อย่าตกเป็นเครื่องมือการเมือง... กรณีตัวอย่างมัสยิดที่ตรัง กับเหตุสังหารพระ

อย่าตกเป็นเครื่องมือการเมือง... กรณีตัวอย่างมัสยิดที่ตรัง กับเหตุสังหารพระ

เหตุการณ์วุ่นวายที่มัสยิดบ้านสุโส๊ะ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ซึ่งกำลังตกเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่นั้น

เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.

ตามข่าวคือมีมวลชนของ กปปส.ตรัง บุกเข้าไปเป่านกหวีดให้นักเรียนหยุดเรียน (ในพื้นที่มัสยิดมีโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามอยู่ด้วย) และเป็นจังหวะเดียวกับที่มีคนประกอบศาสนกิจกันอยู่

อิหม่ามประจำมัสยิดและผู้อำนวยการโรงเรียนได้ออกมาตำหนิ และได้มีการขอโทษขอโพยกันไประดับหนึ่งแล้ว เป็นเรื่องในชุมชนท้องถิ่นที่เขามีวิถีในการจัดการของเขา เพราะไม่ใช่คนนอกพื้นที่ไปกระทำ

ทั้งหมดนี้สื่อมวลชนทั่วๆ ไปก็ได้รายงานข่าวไปแล้ว เป็นการรายงานตามข่าว ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะทราบกันดีว่าการขยายผลมากเกินไป โดยเฉพาะมากเกินข้อเท็จจริง ย่อมไม่ได้เป็นผลดีในบรรยากาศความขัดแย้งแบบนี้

เพราะเรื่องศาสนานั้นไม่เข้าใครออกใคร อาจเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่าน้ำผึ้งหยดเดียวได้ง่ายๆ

ผ่านมา 3 วันมีแถลงการณ์จาก "สำนักจุฬาราชมนตรี" ในทำนองตำหนิการกระทำของผู้ชุมนุม โดยเป็นแถลงการณ์ที่ไม่ได้ลงนามโดยตัวจุฬาราชมนตรีเอง เพราะไม่ใช่ประกาศจุฬาราชมนตรี แต่ออกในนามสำนักจุฬาราชมนตรี

แต่นั่นก็ไม่เป็นปัญหา สื่อมวลชนทั่วๆ ไปก็เสนอข่าวกันตามปกติ เมื่อมีปรากฏการณ์เกิดขึ้นก็รายงานไป แม้แถลงการณ์นี้จะออกมาหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้วถึง 3 วันก็ตาม และเป็นการออกแถลงการณ์ในวันที่รองโฆษกรัฐบาลหยิบเรื่องนี้มาแถลงข่าวโจมตี กปปส. โดยมุ่งประเด็นทางศาสนาด้วย

ขณะที่มีข้อมูลน่าสังเกตว่าคนไม่ใกล้ไม่ไกลกับสำนักจุฬาฯบางคน แต่งตัวเตรียมลงสมัครรับเลือกตั้งสภาสูง มัสยิดใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่างบางแห่งได้งบสนับสนุนจากรัฐบาลชุดนี้ในโครงการปรับภูมิทัศน์ ตัวเลขสูงถึงหลักสิบล้านบาท โดยผ่านกลไก กพต. หรือคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้

วันเดียวกันกับที่สำนักจุฬาฯออกแถลงการณ์ ยังมีเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายความมั่นคงติดต่อประสานงานไปยังสื่อมวลชนในระดับบุคคลบางคน บางค่าย ให้ช่วยให้ความสำคัญกับข่าวนี้มากๆ หน่อย

จากนั้นสื่อมวลชนบางค่าย โดยเฉพาะผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์บางราย ดูจะให้ความสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ มีการนำเสนอข่าวในลักษณะ "โหมประโคม" ให้ขยายวงมากขึ้นในวันที่ 24 ม.ค. มีการประณามการกระทำของ กปปส.ตรังอย่างรุนแรง ลุกลามถึง กปปส.ในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับท่าทีของรองโฆษกรัฐบาลเมื่อวันที่ 23 ม.ค.

ผู้ดำเนินรายการที่ร่วมกระพือไฟ บางคนสวมหมวกเป็นนักวิชาการด้วย!

ขณะที่ฝ่าย กปปส.ที่ส่วนกลางก็พยายามชี้แจงว่าเรื่องนี้จบไปแล้ว เป็นความเข้าใจผิด และได้ขอโทษกันไปแล้ว โดยอ้างว่า นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.ได้โทรศัพท์ไปขอโทษผู้เกี่ยวข้องด้วยตนเอง แม้ว่าจะไม่ได้ไปร่วมก่อเรื่องด้วยก็ตาม

การเลือกออกแถลงการณ์ในวันพฤหัสบดี นับว่าน่าสนใจ เพราะวันศุกร์เป็นวันที่พี่น้องมุสลิมทุกคนต้องละหมาดใหญ่ มุสลิมผู้ชายจะไปรวมตัวกันที่มัสยิดทุกแห่ง และแน่นอนย่อมมีการหยิบกรณีที่มัสยิดสุโส๊ะไปพูดคุย วิพากษ์วิจารณ์

บรรยากาศดังกล่าวสะท้อนชัดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพี่น้องมุสลิมหนาแน่นที่สุด มีการออกแถลงการณ์ฉบับใหม่นอกเหนือจากของสำนักจุฬาราชมนตรี ประณาม กปปส.ซ้ำเข้าไปอีก

เผอิญว่าวันเดียวกันนั้น ในช่วงเช้า เกิดเหตุการณ์คนร้ายยิงถล่มรถของทหารพรานชุดคุ้มครองพระออกบิณฑบาตที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี ทำให้พระมรณภาพ 1 รูป ทหารพรานเสียชีวิต 1 นาย บาดเจ็บ 1 นาย ปรากฏว่าเหตุการณ์นี้ไม่ค่อยมีใครประณาม ไม่ค่อยมีพื้นที่ในสื่อมากเท่าไร จน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าต้องออกแถลงการณ์เรียกร้องให้องค์กรต่างๆ ช่วยกันประณามหน่อย

จริงๆ เหตุการณ์ที่ กปปส.ตรังบางคนไปทำที่มัสยิดบ้านสุโส๊ะ เป็นเรื่องที่สมควรประณาม ขณะที่เหตุการณ์สังหารพระสงฆ์ขณะออกบิณฑบาต ก็เป็นเรื่องที่ต้องประณาม แต่ควรประณามอย่างจริงใจ เพื่อไม่ให้ความรุนแรง ข่มขู่คุกคามเช่นนี้เกิดขึ้นในบ้านเมือง

ไม่ใช่เลือกประณามด้วยเหตุผลทางการเมือง ท่ามกลางความแตกแยกเป็นฝักฝ่าย แบ่งขั้วแบ่งค่ายทั้งสื่อ ประชาชน นักวิชาการ แล้วก็คอยจ้องเล่นงานหรือเหยียบซ้ำเวลาที่อีกฝ่ายหนึ่งพลาด

ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้ต่างอะไรกับเรื่องเลวร้ายอื่นๆ ที่เคยเกิดขึ้นมา เช่น การเลือกด่าประณามอย่างเอาเป็นเอาตายกับการเสียชีวิตกว่า 90 ศพในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ทั้งๆ ที่ตัวเลข 90 ศพนั้นไม่ได้เกิดจากการกระชับพื้นที่อย่างเดียว แต่มีอีกจำนวนไม่น้อยที่น่าจะเป็นการกระทำของ "ชายชุดดำ" หรือ "กองกำลังไม่ทราบฝ่าย" ด้วย แต่คนประณามก็จงใจไม่พูดถึง

ในขณะที่ความสูญเสียอย่างรุนแรงใกล้เคียงกัน เช่น การสลายการชุมนุมและเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุมที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2547 ทำให้ประชาชนเสียชีวิตถึง 85 รายในวันเดียว และในคดีอาญาก็แทบไม่ได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเลย คนที่ประณามกรณี 90 ศพปี 53 เสมือนหนึ่งยอมรับไม่ได้เลยกับการตายที่เกิดจากน้ำมือของ "รัฐ" กลับไม่ช่วยประณามกรณีที่ตากใบบ้าง ทั้งๆ ที่มีหลักฐานตามสมควรว่าฝ่ายการเมืองน่าจะรับรู้ด้วย

ปรากฏการณ์เลือกประณามเกิดขึ้นกับอีกหลายเรื่อง ไม่เว้นแม้แต่นโยบายสาธารณะที่เสี่ยงสร้างความวิบัติฉิบหายให้บ้านเมืองอย่างเรื่องจำนำข้าว คืนภาษีรถคันแรก สงครามยาเสพติดที่มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,500 ศพ และอื่นๆ

การปกป้องรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่จำเป็นต้องโอบอุ้มทุกเรื่อง แต่การติดตาม ตรวจสอบ ตำหนิ วิจารณ์ หรือแม้แต่กดดันให้เปลี่ยนนโยบายที่ไม่ถูกไม่ต้องต่างหากที่จะเป็นการต่ออายุให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ถูกอำนาจนอกระบบแทรกแซง

บ้านเมืองจะสงบสุขกว่านี้ถ้าประชาชนที่ตื่นรู้ในสิทธิหน้าที่ของตนเอง หรือที่เรียกกันว่า "พลเมือง" ช่วยกันติดตามตรวจสอบการกระทำของผู้มีอำนาจอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกฝ่าย และไม่ยอมตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของใคร