สถานการณ์สิทธิในกระแสความขัดแย้ง

สถานการณ์สิทธิในกระแสความขัดแย้ง

ทุกกลุ่มการเมือง กลุ่มนายทุนธุรกิจ ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งภาคประชาชนและรัฐบาล แสดงความต้องการ จุดยืน

และความคิดเห็นของตนเองและกลุ่มของตนโดยอ้างความต้องการการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และยืนยันความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ตลอดจนการยืนอยู่บนหลักนิติธรรมด้วยกันทุกฝ่าย แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราจะรับรู้ถึงสถานการณ์การปลุกเร้าความเกลียดชัง เน้นย้ำความแตกต่าง การคาดการณ์ของการปะทะหรือความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา จนเกิดเป็นวาทะกรรมว่าความขัดแย้ง ความรุนแรง หรือความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยหรือเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง

เมื่อพิจารณาอย่างองค์รวมของการขับเคลื่อนสังคมสู่ความเป็นประชาธิปไตยจะพบว่าการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของส่วนบุคคลเป็นแกนสำคัญที่ทุกฝ่ายต้องมีความตระหนักและให้ความสำคัญเป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการของการขับเคลื่อน หากละเลยเสียจะทำให้ความหมายและคุณค่าของประชาธิปไตยและหลักนิติธรรมมัวหมองได้

เราทุกคนทราบดีว่า การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นทั้งเป้าหมายและจุดกำเนิดประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของโลก และเมื่อเหลียวมองภูมิหลังประวัติศาสตร์และพัฒนาการประชาธิปไตยของสังคมไทยพบว่ามีความพยายามหลีกเลี่ยงความรุนแรงและความสูญเสียในกระบวนการและวิธีการพัฒนาการเมืองมาโดยตลอดก็เพราะตระหนักถึงการคุ้มครองบุคคลเป็นหลัก กระบวนการทางการเมืองเพื่อขับเคลื่อนประชาธิปไตยจึงไม่ควรละเลยการเคารพหลักสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน

ในสถานการณ์ครั้งนี้มีความชัดเจนว่า เป็นการช่วงชิงอำนาจความชอบธรรมทั้งทางด้านกฎหมายและการเมืองการปกครอง โดยมีหลายกลุ่มต้องการใช้อำนาจอธิปไตยเพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐจากพรรคการเมืองผู้ครองอำนาจรัฐอยู่ในปัจจุบันด้วยกระบวนการขับเคลื่อนทางสังคมเพื่อสร้างความชอบธรรมด้วยวิธีการต่างๆ ส่วนผู้ครองอำนาจรัฐก็ต้องตอบโต้ด้วยการสร้างความชอบธรรมโดยการใช้กลไกของรัฐเพื่อการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่เพื่อบริหารประเทศต่อไป ในระยะนี้สถานการณ์จึงเป็นการสร้างวาทะกรรมเพื่อความชอบธรรมของการใช้อำนาจอธิปไตย

เมื่อกล่าวถึงความชอบธรรมของการใช้อำนาจอธิปไตย ประเด็นสำคัญจึงเป็นเรื่องของการยึดหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชนเพราะทั้งสองเรื่องนี้เป็นองค์ประกอบที่ถือว่าเป็นแกนสำคัญหรือเสาหลักของอำนาจอธิปไตย เพราะเมื่อประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ดังนั้น รูปธรรมของการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยจึงต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลตามกฎหมาย นั่นเอง

กระบวนการช่วงชิงอำนาจการนำทางการเมืองการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยในยุคร่วมสมัยหรือหลังสงครามเย็น จึงต้องแสดงให้ประชาชนเห็นอย่างเป็นรูปธรรมว่าฝ่ายที่จะได้รับความไว้วางใจจากประชาชนตามหลักสัญญาประชาคมจะต้องมีหลักประกันการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพที่เข้าถึงได้อย่างทั่วถึง เสมอภาค และไม่เลือกปฏิบัติ

รูปธรรมของหลักประกันสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลในสถานการณ์เช่นนี้จึงต้องกำหนดขึ้นเป็นมาตรการที่ชัดเจน มีขั้นตอนและปฏิบัติได้โดยแต่ละฝ่ายที่อ้างความชอบธรรมกับประชาชน ดังนั้น การกล่าวอ้างเพียงลอยๆ และขาดการปฏิบัติอย่างจริงจังจะเป็นการขัดแย้งในตัวเองกับความพยายามสร้างวาทะกรรมความชอบธรรมของฝ่ายตน ทั้งนี้ เพื่อเป็นบทพิสูจน์อย่างเป็นรูปธรรมให้กับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตามหลักการ

ความขัดแย้งทางการเมืองเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตย แต่ที่ต้องเน้นเรื่องหลักประกันสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลเพราะสถานการณ์ปัจจุบันเป็นกระบวนการขับเคลื่อนคนจำนวนมากภายใต้วาทะกรรมการปฏิวัติประชาชน ซึ่งคาดหมายได้ว่าจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความเห็นแตกต่างเช่นกัน ในขณะที่ฝ่ายกุมอำนาจรัฐมีหน้าที่ต้องรักษาความสงบเรียบร้อย ย่อมคาดเดาได้ว่าอาจเกิดความรุนแรงจนนำมาซึ่งความสูญเสียตลอดเวลา จึงเป็นความท้าทายวาทะกรรมอีกชุดหนึ่งที่ว่าการได้มาซึ่งประชาธิปไตยต้องแลกกับความสูญเสีย

การจัดการความขัดแย้งเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความสงบและบรรลุเป้าหมายของสังคมประชาธิปไตยจึงควรมีวิธีคิดและกระบวนการดำเนินการอย่างเป็นองค์รวมภายใต้ความหมายและบริบทพัฒนาการของสังคมไทย ควรเป็นการดำเนินการที่มีเป้าหมายชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม มีขั้นตอนที่ชัดเจนและมีความเป็นไปได้ ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแม้จากฝ่ายที่ตนเองไม่เห็นด้วยก็ตาม และสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องเป็นกระบวนการที่ส่งผลกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์หรือสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคลให้น้อยที่สุด เพราะกระบวนการประชาธิปไตยคือกระบวนการพื้นฐานของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั่นเอง