ผลกระทบจากความล่าช้าของนโยบายด้านพลังงาน

ผลกระทบจากความล่าช้าของนโยบายด้านพลังงาน

ในหลายๆ ตอนที่ผ่านมาผมก็ได้พูดถึงแผนด้านพลังงานของประเทศไทยที่เรามีกันอยู่ รวมไปถึงความเชื่อมโยงของแผนแต่ละแผน

ซึ่งจะเห็นถึงความเกี่ยวข้องกัน ซึ่งหากการดำเนินการตามแผนใดแผนหนึ่งเกิดสะดุดหรือต้องหยุดชะงักขึ้นมาก็จะไปกระทบกับแผนอื่นๆ ตามกันไปเป็นโดมิโน

ผมขอยกตัวอย่างหากเกิดความล่าช้าของการดำเนินการตามแผนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานต่างๆ ที่มีผลผูกพันในระยะยาว เช่น โครงการก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ หรือสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG Receiving Terminal) ซึ่งถือเป็นโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงเป็นหลักหลายหมื่นล้านบาท และต้องใช้เวลาในการก่อสร้างนานหลายปีกว่าจะแล้วเสร็จ โดยความล่าช้าที่เกิดขึ้นนั้นก็อาจจะมาจากหลายๆ สาเหตุในของเรื่องของปัญหาความล่าช้าของผู้รับเหมาที่ไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนหรือที่ทิ้งงานไป ความล่าช้าอันเนื่องมาจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเมือง หรือความล่าช้าอันเกิดจากขั้นตอนการทำความเข้าใจกับภาคสังคม ซึ่งบางครั้งก็เป็นเหตุทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนแผนของโครงการได้ เช่น แนวเขตวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ล่าช้าเนื่องจากต้องมีการปรับเปลี่ยนเส้นทาง เป็นต้น

หากแผนงานด้านโครงสร้างพื้นฐานต้องล่าช้าออกไป ผลกระทบที่ตามมาก็คือบางครั้งอาจทำให้เกิดการขาดแคลนพลังงานได้ ทั้งนี้ก็เพราะเมื่อถึงเวลาที่ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น แต่กลับไม่มีระบบโครงสร้างพื้นฐานในการที่จะใช้สำหรับรองรับการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานเหล่านั้น ซึ่งหากจะมองภาพที่เห็นได้ง่ายๆ ผมก็ขอยกตัวอย่างของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่จะต้องส่งก๊าซธรรมชาติเพื่อไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า

ทั้งนี้ ความล่าช้าของการก่อสร้างนั้นจะไปกระทบกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าโดยตรง ซึ่งแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้านั้นก็จะมีการกำหนดโรงไฟฟ้าที่จะเข้ามาในระบบในแต่ละปี เพื่อที่จะผลิตไฟฟ้าให้สามารถรองรับกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เราคาดว่าจะเพิ่มขึ้น และหากโรงไฟฟ้านั้น ผมสมมุติว่าเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงมีการก่อสร้างแล้วเสร็จตามกำหนด แต่ระบบท่อเพื่อส่งก๊าซธรรมชาติไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้านั้นเกิดความล่าช้า ก็จะทำให้โรงไฟฟ้าดังกล่าวไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งก็จะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนไฟฟ้าในปีนั้นๆ ไปด้วย

สิ่งที่กล่าวมานี้เป็นแค่ตัวอย่างที่ยกขึ้นมาให้เห็นเท่านั้น ซึ่งผลกระทบนั้นเราอาจจะยังไม่ได้เห็นได้ในทันที แต่เมื่อผ่านไปช่วงหนึ่ง ผลกระทบจะมีให้เห็นเป็นวงกว้าง และจะกระทบต่อทุกภาคส่วน เนื่องจากทุกๆ ภาคส่วนต้องใช้พลังงาน โดยเฉพาะไฟฟ้า ซึ่งความเสียหายจากความล่าช้านี้ผมคิดว่าถ้าตีเป็นมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจนั้นมากมายพอสมควร

อีกประเด็นหนึ่งที่ผมอยากจะกล่าวถึงสักเล็กน้อยก็คือเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้สำหรับการนำเข้าก๊าซ LPG โดยจากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เรามีการนำเข้า LPG จากต่างประเทศมากถึง 194,000 ตันในเดือนตุลาคม 2556 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปริมาณนำเข้าเฉลี่ยของปี 2555 ที่ 144,000 ตันต่อเดือน ขณะที่ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้สำหรับขนถ่ายก๊าซ LPG นำเข้านั้นอยู่ที่ประมาณ 150,000-160,000 ตันต่อเดือนเท่านั้น และที่ผ่านมาปริมาณนำเข้าส่วนที่เกินจากความสามารถในการนำเข้าที่รับได้ของท่าเรือและคลังก๊าซ LPG นั้น เราต้องใช้วิธีการให้เรือบรรทุกก๊าซ LPG ลอยลำอยู่นอกท่าเรือ แล้วใช้วิธีการนำเรือเล็กไปขนถ่าย LPG ลงจากเรือแทน

แต่วิธีการขนถ่าย LPG จากเรือที่ลอยลำอยู่นอกท่าเรือนั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมากกว่าการขนถ่ายที่ท่าเรือที่มีระบบรองรับการขนถ่ายก๊าซ LPG ที่เพียบพร้อม หากเกิดอุบัติเหตุหรือสิ่งที่ไม่คาดฝันขึ้นก็จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรงทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

นอกจากนี้ ถึงแม้จะมีการลอยลำของเรือบรรทุกก๊าซ LPG และมีการขนถ่ายจากเรือโดยตรงได้ แต่การทำโดยวิธีนี้ก็มีข้อจำกัดอันเนื่องมาจากมาตรการด้านความปลอดภัยด้วยเช่นกัน เราไม่สามารถนำเรือบรรทุกก๊าซ LPG มาจอดเรียงกันหลายๆ ลำในทะเลได้ นอกจากนี้ การลอยลำของเรือบรรทุก LPG ที่ต้องจอดรอเพื่อขนถ่ายก๊าซ LPG นั้นก็มีต้นทุนค่าเสียเวลาของเรือ (Demurrage) อยู่ด้วย หากปริมาณนำเข้าก๊าซ LPG ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและจากข้อจำกัดต่างๆ ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ผลก็คือเราไม่สามารถนำเข้าในปริมาณที่มากกว่านี้ได้อีกแล้ว และปัญหาการขาดแคลนก๊าซ LPG ในประเทศก็จะตามมา ซึ่งที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้พยายามเร่งดำเนินการเพื่อที่จะขยายท่าเรือและคลังนำเข้าก๊าซ LPG เพื่อให้สามารถรองรับการนำเข้าก๊าซ LPG ได้มากขึ้น แต่หากดูในเรื่องของระยะเวลาการก่อสร้างซึ่งจะต้องใช้เวลา 2-3 ปี ก็จะเห็นว่าในระยะสั้นนี้ เราอาจจะยังต้องเผชิญกับปัญหาในเรื่องของ Supply ของก๊าซ LPG อยู่หากปริมาณการนำเข้ายังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง