ถนนทุกสายยังมุ่งหน้าสู่อเมริกา

ถนนทุกสายยังมุ่งหน้าสู่อเมริกา

แม้เส้นทางของนักลงทุนจะเบนเข็มไปยังประเทศเกิดใหม่ต่างๆ ทั่วโลก หากแต่เส้นทางทางการศึกษาของแรงงานรุ่นใหม่ยังคงมุ่งหน้าเข้าสู่สหรัฐอเมริกา

หากเปรียบเทียบทรัพยากรบุคคล เป็นสินค้าประเภทหนึ่ง ตัวบุคคลอาจจะเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของนานาชาติซึ่งมุ่งหน้าสู่อเมริกาจำนวนกว่าสี่ล้านคนต่อปีและมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจำนวนดังกล่าวมากขึ้นเป็นสองเท่าจากจำนวนนักเรียนต่างชาติในปี 2000 จากการเก็บข้อมูลของ Institute of International Education ณ ปี 2012 พบว่านักศึกษาชาวจีนมีสัดส่วนมากที่สุด หรือคิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนนักศึกษาต่างชาติทั้งหมด รองลงมาคือนักศึกษาจากอินเดียเกาหลีใต้ บราซิลและซาอุดีอาระเบียซึ่งสองประเทศหลังนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีล่าสุด และขยับขึ้นเป็นอันดับ 4 ของจำนวนนักศึกษาต่างชาติในสหรัฐฯ โดยเป้าหมายของนักศึกษาต่างชาติเหล่านี้คือ การมารับความรู้ที่เข้มข้นที่สุดและนำความรู้ที่ได้กลับไปสร้างประโยชน์ให้กับประเทศของตน

ในทางตรงกันข้าม นักศึกษาอเมริกันจำนวนน้อยเลือกเส้นทางในการศึกษาต่อต่างประเทศ เหตุผลหลักคือ สหรัฐฯ มีสถานศึกษาคุณภาพจำนวนมากที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายในทุกรัฐ อีกทั้งมหาวิทยาลัยในกลุ่ม Ivy League ซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยดีที่สุดในโลกตั้งอยู่ที่อเมริกาเต็มไปด้วยความพร้อมของทรัพยากรทางการศึกษา เช่น ฐานข้อมูล ที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลจำนวนมาก สามารถเข้าถึงได้ง่ายและไม่เสียค่าใช้จ่าย หรือบุคลากรทางวิชาการจากทั่วโลกซึ่งมีประสบการณ์ที่พร้อมจะชี้แนะแนวอันมีค่าที่จะนำไปประยุกต์ใช้ต่อในอนาคต นักศึกษาอเมริกันจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกไปแสวงหาความรู้จากที่อื่น อีกประการหนึ่งคือการที่สหรัฐฯ มีความเป็นหม้อต้มซุป (melting pot) ซึ่งหลอมรวมคนจากหลายเชื้อชาติหลายภาษา ทำให้ประเทศนี้กลายเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่ของการฝึกทักษะการใช้ชีวิตท่ามกลางวัฒนธรรมที่แตกต่างได้เป็นอย่างดี

หากกล่าวอย่างตรงไปตรงมา นักศึกษาต่างชาติสามารถสร้างรายได้กว่าปีละ 24 พันล้านดอลลาร์ (จากข้อมูลของปีการศึกษาที่ผ่านมาเฉพาะค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเรียน) อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากผลประโยชน์ที่สามารถคำนวณเป็นตัวเลขได้แล้วการรับนักศึกษาหัวกะทิจากต่างชาติให้เข้ามาศึกษาในประเทศยังสร้างประโยชน์อันประเมินมูลค่าไม่ได้ จากการค้นคว้าวิจัย การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ๆ ระหว่างศึกษาในสหรัฐอเมริกาอีกด้วย

นักศึกษาต่างชาติจำนวนมากต้องการหางานในสหรัฐฯ หลังจบการศึกษา นายจ้างเองพอใจที่จะจ้างเนื่องจากบัณฑิตจบใหม่เหล่านี้มักเลือกศึกษาในสาขาวิชาที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานสหรัฐฯ เช่น วิศวกรรมศาสตร์ คณิตศาสตร์ สถิติ วิทยาศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ บัณฑิตจากต่างชาติยังพอใจในรายได้ที่ต่ำกว่าบัณฑิตชาวอเมริกันที่จบการศึกษาในระดับเดียวกัน บางส่วนต้องการลงทุนในสหรัฐฯ ด้วยเห็นโอกาสทางธุรกิจ เช่น พลังงานราคาถูก แรงงานมีฝีมือ และการคุ้มครองทางกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนในทรัพย์สินทางปัญญา เช่น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเทคโนโลยี เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลังจากปัญหาผู้อพยพจำนวนมากหลั่งไหลสู่อเมริกาเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าทั้งที่ถูกกฎหมายและชาวโรบินฮู้ด ส่งผลให้การจัดสรรสวัสดิการพื้นฐานของรัฐอันพลเมืองทุกคนพึงจะได้รับไม่เพียงพอต่อชาวอเมริกัน เช่น บริการทางการศึกษา และบริการทางสาธารณสุข ดังเห็นได้จากการผลักดันการปฏิรูประบบประกันสุขภาพ หรือโอบามาแคร์ ของประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งกำลังเป็นที่โต้เถียงกันอย่างหนักในสภาสหรัฐฯ ขณะนี้สหรัฐฯ จึงพยายามสร้างข้อกำหนดที่ซับซ้อนยุ่งยากต่อชาวต่างชาติที่จะประกอบอาชีพและลงหลักปักฐานในสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการไหลทะลักของผู้อพยพในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้อพยพจากประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่ด้อยกว่า จนส่งผลต่อการจัดระเบียบประเทศในรูปแบบที่รัฐบาลต้องการและเหมาะสมต่อความต้องการพื้นฐานของพลเมืองชาวอเมริกัน

แม้ว่าในปัจจุบัน สหรัฐฯ จะต้องเผชิญกับรายการปัญหามากมายทั้งในและนอกประเทศที่รอการแก้ไข จนหลายฝ่ายตั้งคำถามว่า ในอนาคตอันใกล้สหรัฐฯ ยังจะเป็นมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลกอยู่หรือไม่ ข้อมูลดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า สหรัฐอเมริกามี "จุดแข็ง" ประการหนึ่งที่เกิดจากการบ่มเพาะมาอย่างยาวนานและยากที่ประเทศอื่นจะแข่งขันได้

ปัจจัยทำให้สหรัฐอเมริกายังคงความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและเป็นมหาอำนาจสำคัญของโลกคือ ทรัพยากรบุคคลตั้งแต่ระดับหัวกะทิจากหลากหลายเชื้อชาติ ซึ่งมุ่งหน้าแสวงหาโอกาสทางการศึกษาและความก้าวหน้าในอาชีพการงานในสหรัฐอเมริกา ความซับซ้อนทางโครงสร้างทางธุรกิจ สังคมและการเมืองเป็นเครื่องมือที่ช่วยหล่อหลอมความรู้ความสามารถและกระบวนทัศน์ทางความคิดของบุคคลที่อยู่ในสภาพแวดล้อมดังกล่าวให้เป็นผู้ที่มีความรอบด้าน สามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับการทำงานต่อไปในอนาคต

สภาพสังคมที่เต็มไปด้วยวัฒนธรรมอันหลากหลาย ยังช่วยสร้างทักษะการทำงานข้ามวัฒนธรรมร่วมกับผู้อื่น ซึ่งเป็นทักษะการเอาตัวรอดที่สำคัญสำหรับแรงงานยุคใหม่ ซึ่งมีแนวโน้มจะทำงานในองค์กรข้ามชาติ และยังเป็นการปูทางสู่การทำงานในยุคโลกาภิวัตน์ ยิ่งไปกว่านั้นการกระจุกตัวและเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่งระหว่างเอกชน-รัฐ-สถาบันการศึกษา เช่น การก่อตั้งซิลิคอน วัลเลย์ หรือฮอลลีวูด ยังทำให้เกิดการสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการและทักษะจากการปฏิบัติงานจริง ที่นำไปสู่การขับเคลื่อนพลวัตของการพัฒนาที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ และไม่รอให้ใครตามทัน

ความท้าทายที่เป็นโจทย์สำคัญของสหรัฐอเมริกาในตอนนี้คือ จะรักษาคลังสมองจากต่างชาติที่เข้ารับการศึกษาในอเมริกาไว้อย่างไรให้อยู่ในระดับที่สมดุล และจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศมากที่สุด เพื่อให้แรงงานเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ยังคงความเป็นหนึ่งตลอดกาล ในทางตรงกันข้าม ประเทศภูมิลำเนาของบัณฑิตจบใหม่เองก็ต้องพยายามหาทางจูงใจแรงงานคุณภาพเหล่านี้กลับบ้านเกิดและป้องกันปัญหาสมองไหล เพื่อให้แรงงานคุณภาพสามารถสร้างคุณูปการอันจะยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่อไปในอนาคต