เลือกฝ่ายบริหารทางตรง แก้การเมืองได้ทั้งระบบ

เลือกฝ่ายบริหารทางตรง แก้การเมืองได้ทั้งระบบ

ระบอบรัฐสภาไทยที่มี 2 สภา และสมาชิกของพรรคการเมืองเสียงข้างมากเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลนั้นมีความล้าหลัง

และพิสูจน์มาแล้วเป็นเวลา 80 ปี ว่า ล้มเหลว คือ มีรัฐบาลที่ไร้เสถียรภาพ มีการซื้อขายเสียงสูง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. และ ส.ว.จำนวนมากไร้คุณสมบัติ ไร้คุณภาพ และไร้คุณธรรม มีการรัฐประหาร หรือพยายามก่อการรัฐประหาร กบฏ หรือ ปฏิวัติ เฉลี่ยเกือบทุก 4 ปี (ประมาณ 20 ครั้ง) มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่มาใช้ เฉลี่ยเกือบทุก 4 ปี (มีรัฐธรรมนูญ 17 ฉบับ ฉบับที่ 18 กำลังตามมา)

ระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นระบอบธุรกิจการเมือง (Private interest led politics ตรงกันข้ามกับ public interest led politics) ระบอบประชาธิปไตยกลายพันธุ์เป็นระบอบประชาธิปไตยสามานย์ ระบบการเมืองกลายเป็นระบบพวกพ้องบริวาร (Cronyism) คณะรัฐมนตรี กลายเป็นบุฟเฟ่แคบิเนทที่นักการเมืองเข้ามาตักตวงผลประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดิน พรรคการเมืองกลายเป็นบริษัทส่วนตัวของนายทุนพรรค สมาชิกพรรคกลายเป็นลูกจ้างของบริษัท

มีข้อเสนอมากมายในการปฏิรูประบบการเมืองไทยแต่ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ในกรอบคิดและทฤษฎีเดิมที่ล้าหลัง มีการเสนอแก้ไขทางเทคนิค หรือ แก้ไขกฎหมายเพิ่มโทษเป็นด้านหลักมากกว่าการแก้ไขในด้านหลักการสำคัญ จึงเปรียบเสมือนกับการพายเรือในอ่าง ถ้าแก้ตามนี้อีกสัก 80 ปี การเมืองไทยก็คงไม่สามารถก้าวพ้นไปจากวัฏจักรชั่วร้ายไปได้

ระบอบรัฐสภาไทยได้ลอกเลียนแบบมาจากระบอบของประเทศฝรั่งเศสและอังกฤษ ที่ให้อำนาจสภาแต่งตั้ง ถอดถอน รัฐบาล ซึ่งทำให้ระบบการเมืองในสภากลายเป็นสภาโจ๊ก หรือ สภาปาหี่ ที่ระบบการถ่วงดุลตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยไม่อาจจะเกิดขึ้นได้ เพราะรัฐบาลตั้งขึ้นมาด้วยเสียงข้างมากของพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงมากที่สุด ดังนั้น การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หรือการถอดถอนรัฐบาลจึงเป็นเรื่องปาหี่ เพราะถึงอย่างไรรัฐบาลก็มีเสียงข้างมากกว่าอยู่ดี

บทเรียนและการปฏิรูปการเมืองของฝรั่งเศส

ประเทศฝรั่งเศสในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงปี ค.ศ. 1946-1958 การเมืองฝรั่งเศสมีสภาวะไร้เสถียรภาพอย่างหนัก ในช่วงเวลา 13 ปี มีรัฐบาลมากถึง 25 ชุด คือ เฉลี่ยมีการเปลี่ยนรัฐบาลทุก 6 เดือน

ประธานาธิบดีเดอโกลด์มองเห็นปัญหาของระบบการมอบอำนาจอธิปไตยให้กับรัฐสภา ซึ่งประชาชนเมื่อลงคะแนนเสียงไปแล้วก็หมดอำนาจที่จะควบคุมหรือใช้อำนาจอธิปไตยของตนตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยอีก จึงเสนอรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 1958 ปฏิรูปโครงสร้างการปกครองและแก้ไขระบบเลือกตั้งใหม่ โดยการคืนอำนาจอธิปไตยให้กับปวงชนโดยการให้ประชาชนเลือกฝ่ายบริหารโดยตรง ถ้าทำงานไม่ดี หรือ ฉ้อโกงก็ปลดได้ด้วยการไม่เลือกกลับเข้ามาอีกในสมัยหน้า

หลังจากการปฏิรูประบบการเลือกตั้งฝ่ายบริหารเป็นทางตรง การเมืองของฝรั่งเศสก็กลับเข้าสู่ยุคความมีเสถียรภาพและพัฒนาเศรษฐกิจก้าวหน้าพ้นจากความหายนะจากสงครามโลกครั้งที่สองมาจนถึงทุกวันนี้

เลือก ครม. ทางตรง ตอบโจทย์การปฏิรูปการเมืองไทย

โจทย์ของระบบการเมืองสามานย์ของระบบรัฐสภาไทย คือ ระบบนี้ก่อให้เกิดการซื้อตัวส.ส. และส.ว.ให้ลงคะแนนเสียงจัดตั้งรัฐบาล โดยมีการให้ตำแหน่งรัฐมนตรีหัวหน้าพรรคเล็กพรรคน้อยเป็นการตอบแทน อันเป็นที่มาของระบบรัฐมนตรีเหมาเข่ง รัฐมนตรีพี่น้อง ลูกหลาน (ที่มีการสืบทอดกันแล้วในหลายตระกูล) และ บริวาร ที่ประชาชนไม่เคยรู้จักชื่อ หรือ ประวัติการทำงานมาก่อน หลายคนไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารบ้านเมือง ไม่มีความรู้ความสามารถในกระทรวงที่รับผิดชอบ หรือ มีประวัติฉ้อโกง มีอาชีพสีเทา ติดคดี เข้ามาเป็นรัฐมนตรีฝักถั่วกันเป็นแถว ตัวนายกรัฐมนตรีก็สามารถชี้นิ้วเอาญาติโยมคนไหนมาเป็นก็ได้ โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชน

การฉ้อโกง การรับเงินใต้โต๊ะแบบบุฟเฟ่แคบิเนท กลายเป็นเรื่องปกติ ในการกินแบ่งโครงการที่ใช้เงินภาษีอากรของประชาชนใน ครม. กันอย่างโจ๋งครึ่ม

มีการแต่งตั้งเพื่อตอบแทนอดีตข้าราชการที่เคยใช้อำนาจในตำแหน่งอย่างมิชอบให้ประโยชน์มากินตำแหน่งที่ปรึกษา หรือบอร์ดหน่วยงานของรัฐ บอร์ดรัฐวิสาหกิจ โดยกินเงินเดือนจากภาษีอากรของประชาชน

การปฏิรูปการเมืองไทยด้วยการแก้ไขระบบการเลือกตั้งโดยกำหนดให้เลือกฝ่ายบริหารระดับสูงทั้งหมดทางตรง เป็นการคืนอำนาจอธิปไตยให้กับปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริงตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยสมบูรณ์

นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีรายกระทรวง และผู้ว่าราชการจังหวัดตลอดจนผู้กำกับการตำรวจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้กำกับการตำรวจท้องถิ่น อัยการสูงสุด ประธานศาล ต้องมาจากการเลือกตั้งทางตรงจากประชาชนด้วยกระบวนการเลือกตั้งที่เข้มข้นและตามกฎหมายที่เคร่งครัด

ผู้สมัครไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง หรือเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองและมีวาระในการดำรงตำแหน่ง 4 ปี

กำหนดให้แต่ละพรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับการเลือกตั้งเป็นรัฐมนตรีได้ไม่เกิน 3 คน

เมื่อฝ่ายบริหารมาจากการเลือกตั้งทางตรง รัฐสภาก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีสมาชิกมากมายมากินเงินเดือนภาษีอากรของประชาชนให้สิ้นเปลืองแบบระบบปัจจุบันอีกต่อไป

ดังนั้น การปฏิรูประบบการเลือกตั้งใหม่ต้องกำหนดให้มีสภาเดียว เลือกอย่างรวมเขต จังหวัดละ 2 คน ก็เพียงพอให้ทำหน้าที่นิติบัญญัติในการเสนอและปรับปรุงกฎหมาย ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของสภานิติบัญญัติ ตามระบอบประชาธิปไตย

ระบบการเลือกตั้งใหม่นี้เป็นการลดแรงจูงใจมาเฟียและนักธุรกิจการเมืองทั้งส่วนกลางและภูมิภาคในการเสนอตัวเข้ารับการเลือกเข้าสภา เพราะว่าเมื่อเข้ามาแล้ว ไม่มีหนทางถอนทุนเหมือนระบบเดิม การจะซื้อเสียงคนทั้งจังหวัดก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เงินมหาศาล เมื่อเปรียบเทียบกับระบบปัจจุบันที่เลือกแบบแบ่งเขต สามารถใช้เงินซื้อเสียงเพียง 3-4 หมื่น คะแนนเสียงก็ได้เป็นส.ส. หรือ ส.ว. แล้ว

ประเทศสามารถประหยัดงบประมาณเงินเดือนและค่าใช้จ่ายของส.ส. และส.ว.ได้ปีละหลายหมื่นล้านบาท

ระบบการเลือกตั้งใหม่นี้เป็นการทำลายระบบพรรคพวกบริวาร (Cronyism) ที่ฉ้อฉลและซ่อนตัวอยู่ในร่างของพรรคการเมืองที่กัดกินบ่อนทำลายสังคมไทยมาเป็นเวลายาวนานจนเกินพอแล้ว

การเมืองไทยจะได้โปร่งใส โอกาสของพรรคการเมืองใหญ่ครอบงำการเมืองไทย โอกาสของนักธุรกิจการเมือง มาเฟียการเมืองจะเข้ามากินบ้านกินเมืองแบบ ระบบรัฐมนตรีเหมาเข่ง รัฐมนตรีพี่น้อง บริวาร ที่ประชาชนไม่เคยรู้จักชื่อ หรือ ประวัติการทำงานมาก่อน หลายคนไม่เคยมีประสบการณ์ในการบริหารบ้านเมือง ไม่มีความรู้ความสามารถในกระทรวงที่รับผิดชอบ หรือ มีประวัติฉ้อโกง ติดคดี เข้ามาเป็นรัฐมนตรีฝักถั่วกันเป็นแถว ตัวนายกรัฐมนตรีก็สามารถชี้นิ้วเอาญาติโยมคนไหนมาเป็นก็ได้ โดยไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชน ก็จะเกิดขึ้นยาก หรือไม่มีโอกาส

เหตุผล คือ ทุกวันนี้นักธุรกิจการเมืองที่บริจาคเงินเข้าพรรคการเมืองสัก 2-500 ล้านบาท ก็สามารถต่อรองขอตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งแล้วแต่จำนวนเงินที่บริจาค ถ้าบริจาคมากก็ได้กระทรวงใหญ่ที่สามารถถอนทุนได้ง่าย

แต่ในระบบใหม่ หากต้องการซื้อเสียงเพื่อเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ก็ต้องได้คะแนนเสียงจากประชาชนผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่า 20 ล้านเสียง ถ้าจ่ายหัวละ 300 บาท ก็ต้องใช้เงินซื้อมากถึง 6,000 ล้านบาท โดยไม่มีหลักประกันว่าจะได้ ซึ่งคงหานักธุรกิจการเมืองคนไหนที่ยอมเสี่ยงได้ไม่มากนัก อาจจะมีหลงเข้ามา สัก 2-3 คน แต่ไม่สามารถเข้ามาโกงกินบ้านเมืองแบบกินรวบ กินเหมาะเข่งแบบเดิมได้อีก

การเมืองก็จะค่อยๆ โปร่งใส รัฐบาลก็จะมีเสถียรภาพ คนดีๆ ที่มีคุณธรรม เคยสร้างชื่อเสียงหรือมีผลงานที่ สังคม ยอมรับก็จะมีโอกาสสมัครและได้รับการเลือกตั้งเป็นรัฐมนตรี และร่วมสร้างชาติให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมและมีความผาสุกอย่างทั่วถ้วนหน้า

เป็นเรื่อง “ขำกลิ้ง” ที่มีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงจำนวนไม่น้อย ผู้นำเอ็นจีโอ และนักเคลื่อนไหวการเมืองอีกจำนวนมากที่ออกมาเรียกร้องสนับสนุนให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 โดยไม่ต้องมีการปรับเปลี่ยนปฏิรูปกฎหมายเลือกตั้ง กติกาการเลือกตั้ง และกรรมการเลือกตั้งที่เป็นกลไกของรัฐ เพื่อรักษาระบอบการเมือง (ที่ล้มเหลว) ให้อยู่ในสภาพเดิม (Status quo)

อันที่จริง ถ้าหากเขาต้องการรักษาระบอบการเมือง (ที่ล้มเหลว) ให้อยู่ในสภาพเดิม (Status quo) เขาควรออกมาเรียกร้องให้ "ไม่มีการเลือกตั้ง" ในวันที่ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 มากกว่า เพื่อประหยัดเงินภาษีอากรจำนวนไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาทที่จำเป็นต้องใช้ในการจัดการให้มีการเลือกตั้ง เพราะว่าการเลือกตั้งโดยไม่มีการเปลี่ยนกติกาให้มีความเป็นธรรม ไม่มีการสร้างระบบการป้องกันการซื้อเสียงและขายเสียงให้รัดกุม รวมทั้งการเพิ่มบทลงโทษ ไม่มีการเปลี่ยนตัวกรรมการที่เป็นคนกลางที่ไม่ใช่กลไกของรัฐ ที่รัฐบาลรักษาการควบคุมอยู่ อันได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด กำนัน ผู้ใหญ่บ้านที่เป็นหัวคะแนนให้นักการเมือง ไม่มีการปรับสนามแข่งให้เรียบเสมอกัน (Level field) ทั้งสองด้านของสนาม ผลของการเลือกตั้งก็จะออกมาโดยได้นักการเมืองหน้าเก่าที่สามานย์ ไร้คุณภาพ ขี้โกง มีประวัติส่วนตัวไม่ใสสะอาด

แล้วจะมีการเลือกตั้งเพื่อผลาญเงินภาษีอากรไปเพื่ออะไร หากไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ.การเลือกตั้งให้เป็นประชาธิปไตยทางตรงตามข้อเสนอข้างต้นนี้