นโยบายการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน (2)

นโยบายการสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน (2)

ความมั่นคงด้านพลังงานเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าเป็นส่วนใหญ่

และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการนำเข้าพลังงานที่อยู่ในระดับที่สูง โดยเมื่อปีที่ผ่านมา เรานำเข้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเป็นคิดเป็นมูลค่ารวมถึง 1.21 ล้านล้านบาท จากการนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 50,000 ล้านลิตร และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและอื่นๆ อีกประมาณเกือบ 8,000 ล้านลิตร (จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณและจำนวนเงินที่สูงมาก

ดังนั้น ถ้าหากเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการผลิตและการขนส่งน้ำมันจากประเทศผู้ส่งออกน้ำมันก็อาจจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทยได้โดยตรง ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของการขาดแคลนน้ำมันเนื่องจากเราไม่สามารถจัดหาน้ำมันเพื่อมาใช้ในประเทศได้ หรือในรูปของราคาน้ำมันที่อาจจะปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากปริมาณน้ำมันดิบในตลาดที่ลดลง เป็นต้น

จากตอนที่ผ่านมาผมก็ได้กล่าวถึงการสำรองน้ำมันของประเทศไทยซึ่งปัจจุบันเรายังไม่มีการสำรองโดยรัฐ แต่จะเป็นการสำรองโดยเอกชน ซึ่งก็คือบริษัทน้ำมันต่างๆ โดยจะต้องสำรองน้ำมันตามกฎหมายในส่วนของน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปที่ผลิตเองนั้นในอัตราร้อยละ 6 ของปริมาณการใช้ในประเทศ ขณะที่อัตราการสำรองน้ำมันที่มาจากการนำเข้านั้นถ้าเป็นน้ำมันดิบก็จะสำรองในอัตราร้อยละ 6 แต่หากเป็นน้ำมันสำเร็จรูปที่นำเข้านั้นก็ถูกกำหนดให้สำรองในอัตราร้อยละ 12 ซึ่งผู้ประกาศอัตราสำรองนั้นก็คือกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน

อย่างไรก็ตาม การที่เราจะต้องสำรองน้ำมันนั้นก็ต้องมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ใช้สำหรับการสำรองน้ำมันด้วย ซึ่งก็จะประกอบไปด้วย เงินลงทุนต่างๆ ที่ใช้ในการก่อสร้างคลังน้ำมัน ต้นทุนของน้ำมันที่จะนำมาสำรอง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆ เช่น ค่าซ่อมบำรุง เงินเดือน ประกัน รวมไปถึงต้นทุนที่ใช้ในการควบคุมคุณภาพของน้ำมันด้วย นอกจากนี้ ต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่กล่าวนั้นก็ยังจะขึ้นอยู่กับชนิดของคลังน้ำมันด้วยว่าเป็นคลังน้ำมันชนิดใด จะเป็นชนิดที่เป็นคลังที่ตั้งบนดิน ใต้ดิน เป็นโพรงเกลือหรือเป็นโพรงหิน ขนาดของคลัง หรือแม้กระทั่งชนิดของน้ำมันที่เราจะสำรอง

ต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่กล่าวมานี้ เป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูง ซึ่งในบางประเทศ รัฐก็ได้เข้าไปเป็นผู้ลงทุนหรือให้เงินสนับสนุนสำหรับการสำรองน้ำมันดังกล่าว เช่น ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี จีน และอีกหลายๆ ประเทศในภูมิภาคอาเซียน สำหรับในประเทศไทยเอง ผมก็ได้ทราบมาว่าทางรัฐก็มีการศึกษาที่จะให้มีการสำรองโดยรัฐเช่นกัน ซึ่งแนวทางจะเป็นอย่างไรก็ต้องรอดูกันต่อไป โดยในเบื้องต้น ทางผู้กำหนดนโยบายก็จะต้องมาพิจารณาก่อนว่าการสำรองน้ำมันเราจะได้ประโยชน์อะไรจากการสำรองน้ำมัน ซึ่งต้นทุนและค่าใช้จ่ายสำหรับการสำรองน้ำมันนั้นได้ถูกรวมเข้าไปอยู่ในราคาน้ำมันเช่นกัน

ทั้งนี้ เมื่อเรามาดูที่ต้นทุนเริ่มต้นของการสำรองน้ำมันหรือ Set-up cost กันก่อน ก็จะเห็นว่าต้นทุนที่มีสัดส่วนที่มากที่สุดก็คือต้นทุนของน้ำมันที่เราจะต้องนำมาสำรองนั่นเอง ซึ่งจากรายงานของสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency หรือที่เราเรียกกันว่า IEA) นั้น ต้นทุนน้ำมันนั้นมีสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 50 ถึงร้อยละ 85 ของ Set-up cost ทั้งหมดที่ใช้ในการสำรองน้ำมัน แต่ทั้งนี้ก็จะขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำมันว่าเป็นน้ำมันดิบหรือน้ำมันสำเร็จรูป และระดับราคาน้ำมันของน้ำมันชนิดนั้นๆ ที่เหลือก็จะเป็นต้นทุนค่าก่อสร้างซึ่งเมื่อมาดูจากคลังน้ำมันแต่ละชนิดแล้ว คลังน้ำมันใต้ดินที่เป็นแบบโพรงเกลือนั้นจะมีต้นทุนที่ถูกที่สุดเมื่อเทียบกับคลังน้ำมันชนิดอื่นๆ

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ คลังน้ำมันใต้ดินแบบโพรงเกลือนั้นก็ยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับคลังน้ำมันชนิดอื่นๆ ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งที่จะต้องคำนึงถึงด้วยก็คือต้นทุนสำหรับการหมุนเวียนน้ำมัน (Refreshment Cost) เนื่องจากน้ำมันบางชนิดนั้นคุณภาพจะค่อยๆ ลดลงหากเก็บไว้เป็นเวลานานๆ จึงต้องมีการนำออกมาใช้ และนำน้ำมันที่ใหม่กว่าเข้าไปสำรองแทน นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ที่ต้องนำน้ำมันสำรองไปใช้ในช่วงภาวะฉุกเฉินก็จะต้องมีการนำน้ำมันใหม่เข้ามาสำรองแทนด้วยเช่นกัน ซึ่ง Refreshment Cost นี้ ก็จะอยู่ที่ว่ามีการหมุนเวียนน้ำมันบ่อยครั้งแค่ไหน และราคาของน้ำมันที่เข้ามาแทนของเก่านั้นอยู่ที่เท่าไรด้วย ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่อาจจะมีขึ้นอยู่กับพื้นที่ก็จะเป็นเรื่องของค่าเช่าที่ดิน ค่าภาษี ค่าจ้างคนงาน เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึงต้นทุนที่จะต้องใช้ในการสำรองน้ำมันแล้ว เราก็ต้องมาดูกันถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการสำรองน้ำมันด้วยเช่นกัน ซึ่งการที่จะประเมินถึงประโยชน์ดังกล่าวนั้นจะต้องมีการพิจารณาจากหลายๆ ปัจจัย ซึ่งในตอนหน้าผมจะมาพูดต่อถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการสำรองน้ำมัน และวิธีการพิจารณาเปรียบเทียบต้นทุนการสำรองน้ำมันกับประโยชน์ที่จะได้รับต่อไปครับ