จาก "อันเฟรนด์" ถึง "ดักแด้สารสนเทศ": สื่อสารการเมืองไทย ณ พ.ศ.2556

จาก "อันเฟรนด์" ถึง "ดักแด้สารสนเทศ": สื่อสารการเมืองไทย ณ พ.ศ.2556

การเคลื่อนไหวคัดค้านร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่เป็นเพียงปรากฏการณ์ทางการเมืองที่สำคัญ ทว่ายังสะท้อนภาพ

การสื่อสารการเมืองในมิติใหม่ๆ ที่ออกจะน่ากังวลด้วย โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ที่ผู้ใช้สื่อคือผู้กำหนดและเลือกสรรทั้งเนื้อหาที่จะเปิดรับและผู้คนที่จะมีปฏิสัมพันธ์ด้วย

ขุมข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ตซึ่งมีอยู่มหาศาลและเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าสื่อใดๆ ทำให้มักเกิดความเข้าใจไปว่า ผู้ใช้น่าจะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้หลากหลาย ด้วยเสรีภาพในการเลือกและการแสดงออกที่สูงกว่าสื่ออื่นๆ ขณะเดียวกัน สังคมประชาธิปไตยก็น่าจะมั่งคั่งยิ่งขึ้นด้วยตลาดเสรีทางความคิดและช่องทางต่างๆ ในไซเบอร์สเปซที่เปิดกว้างให้มีส่วนร่วมทางการเมือง ตลอดจนการมีพื้นที่เสมือนซึ่งสามารถจะเป็นเวทีในการปรึกษาหารือในประเด็นสาธารณะใดๆ โดยตัดข้ามอุปสรรคทางกายภาพไม่ว่าจะเป็นเรื่อง เวลา หรือ สถานที่

อย่างไรก็ดี เสรีภาพในการแสดงออกและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารแม้จะเป็นพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตย แต่แนวทางการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตที่ถูกกำกับโดย ทัศนคติ รสนิยม และอุดมการณ์แบบปัจเจกหรือแบบเดียวกับกลุ่มที่คิดเหมือนๆ กันมากขึ้นเรื่อยๆ อาจนำไปสู่ภาวะของความคับแคบแห่งโลกทัศน์ทางการเมืองซึ่งย่อมไม่เป็นผลดีกับสังคมประชาธิปไตยที่พึงดำรงอยู่บนความหลากหลาย และพหุนิยมทางความคิดของพลเมือง

และนี่ก็เป็นปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในการสื่อสารของพลเมืองที่ตื่นตัวทางการเมืองในกรณีการเคลื่อนไหวคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ นอกเหนือจากสื่อการเมืองในโทรทัศน์ดาวเทียมที่มีวาระแบบแบ่งขั้วเป็นที่ชัดเจนอย่าง ช่องบลูสกาย ช่องเอเอสทีวี ผู้จัดการ และ ช่องเอเชียอัปเดต สื่อสังคมออนไลน์นับว่าทรงอานุภาพที่สุดในการแพร่กระจายกระแสต่อต้านและระดมพลสู่เวทีการประท้วงการเคลื่อนไหวต่อต้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ด้วยการสื่อสารแบบเครือข่ายและการทำการตลาดทางสังคมแบบไวรัส

ขณะที่ ช่องทีวีดาวเทียมดังกล่าวไปข้างต้นทำการโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองในรูปแบบเดิมๆ อย่างแข็งขัน สื่อออนไลน์โดยเฉพาะเครือข่ายสังคมออนไลน์จะเปิดพื้นที่ให้ผู้ใช้เชื่อมโยงติดตามและแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับบรรดา “เฟรนด์” (friend) (ซึ่งอาจไม่ใช่ “เพื่อน” ในโลกของชีวิตจริงก็ได้) ในช่วงเวลาปกติ ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์หลายคนอาจยอมรับเป็น “เฟรนด์” กับคนที่ไม่ใช่เพื่อนหรือคนคุ้นเคยในชีวิตจริง หากในภาวะความตึงเครียดทางการเมืองอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้ หลายคนก็อาจจะ “อันเฟรนด์” (unfriend) หรือตัดขาดความสัมพันธ์ในโลกออนไลน์จากเพื่อนในชีวิตจริงที่คิดต่างเห็นต่างจากตนเองในทางการเมืองเพราะยอมรับความแตกต่างนั้นไม่ได้ เรียกว่า “เสียเพื่อนเพราะการเมือง” ก็น่าจะไม่ผิดนัก

เพื่อนของผู้เขียนคนหนึ่งปรารภขึ้นมาในสถานภาพ (status) บนเฟซบุ๊คของเธอว่า ตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมต่อต้านร่างพ.ร.บ.เจ้าปัญหานี้ ได้ถูก “อันเฟรนด์” จากคนในเครือข่ายของเธอกว่า 30 รายแล้ว แต่เธอก็น้อมรับอย่างเปิดกว้างว่าไม่เป็นไร หากบรรดา “เฟรนด์” คนใดรู้สึกทนไม่ได้กับจุดยืนทางการเมืองและการสื่อสารอัตลักษณ์ทางการเมืองของเธอ (ผ่านการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ การอัพโหลดรูปกิจกรรมทางการเมือง การแสดงออกด้วยถ้อยคำ การเชื่อมโยงข้อมูลไปยังลิงก์ต่างๆ หรือ แม้แต่การกดไลค์) ก็เชิญกลั่นกรองเธอออกจากการรับรู้ได้ตามสบาย เพราะเป็นเสรีภาพที่พึงทำได้

คำปรารภดังกล่าวทำให้ผู้เขียนฉุกคิดถึงแนวคิดหนึ่งเกี่ยวกับการสื่อสารผ่านสื่อและนัยต่อประชาธิปไตยที่เรียกว่า “ดักแด้สารสนเทศ” (information cocoons) ของนักวิชาการอเมริกัน ชื่อ แคส ซันสเทน (Cass Sunstein) ซึ่งอธิบายถึงภาวการณ์ที่ผู้ใช้สื่อพยายามหลีกเลี่ยงไม่เปิดรับข่าวสารหรือความคิดเห็นใดๆ ที่พวกเขาไม่ต้องการได้ยิน เพราะขัดกับความเชื่อและทัศนคติส่วนตัว เทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างสื่อสังคมออนไลน์แบบเฟซบุ๊คเปิดช่องให้การกลั่นกรองเนื้อหาที่ไม่ “ถูกใจ” สามารถทำได้อย่างง่ายดาย ด้วยการตั้งกลุ่มเฉพาะซึ่งกำหนดค่าได้ว่าจะให้เป็นส่วนตัว เป็นกลุ่มเปิด กลุ่มปิด หรือให้เป็นกลุ่มลับไปเลยก็มี และยังสามารถปิดกั้นเนื้อหาของ “เฟรนด์” ที่เราไม่อยากเห็นไม่ให้มาปรากฏในฟีดข่าว (News feed) ของเรา หรือกลั่นกรองสิ่งที่เราโพสต์ไม่ให้ไปปรากฏคนในฟีดข่าวของคนที่เราไม่พึงประสงค์จะให้รับรู้ก็ได้

ในช่วงการเคลื่อนไหวคัดค้านร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ผู้เขียนสังเกตเห็นแนวโน้มชัดเจนของคนที่คิดเหมือนๆ กันจะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในประเด็นเดียวกันเกี่ยวกับตัวกฎหมาย นักการเมือง พรรคการเมือง รัฐบาล แกนนำการประท้วง และแม้แต่เกี่ยวกับผู้ที่ออกมาแสดงบทบาทต่างๆ ในการคัดค้าน พ.ร.บ.อย่างดารา คนมีชื่อเสียง หรือนักวิชาการ แต่แทบไม่เจอการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนจุดยืนและมุมมองที่แตกต่าง พูดอีกอย่างก็คือ พลเมืองไทยที่ไม่เฉยบนพื้นที่ออนไลน์ (และอาจจะออฟไลน์ด้วย) นั้นแสดงการมีส่วนร่วมทางการเมืองอยู่ในขั้วของตัวใน “ดักแด้สารสนเทศ” ที่อบอุ่นด้วยพวกพ้องสีเดียวกันเท่านั้น แต่ไม่ข้ามไปสร้างพื้นที่ตรงกลางเพื่อทำความเข้าใจกับคนที่คิดต่างเห็นต่าง เพราะประเมินว่าอีกฝั่งฝ่ายไม่มีค่าเพียงพอ เนื่องจากไม่มีฐานคิดที่ “ถูกต้อง” แบบกลุ่มของตน

คงไม่ต้องประเมินซ้ำอีกครั้งว่าภาวะ “ดักแด้สารสนเทศ” นี้ไม่เป็นผลดีต่อประชาธิปไตยเลย เพราะไม่เอื้อต่อการสร้างภาวะความหลากหลายและพหุนิยมในสังคมอันจะนำไปสู่ สังคมที่ไม่คับแคบทางปัญญาและการแสวงหาทางออกร่วมกันของสาธารณะต่อปัญหาสังคม การจะรังสรรค์สิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้พลเมืองก็จำเป็นต้องเปิดรับหรือเปิดโลกทัศน์ให้กว้างต่อเนื้อหาหรือประสบการณ์ที่อาจไม่ได้คาดหวัง ไม่ได้เลือก แต่ก็เป็นประสบการณ์ร่วมของคนในสังคม เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม

ในการวิเคราะห์ขั้นสุดท้าย ผู้เขียนเองก็ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับปัญหาที่หยิบยกไว้ แต่จะขอทิ้งท้ายอีกสองคำถามไว้เป็นข้อคิดเพิ่มเติมดังนี้

หนึ่ง จะเกิดอะไรขึ้นกับสังคมประชาธิปไตยและเสรีภาพในการแสดงออกหากผู้คนใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อฟังและพูดกับคนที่คิดเหมือนๆ กันเท่านั้น และ

สอง อินเทอร์เน็ตซึ่งให้ทางเลือกด้านข้อมูลข่าวสารแบบไร้ขีดจำกัดจะมีประโยชน์อะไรหากพลเมืองผู้ใช้กลั่นกรองข้อมูลที่เปิดรับให้อยู่ในกรอบแคบๆ ตามความสนใจและจุดยืนในเรื่องต่างๆ ของแต่ละบุคคล หรือกลุ่มที่ตนเห็นพ้องด้วยเท่านั้น