เมื่อประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกเข้าสู่ช่วงของการเลือกตั้ง

เมื่อประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลกเข้าสู่ช่วงของการเลือกตั้ง

นับตั้งแต่ต้นสัปดาห์นี้(7เ.ม.ย.)ประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก(อินเดีย)ก็จะเข้าสู่ช่วงของการเลือกตั้งโลกสภา(สภาผู้แทนราษฎร) ครั้งที่ 16

การเลือกตั้งครั้งนี้น่าสนใจมากเพราะมีจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งมากที่สุด 814 ล้านคน (ชาย 427 ล้านคน หญิง 387 ล้านคน) ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก 23.16 ล้านคน (อายุครบ 18 ปี) มีหน่วยเลือกตั้งถึง 913,000 หน่วย มีการใช้เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจำนวน 1.468 ล้านเครื่อง และมีช่องให้ “ไม่เลือกผู้สมัครคนใดเลย” ก็ได้เป็นครั้งแรก นอกจากนี้ มีการทยอยประกาศวันเลือกตั้งในเขตต่างๆ ในช่วง 36 วัน นับตั้งแต่ 7 เม.ย. - 12 พ.ค. โดยจะมีวันเลือกตั้ง 9 วัน ใน 28 รัฐและ 7 ดินแดนสหภาพ และประกาศผลการนับคะแนนในวันที่ 16 พ.ค. 2557 หากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยไม่ยุ่งเหยิงจนเกินไปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ของไทยน่าจะได้รับความรู้มากหากส่งผู้แทนมาสังเกตการณ์

จำนวน ส.ส. ที่จะมีการเลือกตั้งครั้งนี้คือ 543 คน เมื่อบวกกับ ส.ส. ที่ประธานาธิบดีอินเดียจะแต่งตั้งจากตัวแทนชุมชนอินเดียเชื้อสายอังกฤษอีก 2 คน ก็จะเท่ากับ 545 คน ในโลกสภา

อินเดียมีพรรคการเมืองที่จดทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้งหมด 1,616 พรรค แต่เป็นพรรคที่ลงแข่งขันในระดับประเทศ 6 พรรค ในระดับรัฐ 47 พรรค ที่เหลือเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย พรรคใหญ่ที่กำลังขับเคี่ยวกันอย่างมากเห็นจะหนีไม่พ้นพรรคคองเกรสแห่งชาติอินเดีย (Indian National Congress - INC) นำโดยนายราหุล คานธี (Rahul Gandhi) และพรรค Bharatiya Janata Party (BJP) นำโดยนายนเรนทระ โมดี (Narendra Modi) ที่เหลือก็เป็นพรรคขนาดกลางและเล็กที่มีอิทธิพลในรัฐต่าง ๆ ซึ่งพร้อมที่จะเข้าร่วมกับพรรคใดพรรคหนึ่งข้างต้นเพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม

การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่น่าจะมีพรรคใดได้รับเสียงเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเกินกึ่งหนึ่ง (273 เสียง) เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเพียงลำพังได้ แต่จะต้องผสมกับพรรคลำดับรองลงไป โดยผลการสำรวจล่าสุดของสถานีโทรทัศน์ CNN-IBN-CSDS-Lokniti ในช่วงเดือนที่ผ่านมา จากกลุ่มตัวอย่าง 18,591 คนใน 18 รัฐพบว่า พรรค BJP น่าจะได้ที่นั่งประมาณ 206-218 ที่นั่ง พรรคคองเกรส 94-106 ที่นั่ง ที่เหลือเป็นพรรคเล็กพรรคน้อยจากรัฐต่าง ๆ

พรรคที่สร้างสีสันให้กับการเลือกตั้งครั้งนี้คือพรรคสามัญชน (Aam Aadmi Party - AAP) ซึ่งน่าจะได้ที่นั่ง 4-8 ที่ พรรค AAP นี้มีสัญลักษณ์ของพรรคเป็นรูปไม้กวาดทางมะพร้าว โดยประกาศตัวว่าจะเข้ามากำจัดการคอร์รัปชันในวงการเมืองระดับชาติ พรรค AAP ก่อตั้งมาได้ไม่ถึง 1 ปี แต่ก็สามารถพลิกความคาดหมายเอาชนะพรรคคองเกรสในการเลือกตั้งสมาชิกสภาของเขตปกครองกรุงนิวเดลีซึ่งถือเป็นดินแดนสหภาพที่ไม่ขึ้นกับรัฐใด ชัยชนะนี้ทำให้พรรค AAP มีความฮึกเหิมและขยับตัวเองขึ้นไปแข่งขันในการเลือกตั้งระดับชาติครั้งนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี ไม่ว่ารัฐบาลชุดใหม่ของอินเดียจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร สิ่งที่น่าจับตาเป็นข้อสังเกต 3 ประการ คือ

(1) การเลือกตั้งครั้งนี้ เสียงของคนหนุ่มสาวที่อยู่ในเมืองจะเป็นปัจจัยชี้ขาดที่สำคัญ จากการสำรวจเมื่อปี 2554 ประชากรอินเดียที่อยู่ในวัยระหว่าง 15-34 ปี มีกว่า 430 ล้านคน อินเดียมีผู้จดทะเบียนใช้โทรศัพท์มือถือ 554.8 ล้านคน และมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถึง 143.2 ล้านคน คนเหล่านี้จึงเป็นเป้าหมายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่จะใช้สื่อทางโซเชียลมีเดียเพื่อหาเสียง เมื่อดูแนวนโยบายของพรรค BJP ที่มุ่งสร้างงานให้กับคนหนุ่มสาวจึงไม่น่าประหลาดใจที่พรรค BJP จะได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่คนหนุ่มสาวเหล่านี้

(2) เมื่อไม่มีพรรคใดได้รับเสียงข้างมาก รัฐบาลชุดใหม่ของอินเดียก็จะต้องกลายเป็นตัวประกันของพรรคระดับรองที่จะต่อรองในเรื่องนโยบายและตำแหน่งทางการเมืองอย่างเข้มข้นจนไม่สามารถดำเนินนโยบายใดๆ ได้อย่างเต็มที่ สิ่งที่ต่างชาติมองคือนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจ และเปิดเสรีด้านธุรกิจ ซึ่งรัฐบาลพรรคคองเกรสพยายามผลักดันมาในช่วง 2 ปี แต่ก็ถูกขัดขวางจากรัฐบาลของบางรัฐที่ไม่ยอมรับนโยบายดังกล่าวจากส่วนกลาง เพราะฉะนั้น นโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจของอินเดียก็คงจะยังเดินหน้าได้ไม่เต็มที่แม้ภาคเอกชนจะฝากความหวังไว้กับพรรค BJP

(3) เมื่อรัฐบาลกลางยังจำเป็นต้องอาศัยเสียงสนับสนุนของพรรคเล็กพรรคน้อยจากหัวเมือง การดำเนินนโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้านก็จะขาดความเป็นอิสระ ต้องยอมตามกระแสกดดันของพรรคตามหัวเมือง เรื่องนี้ได้เกิดขึ้นแล้วเมื่อครั้งนายกรัฐมนตรี มานโมหัน สิงห์ ปฏิเสธไม่ไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศเครือจักรภพที่ศรีลังกา เมื่อเดือน พ.ย. 2556 เนื่องจากมีกระแสต่อต้านจากพรรค Dravida Munnetra Kazhagam (DMK) ที่มีชาวทมิฬเป็นฐานเสียงสำคัญและสนับสนุนพรรครัฐบาลอยู่ หรือในกรณีของนโยบายต่อบังคลาเทศก็คงต้องฟังเสียงของนางมามาตา บันเนอร์จี มุขมนตรีรัฐเบงกอลตะวันตกและหัวหน้าพรรคตรีนามูลคองเกรส (Trinamool Congress) ซึ่งเคยถอนตัวไม่สนับสนุนพรรคคองเกรสที่กรุงนิวเดลีมาแล้ว เพราะฉะนั้น รัฐบาลชุดใหม่ของอินเดียก็คงดำเนินนโยบายต่อประเทศเพื่อนบ้านไม่ได้เต็มที่

สรุปแล้ว แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลชุดใหม่ไปสู่อีกพรรคหนึ่ง แต่ผมก็ยังคิดว่าไม่น่ามีอะไรตื่นเต้นอินเดียเปรียบเสมือนช้างจัมโบ้ จะหันรีหันขวางก็คงยังคงอุ้ยอ้ายเหมือนเดิม