เข้าถึงกระบวนการประชาธิปไตย

เข้าถึงกระบวนการประชาธิปไตย

ในบริบทของความขัดแย้งทางการเมืองปัจจุบัน กระบวนการนำไปสู่ทางออกของปัญหาจะต้องอยู่ในความหมายและขอบเขตของหลักการประชาธิปไตย

และหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อให้วิธีการและผลของการแก้ไขปัญหามีความยั่งยืนและนำไปสู่กระบวนการปฏิรูปที่ต้องดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญที่สุดในช่วงเวลานี้คือการที่ทุกคนต้องมีความเสมอภาคทางโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการแก้ไขและปฏิรูปอย่างเท่าเทียมและเสมอภาคในเบื้องต้น

ปัญหาของการพัฒนาหรือปฏิรูปการเมืองในสังคมไทยควรมองในภาพรวมหลายมิติมากกว่าเป็นความขัดแย้งหรือความไม่พอใจของกลุ่มผลประโยชน์แบบคู่ขัดแย้งตรงกันข้ามหรือความรู้สึกเกลียดชังเท่านั้น เพราะหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้การมองหาวิธีการแก้ไขปัญหาและกระบวนการแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาในขั้นตอนต่อไปคับแคบและสุ่มเสี่ยงต่อการขัดแย้งกับหลักการประชาธิปไตยและไม่เป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชนซึ่งทั้งสองหลักการนี้จะเชื่อมโยงโดยตรงต่อหลักนิติธรรม จนอาจส่งผลร้ายต่อสังคมโดยรวมได้

มุมมองของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรมในการแก้ไขปัญหาใดๆ จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจเบื้องต้นว่าวิธีการและกระบวนการในการแก้ไขปัญหาจะต้องนำไปสู่ความสงบสุขและเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายที่จะอยู่ร่วมกันต่อไป จุดเริ่มต้นของความพยายามคลี่คลายปัญหาจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างที่สุด

พื้นฐานของสังคมไทย ณ เวลานี้และย้อนหลังไปนับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ.2475 เมื่อศึกษาดูจะพบว่ายังคงอยู่ในกงล้อของการเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นประชาธิปไตยที่มีบริบททางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง และแน่นอนว่าเราทุกคนมองเห็นพัฒนาการของกระแสความตื่นตัวของประชาชนมาเป็นลำดับภายใต้เงื่อนไขและสภาวะแวดล้อมทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

เมื่อมองย้อนกลับมาที่การคลี่คลายความขัดแย้งในครั้งนี้ จุดเริ่มต้นของกระบวนการมีพัฒนาการที่มุ่งสู่ความเป็นประชาธิปไตยบนพื้นฐานของการมีส่วนร่วมและตัวบทกฎหมายมากขึ้น โดยเฉพาะความพยายามค้นหาหลักอ้างอิงจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอันเป็นแม่บทของกฎหมายในสังคมไทยกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เรามองเห็นได้ประจักษ์ชัดว่าจนถึงนาทีนี้เกิดความสูญเสียอันเนื่องมาจากความรุนแรงน้อยกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา แม้ว่ายังคงเกิดความสูญเสียขึ้นแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น ห้วงเวลานี้มีความสำคัญอย่างยิ่งและเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของทั้งสังคมในการพัฒนาหรือปฏิรูปการเมืองของเราให้ก้าวไปข้างหน้า โดยต้องมองเป็นโอกาสที่สร้างความตระหนักให้กับทุกคนในสังคมเห็นความสำคัญและใช้สิทธิในการเป็นพลเมืองในสังคมประชาธิปไตยเพื่อเข้ามามีส่วนร่วมกันในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และนี่คือจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาโดยจะต้องร่วมมือกันให้ทุกคนได้เข้าถึงกระบวนการในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน

ทางออกของประเทศไทยจึงไม่ควรเป็นการเสนอข้อแก้ไขหรือวิธีการที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของฝ่ายใดหรือกลุ่มใดมากจนชัดเจน และจะส่งผลให้ฝ่ายหรือกลุ่มใดเกิดความรู้สึกว่ารับข้อเสนอไม่ได้ และเกิดความรู้สึกว่าถึงทางตัน

การสร้างโอกาสให้ทุกฝ่ายได้เข้าถึงกระบวนการในการแสวงหาทางออกร่วมกันจึงถือว่าเป็นบันไดขั้นแรกของการเดินทางไปสู่จุดหมายของความสงบสุข ฉะนั้นในห้วงเวลานี้จึงต้องเกิดกระบวนการเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง ด้วยพื้นฐานความคิดที่คำนึงถึงความเป็นประชาธิปไตยอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นการเห็นพ้องกันในเบื้องต้นว่าต้องการแก้ไขร่วมกันเสียก่อน ซึ่งยอมรับว่าสิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ง่าย

จุดเริ่มต้นจึงต้องมองไปที่จุดแข็งหรือต้นทุนความเป็นประชาธิปไตยในสังคมไทยที่มีอยู่ ในบริบทของสังคมที่มีพัฒนาการทางการเมืองในระยะเปลี่ยนผ่านอย่างเช่นสังคมไทยจะมีจุดเด่นที่สำคัญคือ การเรียนรู้ที่จะยึดหลักนิติธรรมในการคลี่คลายปัญหาและการเรียนรู้จากบทเรียนของสังคมอื่น แต่ต้องยอมรับว่าข้อจำกัดที่สำคัญและมองข้ามไปไม่ได้คือห้วงระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาที่มีอยู่อย่างจำกัด กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ การแก้ไขปัญหาจะต้องแข่งกับเวลาอยู่ตลอดเวลาเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงและความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น

กระบวนการแสวงหาทางออกจะต้องเปิดกว้างเพื่อให้โอกาสกับทุกกลุ่มหรือฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมซึ่งจะต้องเปลี่ยนพื้นฐานความขัดแย้งที่มาจากความเกลียดชังและการกระตุ้นยั่วยุหรือการสร้างความกดดันให้เกิดทางตัน ให้มองความขัดแย้งเป็นขั้นตอนของการพัฒนาประชาธิปไตยเพื่อหลีกเลี่ยงบรรยากาศเพิ่มความเกลียดชัง ข่มขู่ให้กลัวเพื่อให้เลือกข้าง จนส่อให้เกิดการละเมิดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นหรือการแสดงออกทางการเมืองของปัจเจกชนได้

วิกฤติครั้งนี้คือโอกาสในการพัฒนาประชาธิปไตย และการสร้างโอกาสที่ดีคือการสร้างบรรยากาศที่เปิดโอกาสให้กับทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขอย่างเป็นประชาธิปไตย