แหล่งกู้เงินจำนำข้าวเริ่มสะดุด

แหล่งกู้เงินจำนำข้าวเริ่มสะดุด

เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะหรือ สบน.ได้ทำการระดมเงินกู้ในวงเงิน 7.5 หมื่นล้านบาท

เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้ในโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล ผ่านการเสนอขายพันธบัตร ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือ ธ.ก.ส. ผลปรากฏว่า มีนักลงทุนเข้าซื้อพันธบัตรดังกล่าวจำนวน 3.7 หมื่นล้านบาท

ปัญหาการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลในช่วงเวลาที่เสนอขายพันธบัตร ได้ถูกอ้างขึ้นมาเป็นสาเหตุว่า นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อความเสี่ยงของเงินกู้ก้อนนี้มีค่าเท่ากับศูนย์ ก็สมควรที่จะสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นได้ เพราะไม่ว่า รัฐบาลไหนจะเป็นผู้บริหารประเทศ ภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการกู้เงินโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้กู้และค้ำประกันจะได้รับการชำระทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์

เมื่อตัวเลขการจองซื้อต่ำกว่าเป้าหมายดังกล่าว ถือเป็นการส่งสัญญาณจากนักลงทุนว่า การที่รัฐบาลได้กู้เงินจำนวนมหาศาล เพื่อโครงการประชานิยมนี้ กำลังนำไปสู่ผลขาดทุนที่สร้างภาระการคลังแก่ประเทศ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เพราะตั้งแต่เริ่มต้นโครงการจนถึงปัจจุบันนั้น รัฐบาลได้ใช้จ่ายเงินในโครงการนี้สูงเกือบ 7 แสนล้านบาท ซ้ำยังเกิดผลขาดทุนถึง 50% ของเงินที่ลงทุนไป

เพราะผลขาดทุนโครงการสะท้อนการบริหารจัดการที่ขาดประสิทธิภาพของรัฐบาล หากยอดการกู้เงินสูงขึ้นต่อเนื่อง ที่สุดแล้ว รัฐบาลอาจมีปัญหาการชำระหนี้ ทำให้นักลงทุนไม่กล้าที่จะลงทุนเต็มจำนวน หรือ หากจะลงทุนเต็มจำนวน อัตราดอกเบี้ยที่เสนอแก่รัฐบาลจะต้องอยู่ในระดับสูงขึ้นมาก

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การออกพันธบัตรของ ธ.ก.ส.ทาง สบน.จะใช้ชื่อว่า BBAC ซึ่งเป็นชื่อย่อของ ธ.ก.ส.แต่ก่อนที่กระทรวงการคลังจะออกพันธบัตรจำนวน 7.5 หมื่นล้านบาทดังกล่าว ทาง สบน.ได้ทำการเปลี่ยนชื่อพันธบัตรมาเป็น GGLB และเชิญนักลงทุนมาฟังคำชี้แจง เพื่อยืนยันและสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนว่า เป็นพันธบัตรชนิดหนึ่งของรัฐบาล สะท้อนให้เห็นว่า ทางกระทรวงการคลังหรือสบน.เอง ก็เริ่มเห็นสัญญาณความไม่มั่นใจของนักลงทุนบ้างแล้ว

อย่างไรก็ดี สบน.ได้เตรียมแผนกู้เงินแบบเดิม โดยกู้เงินระยะสั้นในตลาดเงินสำหรับวงเงินที่เหลือ เพื่อให้ ธ.ก.ส.ได้มีวงเงินที่จะนำไปใช้ในโครงการรับจำนำต่อไป แน่นอนว่า ต้นทุนการเงินระยะสั้นย่อมสูงกว่าต้นทุนเงินระยะยาวจากการออกพันธบัตร นั่นหมายความว่า ต้นทุนการดำเนินโครงการจะต้องสูงขึ้นไปอีกจนกว่าจะสามารถแปลงเป็นเงินกู้ระยะยาวได้ ทั้งนี้ ต้นทุนเฉลี่ยเงินกู้โครงการนี้อยู่ในระดับสูงกว่า 3% ต่อปี

ในปีการผลิต 2556/57 รัฐบาลตั้งเป้าหมายใช้เงินสำหรับโครงการรับจำนำเพิ่มอีก 2.7 แสนล้านบาท ปัจจุบัน ธ.ก.ส.ยังไม่มีเงินที่จะใช้ในโครงการดังกล่าว ทำให้เกษตรกรที่มีใบประทวนจำนวนมาก ยังไม่สามารถมาขึ้นเงินกับ ธ.ก.ส.ได้ จนกว่าเงินกู้ดังกล่าวจะส่งถึงมือ ธ.ก.ส.

ที่ผ่านมา รัฐบาลไม่ได้มีปัญหาด้านแหล่งเงินกู้ แต่มีปัญหาว่า การกู้เงินนั้น จะติดเพดานการก่อหนี้สาธารณะ ทำให้ต้องรัฐบาลต้องเร่งระบายข้าว เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ เมื่อระดับหนี้ลดลง รัฐบาลก็มีเพดานกู้ได้เพิ่ม ในปีการผลิตนี้ รัฐบาลมีวงเงินที่สามารถกู้ได้เพิ่มอีก 1.4 แสนล้านบาท เมื่อแหล่งกู้เงินจำนำข้าวที่มีต้นทุนต่ำส่งสัญญาณสะดุด ก็ต้องจับตาว่า ต้นทุนโครงการที่สูงขึ้น จะทำให้ประชาชนเป็นหนี้เพิ่มอีกจำนวนเท่าใด