รู้จัก Halo Effect

รู้จัก Halo Effect

ใจมนุษย์นั้นถูกลวงได้ไม่ยากหากเจ้าของไม่ตระหนักถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นและการถูกลวงอาจสร้างความเสียหายให้ได้มากมาย

สาเหตุสำคัญของการลวงใจอันหนึ่งก็คือสิ่งที่เรียกว่า Halo Effect

“.....เห็นเขาหล่อดี หนูก็เลยชอบเขา.....” พุ่มพวง ดวงจันทร์ ราชินีลูกทุ่ง เคยร้องไว้เมื่อกว่า 20 ปีมาแล้ว เป็นทำนองรำพึงรำพันว่าเมื่อเห็นหน้าตาดีก็เลยไม่ได้พิจารณาด้านอื่นๆ ให้รอบคอบมันก็เลยเกิดปัญหาขึ้น พวกเราทุกคนอาจมีปัญหาในลักษณะเดียวกับพุ่มพวง เพราะสิ่งที่เรียกว่า Halo Effect นั้นมันบดบังตาและบังใจได้ดีนัก

Edward Thorndike นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเป็นผู้บัญญัติคำว่า Halo Effect ในบทความชื่อ “The Constant Error in Psychological Ratings” (1920) Halo นั้นหมายถึงแสงสว่างเป็นวงกลมอยู่เหนือศีรษะของนักบุญในคริสต์ศาสนาซึ่งส่อความหมายของความศักดิ์สิทธิ์ หรือมีอะไรพิเศษน่าชื่นชม

Halo Effect จึงหมายความถึงผลที่เกิดจากการเป็น “คนพิเศษ” ดังเช่นความหล่อของชายในเพลงของพุ่มพวงจนบดบังลักษณะด้อยอื่นที่เธอควรจะได้เห็นเสียหมด

Halo Effect ทำให้เกิดความเอนเอียง (bias) วิจารณญาณของบุคคลหนึ่งที่มีต่ออีกบุคคลหนึ่งในภาพรวมถูกบดบังโดยลักษณะพิเศษเสียหมด ปรากฏการณ์นี้มนุษย์เผชิญอยู่โดยอาจไม่รู้ตัวและเกิดขึ้นในทุกวงการในทุกเวลา

Thorndike ทำการทดลองทางสถิติโดยให้นายทหาร 2 คน ประเมินทหารผู้ใต้บังคับบัญชาในด้านกายภาพ (ความเป็นระเบียบ เสียง รูปร่าง หน้าตา ความแข็งขัน) ด้านความเฉลียวฉลาด ทักษะความเป็นผู้นำ และคุณลักษณะส่วนตัว เช่น ความไว้วางใจได้ ความจงรักภักดี ความรับผิดชอบ ความไม่เห็นแก่ตนเอง ความร่วมมือ ฯลฯ เขาพบว่าบางลักษณะจากข้างต้นมีความสัมพันธ์กันสูงอย่างผิดสังเกต กล่าวคือรูปร่างหน้าตากับความเฉลียวฉลาด รูปร่างหน้าตากับความเป็นผู้นำ รูปร่างหน้าตากับบุคลิกอุปนิสัยที่น่าพึงปรารถนา

ข้อสรุปก็คือ รูปร่างหน้าตาดีดูจะมีสหสัมพันธ์กับคุณลักษณะอื่นอย่างไม่น่าจะเป็นปกติ ซึ่งหมายความว่ามี Halo Effect เกิดขึ้น กล่าวคือความมีหน้าตาดีกับคุณลักษณะที่พึงประสงค์อื่นๆ จะตามไปด้วยกัน

ในงานศึกษาอื่นๆ ในเวลาต่อมา ก็ยิ่งพิสูจน์ได้ชัดยิ่งขึ้นว่าการมีลักษณะกายภาพที่ประกอบกันจนเห็นว่าเป็นการหน้าตาดีนั้นส่อให้คนอื่นๆ คิดว่าจะเป็นคนฉลาด มีความเมตตากรุณา ประสบความสำเร็จ ฯลฯ

คนหน้าตาดีไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้เกิด Halo Effect ความร่ำรวย การศึกษา ฐานะทางสังคม เสน่ห์ ความสามารถในการทำงาน ความเป็นคนเก่ง ความเป็นคนพูดเก่ง ฯลฯ ก็เป็นสาเหตุได้เช่นกัน การไม่ตระหนักถึง Halo Effect จากสถานะเด่นต่างๆ ข้างต้นอาจทำให้บุคคลตัดสินใจผิดพลาดเพราะถูกลวงตา

การหลงใหลในความหล่อความสวยมักทำให้ทึกทักเอาเองว่าเป็นคนดีและฉลาดด้วย ทั้งนี้ เพราะ Halo Effect ทำงานเสมอไม่หยุดพัก สร้างความปวดร้าวมายาวนานในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เพราะ Halo Effect ทำให้วิจารณญาณเสื่อมถอยเนื่องจากความหน้าตาดีบดบังคุณลักษณะอื่นๆ ที่มีอยู่ด้วย

ถ้าประยุกต์ Halo Effect เข้ากับเรื่องอื่นๆ ก็จะพบว่าเรามักซื้ออาหารหน้าตาน่ากิน เพราะคาดว่าต้องอร่อยและสะอาดโดยไม่คำนึงถึงว่าโดยแท้จริงแล้วการประกอบอาหารนั้นถูกสุขอนามัยหรือไม่ เราโดดเข้าซื้อหุ้นตัวที่ราคาเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นมากโดยมิได้พิจารณาเหตุของการเปลี่ยนแปลงหรือคุณภาพของการบริหารบริษัท

เราเลือกงานที่ให้ผลตอบแทนดีโดยไม่คำนึงถึงว่างานนั้นจะช่วยเพิ่มพูนทักษะและความสามารถให้แก่เราได้มากน้อยเพียงใด เราชื่นชมคนขับรถราคาแพง อยู่บ้านหลังใหญ่ โดยไม่ได้ตระหนักถึงว่าเขามีลักษณะอื่นๆ ที่พึงประสงค์ดังที่เคยเราคาดคิดไว้หรือไม่

เป็นที่น่าอนาถใจว่าในสังคมไทยความชื่นชมความรวยสนับสนุนให้เกิด Halo Effect ที่รุนแรงจนบดบังการพิจารณาในเรื่องคุณธรรมไปอยู่บ่อยๆ คนไทยน่าจะเลิกเชื่อได้แล้วว่าคนรวยแล้ว ไม่โกง ในชีวิตผมเห็นแต่เศรษฐีไทยจำนวนหนึ่งยิ่งรวยก็ยิ่งโกง และยิ่งงกด้วย

มนุษย์เราถูกหลอกกันไม่เว้นแต่ละวันโดยตนเองเป็นคนหลอกเพราะลุ่มหลงชื่นชมในลักษณะเด่นจนละเลยที่จะพิจารณาองค์ประกอบอื่นๆ ไปสิ้น

หนทางพิสูจน์ม้าฉันใด กาลเวลาและลักษณะรวมโดยเฉพาะประวัติชีวิตและอันตรนิสัยก็พิสูจน์คนฉันนั้น