ความชอบธรรมในบริบทความขัดแย้ง

ความชอบธรรมในบริบทความขัดแย้ง

จากวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองก่อให้เกิดวาทกรรมเรื่องความชอบธรรมในประเด็นต่างๆ มากมายเพื่อเป็นการอ้างอิงหรือสนับสนุนการกระทำของตน

หรือฝ่ายของตน รวมไปถึงเป็นข้อโต้แย้งหรือคัดค้านการกระทำของบุคคลหรือฝ่ายที่ตนเองไม่เห็นด้วย วาทกรรมเรื่องความชอบธรรมจึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจในขณะนี้โดยเฉพาะในช่วงเปลี่ยนผ่านของสถานการณ์รายวันที่อาจนำไปสู่ความสงบหรือความรุนแรงได้ในทุกวินาที

การมองประเด็นความชอบธรรมด้วยวิธีคิดแบบองค์รวมอาจทำให้สังคมและปัจเจกชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างหลากหลายในช่วงเวลานี้มีคำตอบในการก้าวเดินหรือขับเคลื่อนไปในทิศทางที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมในระยะยาวได้ชัดเจนขึ้น เพราะการมีวิธีคิดและกระบวนการคิดแบบองค์รวมจะทำให้ผู้คิดได้เชื่อมโยงองค์ประกอบของสิ่งต่างๆ ที่หลากหลายเข้าด้วยกันภายใต้ความหมายและบริบทที่เรากำหนดไว้แล้ว เพื่อหาทางออกให้กับสังคมไทย

ความชัดเจนของสถานการณ์มีอยู่ว่าความขัดแย้งทางการเมืองครั้งนี้มีกลุ่มผู้เห็นต่างกันอย่างตรงกันข้ามและมีความเห็นต่างในประเด็นย่อยอีกมากมาย และมีการกล่าวหาต่อกันว่าใช้ความรุนแรงจนเกิดความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน และประเด็นในหัวข้อวันนี้คือทุกฝ่ายต่างอ้างความชอบธรรมในการแสดงความคิดเห็นและการกระทำของตนเอง

จริงอยู่ความชอบธรรมนั้นเป็นข้ออ้างอิงและการให้เหตุผลเพื่อให้ผู้อื่นหรือกลุ่มอื่นยอมรับ และรับฟังกับความคิดเห็นและการกระทำที่ได้เกิดขึ้นแล้วและกำลังจะเกิดขึ้น แต่ความชอบธรรมนั้นเราทราบกันดีว่าอาจมีความหมายเช่นเดียวกับความชอบด้วยกฎหมายหรือกว้างกว่าก็ได้ ซึ่งในกรณีหลังนี้แม้จะเป็นการผิดหรือแย้งต่อกฎหมายแต่อาจถือว่าเป็นสิ่งที่กระทำได้ เช่น วาทกรรมว่าด้วยอารยะขัดขืน หรือเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

บริบทของขอบเขตและความหมายของความชอบธรรมจึงต้องมีความชัดเจนมากพอที่สังคมไทยซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่าเป็นสังคมประชาธิปไตยที่อยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรมและสิทธิมนุษยชนจะรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ้างอิงความชอบธรรมเพื่อการใช้อำนาจรัฐในการบังคับแก่ประชาชนในทุกรูปแบบ หรือการที่ภาคประชาชนจะอ้างอิงเพื่อแสดงสิทธิเสรีภาพในการโต้แย้งหรือคัดค้านการกระทำของผู้ใช้อำนาจรัฐทั้งในเชิงนโยบายและในแนวปฏิบัติ

การอ้างอิงความชอบธรรมจึงต้องถูกตรวจสอบด้วยวิธีคิดแบบองค์รวมเพื่อหาที่มาที่ไปของหลักเหตุและผลของการกระทำหรือการแสดงออกของตนโดยเฉพาะในกรณีของการกระทำที่ส่งผลกระทบต่อส่วนรวมไม่ว่าในทางใดๆ ก็ตาม เพราะหากเป็นการอ้างความชอบธรรมเพื่อการกระทำส่วนตัวหรือภายในครัวเรือนและไม่ส่งผลกระทบต่อสังคมและชุมชนมากนัก กรณีอาจยอมรับความชอบธรรมเช่นว่านั้นได้

กระบวนการคิดเพื่อให้ได้ความหมายที่สามารถแสดงความเป็นเหตุเป็นผลต่อการกระทำของตนเองและสังคมได้จะต้องเป็นการคิดที่เป็นแบบแผนสามารถเชื่อมโยงกับองค์ประกอบย่อยๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องได้อย่างมีเหตุผล สังคมจึงจะตัดสินใจได้ว่าการกระทำนั้นๆ ของผู้หนึ่งผู้ใดหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ได้กระทำลงไป หรือกำลังจะกระทำเป็นที่ยอมรับได้หรือไม่

การกระทำอะไรลงไปและส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมจะมีความชอบธรรมได้จึงต้องพิจารณาผลกระทบหรือปัจจัยรอบข้างในเรื่องนั้นๆ อย่างรอบด้านและเชื่อมโยงกัน หากคำตอบหรือผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านหรือเฉพาะเรื่องเท่านั้น แต่เกิดผลร้ายต่อสิ่งที่เกี่ยวข้องจนผิดธรรมชาติต้องถือว่าการกระทำนั้นๆ ขาดความชอบธรรม

การทบทวนความชอบธรรมหรือตรวจสอบความชอบธรรมโดยกระบวนการคิดแบบองค์รวมนี้เป็นเพียงวิธีหนึ่งเท่านั้น และเห็นว่ายังมีอีกหลายวิธีในการทบทวนหรือตรวจสอบความชอบธรรมในการกระทำต่างๆ ที่กระทบต่อสังคมโดยส่วนรวม

อย่างไรก็ตาม การให้เหตุผลเรื่องความชอบธรรมนั้นอาจเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมโดยรวมได้ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการของแกนนำผู้ชุมนุมที่ต้องการให้คณะรัฐมนตรีลาออก หรือความต้องการของรัฐบาลที่ให้ยุติการชุมนุมและจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก็ตาม หรือจะเป็นความต้องการใดๆ ของฝ่ายอื่นๆ อีกก็ตาม โดยเฉพาะกระแสความกดดันให้เกิดการเจรจากันก็ตาม สิ่งเหล่านี้ผู้มีอำนาจตัดสินใจอาจใช้วิธีการเชื่อมโยงปัจจัยหรือข้อมูลที่เกี่ยวข้องภายใต้บริบทและความหมายที่ตนเองเชื่อหรือเป็นไปตามหลักการทั่วไป แล้วจึงชั่งน้ำหนักตามหลักสัดส่วนของความเหมาะสมของผลลัพธ์และหรือผลกระทบที่เกิดขึ้น ย่อมมั่นใจได้ว่าสิ่งที่ตนคิดหรือคิดจะกระทำนั้นมีความชอบธรรมหรือไม่

สถานการณ์ความขัดแย้งได้เดินมาถึงจุดหนึ่งที่ทุกฝ่ายจะต้องฉุกคิดอย่างเป็นองค์รวมเพื่อก้าวไปข้างหน้า หลังจากที่ได้ใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญและหลังจากที่ได้ใช้อำนาจรัฐเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยมาแล้ว หรือว่าการคิดแยกส่วนเพื่อประโยชน์ของตนเองจะกลบการคิดแบบองค์รวมไปเสียแล้วจนกู่ไม่กลับ