สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในปรากฏการณ์การเมือง

สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในปรากฏการณ์การเมือง

“การต่อสู้ทางการเมืองจำเป็นต้องแลกกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลมากน้อยเพียงใด”อาจเป็นประเด็นที่ขัดหูขัดตากับสถานการณ์ในสังคมไทยขณะนี้

แต่จะมองข้ามสิ่งนี้ไปไม่ได้ ด้วยเห็นว่าเป้าหมายของการต่อสู้ทางการเมืองในยุคร่วมสมัยก็คือ ความเป็นประชาธิปไตย และเมื่อองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตยคือ การมุ่งสู่ความเสมอภาคและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ฉะนั้น การต่อสู้ตามครรลองจึงต้องควบคู่ไปกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลด้วยเช่นกัน

สถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ยอมรับกันว่าท้าทายพัฒนาการประชาธิปไตยของสังคมไทยมากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง เราสังเกตเห็นความตื่นตัวทางการเมืองของผู้คนทั้งในเชิงปัจเจกและการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็น ความต้องการทางการเมือง รวมไปถึงการแสดงออกทางมโนธรรมและศีลธรรมทางการเมืองอย่างที่ต้องยอมรับว่าเป็นไปอย่างกว้างขวาง ตลอดเวลาหลายวันที่ผ่านมาเราจะได้ยินคำว่าสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยอยู่เป็นระยะๆ

หากมองโดยรวมแล้วจะเห็นได้ว่า แม้จะดูวุ่นวายและวิตกกังวล แต่ทุกคนรู้สึกดีที่ได้แสดงออกทางความเห็นและความต้องการทางการเมืองด้วยการวิพากษ์วิจารณ์การดำเนินการของรัฐ องค์กรต่างๆ รวมไปถึงฝ่ายค้าน ตลอดจนการทำงานของระบบราชการกันอย่างเต็มที่ และแน่นอนว่าคงได้มีการกล่าวถึงปรากฏการณ์ทางการเมืองครั้งนี้ทั้งในแง่บวกและแง่ลบกันอีกยาวนาน

เมื่อหันมามองถึงผลกระทบต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนอย่างรวดเร็วและไม่ได้มีข้อมูลทางวิชาการมาประกอบการประเมินผลกระทบ แต่เป็นการมองผ่านสายตาของสื่อสารสาธารณะในรูปแบบต่างๆ และจากมุมมองส่วนตัวและประสบการณ์ของผู้คนรอบข้าง จะพบว่าเป็นไปตามแนวทางทั่วไปที่พบว่ามีทั้งผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบต่อพัฒนาการประชาธิปไตยของสังคมไทย

เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าสังคมไทยมีความตื่นตัวที่จะมีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองประเทศมากขึ้น และมองหาวิธีการต่างๆ ในการตรวจสอบการทำงานของนักการเมืองและข้าราชการมากขึ้นโดยมีประเด็นของการคอร์รัปชันเป็นแกนในการเข้ามาตรวจสอบ และมองเห็นบทบาทของโซเชียลมีเดียเป็นพาหะหรือเครื่องมือในการหาความจริงและสร้างเครือข่ายในเรื่องนี้อย่างจริงจัง จึงเป็นชนวนให้เกิดการถกเถียงถึงจริยธรรมและความชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินการและการใช้อำนาจรัฐของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

นอกจากนี้มีความชัดเจนของพัฒนาการที่เรียกกันว่ากระบวนการรัฐธรรมนูญนิยม ซึ่งถือว่าเป็นกระบวนการสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย ด้วยการสังเกตโดยทั่วไปในเชิงปรากฏการณ์จะพบว่ามีการกล่าวอ้างถึงเนื้อหาของรัฐธรรมนูญอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีความเนื้อหาที่เป็นลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญ ที่หลายฝ่ายแสดงออกถึงความคิดเห็นของตนที่แตกต่างกันด้วยความรู้และประสบการณ์ของตนเอง รวมทั้งการใจจดใจจ่อเพื่อรอคอยและรับฟังคำวินิจฉัยขององค์กรผู้มีอำนาจหน้าที่ในการตีความ และกล้าที่จะวิพากษ์เหตุผลของคำวินิจฉัยนั้นๆ ตามกรอบปทัสถานของสังคม

ในแง่ของการบังคับใช้กฎหมาย แม้จะมีการโต้แย้งและถกเถียงกันมาก แต่หากมองจากเหตุการณ์รายวันประกอบกับยุทธวิธีของการต่อสู้และประเด็นการขัดแย้งทางการเมืองในครั้งนี้ที่มีความซับซ้อนเป็นอย่างยิ่งมากกว่าเหตุการณ์ครั้งอื่นในประวัติศาสตร์ทางการเมืองของสังคมไทย จะต้องยอมรับว่ามีความพยายามอย่างมากที่จะวางแนวทางเพื่อการพัฒนาการบังคับใช้กฎหมายทั้งในทางยุทธศาสตร์และยุทธวิธีเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยส่วนรวมมากกว่าที่เคยดำเนินการกันมาจากในอดีต

อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์ในขณะนี้ไม่อาจจะสรุปการประเมินไปในทางใดได้ทั้งด้วยการสังเกตหรือทางด้านวิชาการก็ตาม เพราะมีปัจจัยทั้งบวกและลบที่อาจส่งผลให้สถานการณ์เปลี่ยนแปลงทุกวินาที และหากติดตามมาแต่ข้างต้นจะพบความเห็นในเชิงบวกเสียเป็นส่วนใหญ่ซึ่งเสมือนขัดกับความกังวลของสังคมที่มักจะมีคำถามถึงจุดจบของความขัดแย้งที่ระคนปนเปไปกับความต้องการความสงบสุขในสังคมให้กลับคืนมาในวันข้างหน้า

การตั้งคำถามในสังคมดังกล่าวเป็นผลสะท้อนของธรรมชาติความเป็นมนุษย์ในแง่มุมหนึ่งคือความต้องการได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลของตนเองและคนใกล้ชิดซึ่งมักจะกล่าวกันเป็นสากลว่าทุกคนต้องการการยอมรับและการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน และพร้อมที่จะเผชิญหน้ากับปัจจัยแวดล้อมที่คุกคามสิทธิเสรีภาพดังกล่าวโดยความหวังว่ากลไกและกระบวนการที่สังคมนั้นๆ ได้ร่วมกันกำหนดไว้จะเป็นทางออกและเป็นหลักประกันให้กับเขาเหล่านั้น

เสียงเรียกร้องทางจริยธรรม ศีลธรรม สิทธิเสรีภาพ หลักนิติธรรม และความชอบธรรมดังก้องในสังคมไทยจะต้องเป็นทั้งกระจกเงาและเสียงที่ทำให้ทุกคนต้องหันกลับมาตระหนักถึงความหมาย วิธีการ และเป้าหมายของแต่ละฝ่ายที่ต่างเรียกหาชัยชนะ และสุดท้ายต้องตีความหมายของคำว่าชัยชนะที่อยู่ภายใต้แนวทางของการยอมรับและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ถือว่ามีค่าสูงสุดสำหรับทุกคนรวมไปถึงผู้แพ้ด้วย เพราะความขัดแย้งทางการเมืองไม่เคยเป็นภาพนิ่ง