รายได้แบบ "เครื่องพิมพ์แบงก์"

รายได้แบบ "เครื่องพิมพ์แบงก์"

ในหนังสือเรื่อง “30 วัน รวยด้วย..รายได้ที่ไม่ต้องทำงาน” มีคำอยู่คำหนึ่งคือ “รายได้แบบเครื่องพิมพ์แบงก์” ซึ่งผมอยากจะขออธิบายความหมาย

รายได้แบบ “เครื่องพิมพ์แบงก์” ก็คือ รายได้ที่จะได้รับจากธุรกิจหรือการลงทุนที่มีศักยภาพในการหาเงินให้เราได้อย่างต่อเนื่อง เปรียบเสมือนกับเครื่องพิมพ์แบงก์ที่สามารถพิมพ์ธนบัตรออกมาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ทั้งนี้การพิมพ์แต่ละครั้งก็จะต้องมีคนคอยดูแล รักษาเครื่องยนต์ และทำการตรวจเช็คเครื่องจักรอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เครื่องพิมพ์แบงก์ทำงานสะดุด หรือสึกหรอจนใช้การไม่ได้ก่อนที่จะถึงอายุขัยของตัวมันเอง ซึ่งรายได้ที่ไม่ต้องทำงานแบบ “เครื่องพิมพ์แบงก์” นั้นพอจะจำแนกได้เป็น 3 ประเภทด้วยกัน ดังนี้ครับ

หนึ่ง รายได้แบบ “พึ่งเขา...พึ่งเรา” (Semi-Leveraged Income)

โดยหลักการของรายได้ประเภทนี้ คุณผู้อ่านจำเป็นที่จะต้องให้คนอื่นเข้ามาช่วยเหลือ เพราะถ้าหากคุณผู้อ่านต้องทำคนเดียวทั้งหมด รายได้ที่ได้มาก็จะไม่ใช่ “รายได้ที่ไม่ต้องทำงาน” แต่จะกลายไปเป็น “รายได้ที่ต้องทำงาน” (Active Income) ไปนั่นเอง

รายได้ประเภทที่หนึ่งนี้ จะเป็นรายได้ที่เกิดจากคุณผู้อ่านเองเข้าไปทำงานและให้ผู้อื่นเข้ามาช่วยด้วย เช่น การจัดสัมมนาทางวิชาการ การแสดงคอนเสิร์ตหรือโชว์ต่างๆ หรือการจัดงานอื่นๆ ที่มีเราเป็นผู้จัด หรือมีส่วนร่วมในการจัด และจะต้องได้รับผลตอบแทนตามผลสำเร็จของงาน ไม่ใช่ได้รับผลตอบแทนตามแรงงานที่ทุ่มเทลงไป สาเหตุที่จะต้องได้รับผลตอบแทนตามผลสำเร็จของงานถือได้ว่าเป็นประเด็นสำคัญก็เป็นเพราะ หากผลงานที่ออกมานั้น..ประสบความสำเร็จแล้ว รายได้ที่เข้ามาก็จะต้องมากกว่า..ค่าแรงที่จะได้จากงานนั้นๆ ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่า “ทำงาน...น้อยลง แต่รายได้...มากขึ้น”

สอง รายได้แบบ การสร้างเครือข่ายเอง...แต่ให้ผู้อื่นทำงานให้ (Leveraged Income)

การสร้างรายได้ประเภทนี้ มักจะเกิดขึ้นจากการเริ่มต้นที่มีการวางแผนเป็นอย่างดีในการสร้างระบบหรือเครือข่าย โดยยอมลงทุนลงแรงสร้างกิจการที่จะสามารถก่อให้เกิดรายได้ที่ไม่ต้องทำงานได้อย่างแท้จริงเสียแต่วันนี้

ประเด็นที่สำคัญที่สุดของกิจการประเภทนี้ก็คือ เราจะเป็นผู้สร้างระบบหรือสร้างเครือข่ายขึ้นมาเอง จากนั้นก็นำเครือข่ายดังกล่าวไปให้ผู้อื่นใช้งาน เมื่อมีการใช้งานผ่านระบบของเรา เราก็จะมีส่วนแบ่งรายได้ที่จะไหลเข้ามาในบัญชีธนาคารของเราด้วย ตัวอย่างเช่น

๐ เครือข่ายของธุรกิจขายตรง ซึ่งปัจจุบันเครือข่ายขายตรงจำนวนมากได้ปรับระบบของตนไปเป็นแบบ Multi-Level Marketing (MLM) ด้วยระบบ MLM นี้ก็ได้ทำให้ผู้คนจำนวนมากพยายามสร้างลูกข่ายหรือบางทีอาจเรียกว่า ดาวน์ไลน์ (Downline) หลังจากนั้นเมื่อลูกข่ายสามารถขายสินค้าได้ เราในฐานะที่เป็นแม่ขายหรือ อัพไลน์ (Upline) ก็จะพลอยได้รับส่วนแบ่งรายได้ตามไปด้วย

๐ การสร้างเครือข่ายบนอินเทอร์เน็ตหรือสังคมออนไลน์ ก็เป็นส่วนหนึ่งของรายได้ประเภทที่สองนี้ เพราะเราจะเป็นคนสร้างเว็บไซต์ที่จะทำให้มีผู้เข้ามาเยี่ยมชมเป็นจำนวนมาก จากนั้นผู้คนที่เข้ามาแวะเยี่ยมชมก็อาจจะสนใจซื้อผลิตภัณฑ์ที่โฆษณาอยู่บนเว็บไซต์ของเรา เมื่อมีการซื้อขายสินค้านั้นๆ ก็จะทำให้เราได้รับส่วนแบ่งจากกำไรจากการขายสินค้านั้นๆ ไปด้วย

๐ การสร้างธุรกิจระบบแฟรนไชส์ขึ้นมา จากนั้นเมื่อมีผู้สนใจอยากจะทำธุรกิจโดยการขอสิทธิแฟรนไชส์ไปทำ ก็จะทำให้เราสามารถมีรายได้ด้วยกัน 2 ตัวคือ หนึ่ง ค่าธรรมเนียมต่างๆ และสอง กำไรที่เกิดจากการขายผลิตภัณฑ์ให้แก่ร้านสมาชิก

สาม รายได้แบบ การสร้างผลงานเพียงครั้งเดียว (Residual Income)

รายได้ประเภทนี้จะเกิดจากการสร้างผลิตภัณฑ์นั้นๆ เพียงครั้งเดียว ก็จะก่อให้เกิดรายได้ที่ไม่ต้องทำงานตามมาเป็นเวลาอีกยาวนาน รายได้ประเภทนี้มีบางผลงานที่เจ้าของผลงานได้ลาจากโลกนี้ไปแล้ว แต่รายได้ก็ยังคงเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เช่น พจนานุกรม อังกฤษ-ไทย ของ สอ เสถบุตร ที่ปัจจุบันยังเป็นที่แพร่หลายในหมู่นักเรียน นักศึกษา และคนทำงานนั้น รู้ไหม? ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมไปแล้วตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2513 แต่ผลงานของท่านก็ยังสามารถสร้าง “รายได้ที่ไม่ต้องทำงาน” ให้แก่ผู้เกี่ยวข้องได้ตราบจนถึงทุกวันนี้ โดยมีตัวอย่างที่พอจะแสดงให้เห็นภาพได้ดังนี้

๐ รายได้จากค่าลิขสิทธิ์จากการเขียนหนังสือ ในกรณีหนังสือเล่มนั้นๆ ขายดี ก็จะทำให้ผู้เขียนมีรายได้ที่ไม่ต้องทำงานเข้ามาเป็นจำนวนมาก

๐ การสร้างรายได้จากการสร้างสต็อกภาพ แล้วทำการส่งเสริมการขายจนเว็บไซต์ติดตลาดแล้ว จากนั้นก็จะทำให้มีลูกค้าเข้ามาซื้อภาพไปอย่างต่อเนื่อง

๐ การขายประกันภัยหรือประกันชีวิต ที่จะต้องมีการจ่ายค่าเบี้ยประกันทุกปี ก็จะทำให้เรามีส่วนแบ่งรายได้ไปด้วย

๐ การสั่งซื้อสินค้าเดิมครั้งแล้วครั้งเล่าจากธุรกิจขายตรง ธุรกิจออนไลน์ ฯลฯ

หากคุณผู้อ่านยังคิดที่จะแสวงหา “รายได้ที่ไม่ต้องทำงาน” อยู่ ก็ควรจะคำนึงหลักคิดในการสร้างรายได้ประเภทนี้ด้วย การคิดว่างานที่คุณผู้อ่านทำงานอยู่ จะแปรเปลี่ยนไปเป็น “เครื่องพิมพ์แบงก์” เป็นไปได้ไหม? ก็จะทำให้คุณผู้อ่านเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่า...

เรากำลังทำงานเพื่อหา “รายได้ที่ไม่ต้องทำงาน” อยู่หรือเปล่า?