เหตุผลทางกฎหมาย สิทธิเสรีภาพ และการเมือง

เหตุผลทางกฎหมาย สิทธิเสรีภาพ และการเมือง

การช่วงชิงอำนาจทางการเมือง การปกครอง บนกระแสวาทกรรมปฏิรูปประเทศไทยขณะนี้ เมื่อมองในแง่บวกจะเห็นพัฒนาการของการขับเคลื่อนกระบวนการประชาธิปไตย

โดยมีการแสดงความเห็นหรือมีการโน้มน้าวที่อ้างอิงรัฐธรรมนูญ ตัวบทกฎหมาย รวมทั้งกลไกที่เกี่ยวข้อง และแน่นอนว่าเมื่อเป็นการช่วงชิงจึงต้องมีความแตกต่างหลากหลายของการให้เหตุผลทางกฎหมายของแต่ละกลุ่มหรือแต่ละฝ่าย นอกจากนั้น ยังเห็นว่าทุกฝ่ายอ้างอิงและคำนึงถึงอำนาจอธิปไตยของประชาชนเป็นแนวทางไปสู่เป้าหมายอีกด้วย จึงเป็นการสื่อความหมายว่า ไม่ว่าด้วยวิธีการต่อสู้หรือหาทางออกอย่างไร ตนเองจะคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นสำคัญ

การมองเชิงบวกเช่นนี้อาจนำไปสู่ทางออกของประเทศได้ โดยถือว่าเป็นขั้นตอนเบื้องต้นเพื่อนำไปสู่พัฒนาการตามขั้นตอนต่อไป (ซึ่งยอมรับกันได้ว่าต้องใช้เวลานานกว่านี้) ประเด็นจึงอยู่ที่ว่ากลไกในการบังคับใช้กฎหมายและการตีความกฎหมายทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง หรือแกนนำช่วงชิงทุกฝ่ายจะให้เหตุผลทางกฎหมายอย่างไร และการให้เหตุผลเช่นนั้นจะมีน้ำหนักในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยรวมมากน้อยเพียงใด เพราะทั้งสองประเด็นนี้คือเป้าหมายของระบอบประชาธิปไตย

กระบวนการประชาธิปไตยในสังคมไทยเป็นเช่นเดียวกับในทุกสังคมที่ย่อมมีพลวัตของกระบวนการและวิธีการอยู่ตลอดเวลา โดยมีเงื่อนไขและปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงไปมาเป็นโจทย์ให้คิดหาทางแก้อยู่เสมอ ในกระบวนการคิดเช่นว่านั้นจึงเกิดกลไกและเครื่องมือที่คิดค้นขึ้นเพื่อให้พัฒนาการทางการเมืองก้าวทันการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในภายหน้าได้ และขณะนี้สังคมไทยรวมทั้งประชาคมนานาชาติก็คาดหวังเช่นกันว่ากลไกและเครื่องมือเหล่านี้จะส่งผลคลี่คลายวิกฤติขณะนี้ได้

ในการทำหน้าที่ของกลไกและเครื่องมือเหล่านี้จะต้องมีผลผลิตและผลลัพธ์ของการทำงานที่ตรงกับภารกิจและอำนาจหน้าที่ที่ตนเองมีอยู่ โดยมีเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนสอดคล้องกับภารกิจ และมีเดิมพันเป็นการยอมรับและความเชื่อถือจากประชาชนและประชาคมนานาชาติ และที่เป็นเช่นนี้เพราะเราประกาศตัวเป็นสังคมประชาธิปไตย

นอกเหนือจากกระบวนการทำงานจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่ติดตามได้แล้ว การให้เหตุผลทางกฎหมายจะเป็นหัวใจและมีนัยสำคัญในช่วงเวลาเช่นนี้ เพราะเหตุผลทางกฎหมายจะต้องมีการอ้างอิงกรอบแนวคิด ขอบเขตและความหมายทั้งในเชิงคุณค่าและทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจะต้องแสดงเหตุผลและอธิบายให้เกิดการยอมรับแก่ทุกฝ่ายอีกด้วย การให้เหตุผลทางกฎหมายที่ดีและเหมาะสมกับเวลาและบริบทของความขัดแย้งช่วงชิงเท่านั้นที่จะเป็นทางออกจากวิกฤติได้

การให้เหตุผลทางกฎหมายที่ดีจึงต้องสอดคล้องกับองค์รวมของปัญหาซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทและเป้าหมายสุดท้ายของเรื่องที่จะพิจารณา ดังนั้น ความเข้าใจและรู้ขอบเขตความหมายของการช่วงชิงขัดแย้งในครั้งนี้จึงเป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะเท่ากับว่าเป็นการใช้กฎหมายแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและเป็นการแก้ที่สาเหตุของปัญหา

การให้เหตุผลทางกฎหมายที่ดีจึงมีนัยเท่ากับเป็นการค้นหาความจริงให้กับประชาชนและประชาคมนานาชาติได้ทราบ และเป็นการแสดงให้เห็นรูปธรรมของกระบวนการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความสงบสุข เพราะการให้เหตุผลประกอบข้อกฎหมายจะต้องไม่ใช่เป็นเช่นการบรรยายกฎหมายให้ประชาชนฟัง แต่จะต้องอ้างอิงข้อเท็จจริงและเหตุการณ์ที่ผู้อ้างอิงตั้งใจหยิบยกขึ้นมาให้เหตุผลประกอบด้วย ซึ่งวิธีการและกระบวนการเช่นนี้ เมื่อ 2-3 ปีก่อนเรามองไม่เห็นความชัดเจนของเรื่องนี้และไม่อาจปฏิบัติได้จนส่งผลเสียต่อเนื่องถึงทุกวันนี้

เมื่อประชาชนเป็นศูนย์กลางของการช่วงชิงในครั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจะต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนทั้งในเชิงปัจเจกและส่วนรวมเป็นอย่างมาก การกระทำใดๆ จะต้องสอดคล้องกับการให้เหตุผลทางกฎหมายดังกล่าวข้างต้นด้วยและการกระทำนั้นๆ จะต้องกระทบต่อสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิทธิเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย เพราะโดยบริบทของวิกฤตการณ์ครั้งนี้ไม่ควรเป็นไปตามวาทกรรมที่ว่าการพัฒนาประชาธิปไตยต้องแลกด้วยเลือดเสมอไป

การพัฒนาการทางการเมืองได้มาถึงจุดเปลี่ยนผ่านอีกครั้งหนึ่ง แต่การเปลี่ยนผ่านตามกระบวนการประชาธิปไตยจะต้องเป็นการสร้างสมดุลของหลักนิติธรรม การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และกระบวนการเข้าสู่อำนาจรัฐซึ่งมิใช่เป็นเพียงการดำเนินการตามอุดมคติสัญญาประชาคมเท่านั้น แต่จะต้องสอดคล้องกับบริบทของปัญหาในขณะนั้นผนวกกับเป้าหมายสุดท้ายที่ต้องการของแต่ละกลุ่มหรือแต่ละฝ่าย ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องมีความแตกต่างหลากหลายของความเข้าใจและความต้องการ แต่จะทำอย่างไรเมื่อต้องสร้างสมดุลให้เกิดขึ้นทั้งวิธีการ กระบวนการ และเป้าหมาย

คำตอบอยู่ที่การให้เหตุผลทางกฎหมายที่ต้องส่งผลเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในเบื้องแรก และส่งผลไปยังเป้าหมายสุดท้ายคือการพัฒนาประชาธิปไตยที่สังคมและนานาชาติยอมรับและเชื่อถือ