สื่อกับทางออกของสังคมไทย?

สื่อกับทางออกของสังคมไทย?

หลายคนฟันธงว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานในสังคมไทยในปัจจุบันเป็นผลสำคัญมาจากสื่อ

ข้อกล่าวหาแบบฟันธงนี้มักจะครอบคลุมไปถึงสื่อทุกระดับ เริ่มจากสื่อมวลชนกระแสหลักที่ไม่ทำหน้าที่เพื่อสาธารณะ เนื่องจากไม่พยายามแสวงหาความจริงหรือตรวจสอบผู้มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสถานีโทรทัศน์ระดับชาติซึ่งถูกครอบงำทางโครงสร้างจากความเป็นเจ้าของ หรือการควบคุมโดยรัฐ ขณะที่หนังสือพิมพ์ระดับชาติก็ถูกมองว่า “เลือกข้าง” ด้วยอคติหรือผลประโยชน์แอบแฝง

ตามมาด้วย สื่อกระแสรองอย่างโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิลทีวี วิทยุชุมชน และวิทยุธุรกิจท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่จำนวนไม่น้อยที่ทำตัวเป็น “สื่อการเมือง” อย่างโจ่งแจ้ง ให้ข้อมูลข่าวสารด้านเดียวแถมยังเผยแพร่ความเกลียดชังให้สังคมแบ่งแยกกันมากขึ้น

และท้ายสุด แต่ไม่ได้สำคัญรั้งท้ายก็คือ สื่อใหม่ อย่างสื่อสังคมออนไลน์ซึ่งมักถูกใช้เป็นพื้นที่ระบายอารมณ์ และแลกเปลี่ยนข้อมูล ไปจนถึงระดมพล ในหมู่ผู้ใช้สื่อออนไลน์ มากกว่าจะมีหน้าที่ใดๆ ต่อสังคมโดยภาพรวม หากในช่วงวิกฤติการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา ศักยภาพทางการเมืองของสื่อใหม่นี้ก็ปรากฏทั้งในแง่บวกและลบกล่าวคือ เอื้ออำนวยการมีส่วนร่วมทางการเมือง ควบคู่ไปกับการขยายความเข้มข้นของการแบ่งขั้วทางการเมือง

แม้จะชี้นิ้วลงความผิดไปที่สื่อ แต่เมื่อเกิดวิกฤติอันตีบตันอย่างที่เป็นในปัจจุบัน หลายฝ่ายก็ยังตั้งความหวังจะให้สื่อเป็นผู้หาทางออกให้สังคม เพราะสื่อยังถูกมองว่าเป็นพื้นที่ตรงกลางของสังคมอยู่ดี แม้สื่อจะไม่มี “ความเป็นกลาง” ก็ตาม

มีบทความเกี่ยวข้องที่น่าสนใจในหนังสือเกี่ยวกับสื่อใหม่ยอดฮิตคือนิตยสาร “Wired” ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาในหัวเรื่อง “มีเพียงสื่อสังคมออนไลน์เท่านั้นที่สามารถแก้ปัญหาการเมืองสมัยใหม่ได้” (Only social media can fix the crisis of modern politics) เขียนโดย นักเขียนรับเชิญคือ คาร์ล มิลเลอร์ ซึ่งวิเคราะห์ปัญหาให้เห็นว่า การเมืองกระแสหลักในประเทศพัฒนาแล้วได้เข้าสู่โหมดถดถอยมากว่าห้าทศวรรษแล้ว เนื่องจากประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่รู้สึกหมดหวังว่าการเมืองจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ อันมีความหมายต่อชีวิตของพวกเขาได้ จึงเหนื่อยหน่ายและเฉยชากับการเมือง

แต่เมื่อสื่อสังคมออนไลน์ถือกำเนิดมาและเริ่มแพร่กระจายกว้างขวาง การเข้าไปใช้สื่อใหม่นี้เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ก็เริ่มปรากฏเค้าลางของความหวังทางการเมืองแบบใหม่ที่ไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์แบบเดิมๆ เพราะผู้ใช้สื่อสามารถกำหนดวาระข่าวสารได้เอง และเลือกที่จะสื่อสารกับเครือข่ายที่คิดเห็นทางการเมืองเหมือนๆ กันได้ ขณะที่ผู้นำทางการเมืองรายใหม่ๆ ก็สามารถสร้างการรับรู้ตัวตนสู่สาธารณะผ่านสื่อใหม่ได้ โดยไม่ต้องอาศัยทุนหนาเพื่อเข้าถึงสื่อกระแสหลักอย่างที่เคย

ตัวอย่างที่ดีในต่างแดนก็ได้แก่ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา ของสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นมวยรองบ่อนทางการเมืองมาแต่แรก เพราะเป็นเพียงสมาชิกวุฒิสภาโนเนม ขาดแรงสนับสนุนทางการเงิน แต่ด้วยความเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญในการใช้สื่อสังคมออนไลน์จึงสามารถระดมเงินสนับสนุน ตลอดจนความนิยมจากคนรุ่นใหม่จนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีในที่สุด

หรือในประเทศไทย ในช่วงเมื่อไม่นานนี้ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก็ได้กลายมาเป็นนักการเมืองยอดนิยมผ่านกระแสสังคมออนไลน์ สืบเนื่องส่วนหนึ่งจากทักษะในการโพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวเพื่อสื่อสารกับผู้สนับสนุนของเขาอย่างเข้าใจไวยากรณ์ทางสังคมของสื่อใหม่นี้ ทั้งๆ ที่เมื่อเข้ามารับตำแหน่งใหม่ๆ นายชัชชาติอยู่ในรายชื่อรัฐมนตรีที่มีคนรู้จักน้อยที่สุดด้วยซ้ำ ล่าสุด ชัชชาติกลับติดโผนายกรัฐมนตรีคนกลาง ทั้งๆ ที่เป็นคนของรัฐบาลปัจจุบัน เสมือนว่ากระแสความนิยมต่อเขาในโลกออนไลน์ได้กลายมาเป็นเกราะคุ้มกันเขาจากความไม่นิยมรัฐบาลชุดนี้อย่างน่าประหลาดใจ

อย่างไรก็ดี ปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน ชัดเจนว่ามีความซับซ้อนกว่า เรื่องผู้คนเบื่อหน่ายไม่อยากมีส่วนร่วมทางการเมือง จากการรายงานของนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อปลายเดือนที่แล้วในวาระการปฏิรูปประเทศไทย ปัญหาสำคัญในระดับรากฐานของสังคมไทยที่ปะทุออกมาให้เห็นเป็นความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มในสังคมมีทั้งในเรื่อง คอร์รัปชัน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคมขาดความยุติธรรม และการแบ่งขั้วทางสังคม ซึ่งบทบาทของสื่อนับว่ามีเกี่ยวพันในทุกๆ ส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งในแง่ของการเป็นผู้ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การเผยแพร่ความจริงสู่ประชาชน การสร้างวาระทางสังคมและการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงของนโยบายสาธารณะ และ การไม่ใช้การสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง

หากสื่อไทยในทุกระดับจะเริ่มปฏิรูปตนเองด้วยวาระที่ไกลไปกว่าสิทธิเสรีภาพสื่อ โดยมุ่งเป้าไปในประเด็นที่กล่าวไป ก็คงเป็นจุดเริ่มต้นของทางออกใหม่ให้สังคมได้ไม่มากก็น้อย