แหล่งก๊าซ JDA กับความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย

แหล่งก๊าซ JDA กับความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย

ในช่วงนี้ที่กำลังเป็นที่สนใจในเรื่องที่เกี่ยวกับพลังงานและเห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยครั้งนั้นเห็นจะไม่พ้นเรื่องของการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติ

จากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ Thai-Malaysia Joint Development Area หรือที่เรียกกันย่อๆ ว่า JDA โดยการขาดหายไปของก๊าซธรรมชาติจากแหล่งดังกล่าวซึ่งถูกส่งไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าจะนะในจังหวัดสงขลานั้น ถือว่ามีผลกระทบกับระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ เพราะโรงไฟฟ้าจะนะนั้นถือเป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าหลักที่ป้อนไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าในภาคใต้ เพราะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าถึง 700 เมกะวัตต์

สำหรับสาเหตุของการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาตินั้นก็เนื่องมาจากที่ผู้ผลิตก๊าซที่อยู่ในแหล่ง JDA แปลง A18 นั้นจะปิดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่เป็นระยะเวลานานถึง 28 วัน โดยจะเริ่มหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติระหว่างวันที่ 13 มิถุนายนถึงวันที่ 10 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ คิดเป็นปริมาณก๊าซธรรมชาติที่หายไปประมาณ 420 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งการขาดหายไปของก๊าซธรรมชาติครั้งนี้ หากไม่มีการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือที่ดีก็จะส่งผลกระทบโดยต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ได้

สำหรับในพื้นที่ภาคใต้นั้นมีโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าอยู่สองโรง โรงแรกคือโรงไฟฟ้าขนอม ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งมีกำลังการผลิต 800 เมกะวัตต์ และโรงที่สองก็คือโรงไฟฟ้าจะนะ ขนาด 700 เมกะวัตต์ ขณะที่โรงไฟฟ้าอื่นๆ นั้นก็จะเป็นโรงไฟฟ้ากระบี่ขนาดประมาณ 300 เมกะวัตต์ ที่ใช้น้ำมันเตาเป็นเชื้อเพลิง นอกจากนั้นเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำ เช่น โรงไฟฟ้าเขื่อนรัชชประภา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขนาด 240 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเขื่อนบางลาง จังหวัดยะลา ขนาดประมาณ 70 เมกะวัตต์ นอกจากนี้เป็นการส่งไฟฟ้าผ่านระบบสายส่งมาจากส่วนกลางอีกประมาณ 700 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าน้ำมันดีเซล (เขาหัวควาย) จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 240 เมกะวัตต์

เราจะเห็นว่าการหยุดซ่อมบำรุงนี้ไม่ใช่เพียงแต่เป็นการหยุดเฉพาะในส่วนของผู้ผลิตในแหล่ง JDA เท่านั้น แต่ยังส่งผลให้โรงไฟฟ้าจะนะนั้นต้องหยุดการผลิตตามไปด้วยเนื่องจากโรงไฟฟ้าไม่มีเชื้อเพลิงมาใช้สำหรับการผลิตไฟฟ้า และเมื่อมองดูถึงการหายไปของโรงไฟฟ้าจะนะนั้นก็จะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้ารวมของภาคใต้ลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 2,300 เมกะวัตต์ เมื่อเทียบจากความต้องการเฉลี่ยประมาณ 2,400 เมกะวัตต์ แต่ตามความเป็นจริงการใช้ไฟฟ้านั้นก็จะขึ้นๆ ลงๆ ซึ่งก็จะขึ้นอยู่กับระดับความต้องการใช้ไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาที่ไม่เท่ากัน โดยจากข้อมูลของทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยนั้น การใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้จะอยู่ในช่วงเวลา 18.30 น. ถึง 22.30 น. ซึ่งก็จะเห็นว่าหากปริมาณการใช้ไฟฟ้าขึ้นไปมากกว่านี้ ผลกระทบก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

ที่ผมพูดถึงมาทั้งหมดข้างต้นนั้นก็เพียงอยากจะนำไปสู่ความสำคัญของความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งในความเป็นจริง ในกรณีของแหล่งก๊าซ JDA-A18 นี้ ถือเป็นการหยุดซ่อมบำรุงตามแผน ซึ่งเราสามารถที่จะรับรู้ได้ล่วงหน้าและมีการเตรียมการป้องกันไว้ก่อนตามที่เราได้รับทราบจากทางกระทรวงพลังงานว่าได้มีการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับเหตุการณ์ดังกล่าวแต่เนิ่นๆ แต่ถ้าหากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นที่อาจจะทำให้เชื้อเพลิงสำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าอย่างเช่นก๊าซธรรมชาตินั้นหายไปโดยทันที ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะรุนแรงและขยายเป็นวงกว้างได้

การที่จะพึ่งพาก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้านั้นเป็นสิ่งที่ดีเนื่องจากเป็นพลังงานที่สะอาด แต่ก็จะมีความเสี่ยงอยู่ด้วย ซึ่งในที่นี้ผมยังไม่ได้พูดถึงเรื่องของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่กำลังจะหมดไปและจะต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas หรือ LNG) ที่มีราคาที่สูงมาใช้มากขึ้น แต่จะให้ข้อสังเกตถึงระบบโครงสร้างของการขนส่งก๊าซธรรมชาติที่ต้องขนส่งผ่านระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ

ข้อจำกัดของการขนส่งก๊าซธรรมชาติทางท่อก็คือมีความยืดหยุ่นน้อย การเปลี่ยนแปลงโหมดการขนส่งนั้นทำได้ไม่ง่ายนัก ซึ่งหากเราลองมองไปถึงระบบท่อที่นำก๊าซธรรมชาติเข้ามาจากพม่า หรือในอ่าวไทยเองนั้น หากมีเหตุการณ์ที่ทำให้ก๊าซไม่สามารถส่งผ่านระบบท่อนั้นๆ เป็นช่วงระยะเวลานานๆ เราก็จะแทบไม่มีทางอื่นที่จะสามารถขนส่งก๊าซธรรมชาติเข้ามาแทนระบบท่อได้เลย และการนำเข้าก๊าซ LNG นั้นก็ช่วยได้แต่เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะติดข้อจำกัดของระบบสายส่งไฟฟ้าจากส่วนกลางมายังภาคใต้

สิ่งที่จะทำได้ตอนนี้ก็คือการรณรงค์ให้มีการประหยัดไฟฟ้า โดยเฉพาะในช่วงเวลาการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติและการขอความร่วมมือการลดใช้ไฟฟ้าจากภาคอุตสาหกรรม แต่ในระยะยาวแล้ว การกระจายการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า รวมถึงการที่จะต้องมีโรงไฟฟ้าในพื้นที่ให้เพียงพอที่จะรองรับกับความต้องการที่เติบโตตามสภาวะเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น