปักรักษาความสงบเรียบร้อยของพื้นที่นั้นๆ

กล่าวได้ว่าท่ามกลางรัฐที่อ่อนแอ การรักษาความปลอดภัยกลายเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เพราะกลไกอำนาจรัฐที่อ่อนแอไม่สามารถที่จะกระจายทรัพยากรไปดูแลความสงบเรียบร้อยได้ ดังนั้น ผู้ชายที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยจึงกลายเป็นเสมือนภาพแทนอำนาจรัฐในการทำหน้าที่นี้

การสร้างระบบการเงินที่ตอบสนองกับชีวิตนอกระบบ และการสร้างความหมายในการจำแนกและจัดความสัมพันธ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นบนบาทวิถีของฟิลิปปินส์เป็นภาพสะท้อนการต่อสู้และดิ้นรนเพื่อความหมายของชีวิตที่ดำเนินไปท่ามกลางรัฐที่อ่อนแอและระบบเศรษฐกิจที่ไม่แยแสคนตัวเล็กตัวน้อย

ความขัดแย้งทางการเมืองไทยที่ดำเนินมาร่วมสิบปี กำลังบั่นทอนอำนาจรัฐให้อ่อนแอมากขึ้นเรื่อยๆ เรากำลังจะเดินหน้าไปสู่อะไรกันครับ ไม่ใช่ไปสู่ความเข้มแข็งของรัฐและสังคมแน่ๆ