ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ : คุณค่ามิติทางสังคมวัฒนธรรม

ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ : คุณค่ามิติทางสังคมวัฒนธรรม

ยังอยู่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งถือกันว่าเป็นเทศกาลของการสะท้อนชีวิตทางสังคมและวัฒนธรรมของบ้านเรา

เห็นได้จากการที่เรากำหนดให้เป็นวันผู้สูงอายุและวันครอบครัวไทยผนวกรวมไปกับเทศกาลนี้ด้วย เป็นการย้ำเน้นการอยู่ร่วมกันของคนในสังคมที่มีสังคมและวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานในการหล่อหลอมการดำเนินชีวิตซึ่งจะรวมไปถึงชีวิตทางเศรษฐกิจและการเมืองด้วยอย่างแยกไม่ออก ตีความอีกนัยได้ว่าเพราะการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมซึ่งมีมนุษย์เป็นศูนย์กลางจึงต้องมีสภาพแวดล้อมที่ประกอบไปด้วยคุณค่าด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการเมืองเป็นแนวการดำเนินชีวิต

การพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยในแต่ละสังคมจะต้องเป็นไปตามบริบททางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งเราสัมผัสและเรียนรู้ได้จากประวัติศาสตร์ของแต่ละสังคม โดยต้องยอมรับว่าแต่ละสังคมจะใช้เวลาและวิธีการ ตลอดจนกระบวนการ หรือแม้กระทั่งปัจจัยอื่นๆ ในการพัฒนาแตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะเป็นสังคมใด หรือระบบการเมืองการปกครองของสังคมนั้นๆ จะเป็นอย่างไร ทุกสังคมจะต้องมีประชาชนเป็นศูนย์กลางของกระบวนการอย่างแน่นอน

การพัฒนาประชาธิปไตยจึงต้องถือว่าเป็นกระบวนการพัฒนาคุณค่าของความเป็นมนุษย์ เพราะมนุษย์เป็นศูนย์กลางของการเมืองการปกครอง มนุษย์ยังเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาเศรษฐกิจนอกจากนั้น มนุษย์ยังเป็นทั้งศูนย์กลางของการพัฒนา และเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาสังคมและวัฒนธรรมที่เขาเป็นผู้อาศัยอยู่ จึงอาจสรุปได้ว่ากระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกระบวนการพัฒนาคุณค่าของความเป็นมนุษย์อย่างแน่นอน

โดยธรรมชาติของการดำเนินวิถีชีวิตทั่วไปในสังคมไทย ประชาชนจะมีความผูกพันกับมิติด้านสังคมและวัฒนธรรมมากซึ่งเป็นลักษณะเด่นของอารยธรรมตะวันออกที่เราทราบกันดี สำหรับสังคมบ้านเรามิติทางสังคมจะผูกพันอยู่กับสถาบันทางศาสนาที่เชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์และความเป็นรัฐประชาชาติและนับว่าเป็นรากฐานของการพัฒนาประชาธิปไตย

ส่วนมิติทางวัฒนธรรมจะสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติของสังคมแถบภูมิอากาศร้อนชื้นที่อุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งแน่นอนว่าในสังคมจะต้องประกอบไปด้วยมนุษย์หลากหลายเผ่าพันธุ์เช่นเดียวกันกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และเมื่อสังคมประกอบไปด้วยมนุษย์หลากหลายเผ่าพันธุ์จึงย่อมเชื่อมโยงและผูกพันให้เกิดความหลากหลายทางวัฒนธรรมตามมาด้วย

สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่มิติทางสังคมและวัฒนธรรมมีผลต่อการพัฒนาในทุกด้าน แต่จะมีลักษณะเฉพาะที่การดำรงชีวิตได้รับผลพวงความคิด ความเชื่อจากสถาบันทางศาสนาและแนวทางทศพิธราชธรรมของพระมหากษัตริย์ ซึ่งสาระสำคัญของกรณีดังกล่าวจะเน้นไปยังลักษณะของความเป็นจิตวิญญาณและความเป็นมนุษย์อย่างชัดเจน จึงกล่าวได้ว่าลักษณะเฉพาะทางสังคมและวัฒนธรรมของสังคมไทยให้ความสำคัญกับความเป็นมนุษย์และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์เป็นอย่างมาก

เมื่อหันมาพิจารณาคุณค่าสากลของหลักการสิทธิมนุษยชนซึ่งมีความเชื่อมโยงกับหลักการของความเป็นประชาธิปไตยและการรักษาหลักนิติธรรม เราจะได้รับรู้ถึงนิยามและความหมายของการยอมรับและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพมาเป็นแกนกลางของการเรียนรู้และการพัฒนา แม้จะต้องยอมรับว่าสำหรับสังคมไทยแนวคิดเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถือเป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งจะได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเมื่อ 17 ปีที่ผ่านมา แต่เมื่อสังเคราะห์แก่นแท้ของพัฒนาการด้านสังคมและวัฒนธรรมของไทยมาโดยตลอดจะพบว่าการยอมรับและเคารพในความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกันทั้งในเชิงปัจเจกและการเป็นแก่นแกนของชุมชนมีมาเป็นเวลานานแล้ว

พัฒนาการประชาธิปไตยสำหรับสังคมไทยจึงต้องเป็นความพยายามสังเคราะห์มิติทางสังคมและวัฒนธรรมเฉพาะเข้ากับมิติเชิงคุณค่าสากลให้ได้อย่างกลมกลืนและลงตัว ด้วยการแน่วแน่และเชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ในสังคมที่คงความเป็นลักษณะเฉพาะของสังคมไทยที่มีมาช้านาน

พัฒนาการดังกล่าวจึงควรมีความเป็นพลวัตอยู่ในกรอบความสมดุลเชิงคุณค่าของสังคมและวัฒนธรรมลักษณะเฉพาะกับมิติเชิงคุณค่าสากล ซึ่งที่ผ่านมาเห็นว่าสังคมไทยมีศักยภาพในการสร้างสมดุลได้อย่างดีมาโดยตลอดทั้งในระดับอนุภูมิภาคและในระดับนานาชาติ

แน่นอนว่าท่ามกลางการผันผวนด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมในระดับโลกตามกระแสโลกาภิวัตน์จะเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญซึ่งส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในสังคมไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นก็ตาม แต่หากเชื่อมั่นว่าการยึดแนวทางของการยอมรับและเข้าใจหลักการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่สังเคราะห์ผ่านความเข้าใจมิติทางสังคมและวัฒนธรรมเฉพาะของเราจะทำให้การเปลี่ยนผ่านและการพลวัตเป็นไปอย่างราบรื่น