แปลงร่างเปลี่ยนรูปของสังคมไทย : จากการเมืองถึงสื่อสาธารณะ

แปลงร่างเปลี่ยนรูปของสังคมไทย : จากการเมืองถึงสื่อสาธารณะ

หากใครพอจะจำได้กับเนื้อหาเพลงของไทยเราที่ว่า "ลามะลิลา ขึ้นต้นเป็นมะลิซ้อน พอแตกใบอ่อนเป็นมะลิลา" ซึ่งพูดถึงการเปลี่ยนรูปของดอกมะลิ

ที่ดูจากต้นกำเนิดน่าจะทรงคุณค่า แต่พอโตไปโตมา มันดังออกมาเป็นมะลิลาไร้ราคาจนน่าสลดใจ

การเปรียบเปรยของเนื้อหาเพลงนี้คงจะบรรยายได้ถึงหลายๆ เรื่องในเมืองไทยที่ตอนแรกดูท่าจะดี มีอุดมการณ์แต่พอเวลาผ่านไป อุดมการณ์กลับหดหาย เหลือเพียงผลประโยชน์ของพวกพ้องที่เป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนอะไรต่อมิอะไรให้ดำเนินต่อไป

บรรยากาศทางการเมืองเดือนพฤศจิกายนนี้ดูท่าจะคุกรุ่นฝุ่นตลบด้วยหลากเรื่องหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ. นิรโทษกรรมวาระ 3 การตัดสินของศาลโลกในคดีปราสาทเขาพระวิหาร และการพิจารณาร่างกฎหมายการแก้ไขที่มาของ ส.ว. ให้มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็ส่อเค้าความตึงเครียด เพราะโดยหลักๆ ก็เนื่องมาจากประเด็นเหล่านี้จะกระทบผลประโยชน์และโครงสร้างอำนาจของท่านๆ ทั้งหลายที่อยู่ในทำเนียบ ในสภา รวมถึงคนไกลจากต่างแดน ซึ่งการแก้ปัญหาใด ในข้างต้นหากเอาผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่ตั้ง แล้วใช้อุดมการณ์ทางการเมืองเป็นเครื่องมือ ความขัดแย้งต่างๆ ก็หาทางจบลงได้ยาก และสามารถทำมะลิซ้อนให้เป็นมะลิลาได้

สำหรับแวดวงสื่อก็ใช่ย่อย ตอนนี้หลายๆ อย่างกำลังกลายรูปมาเป็นมะลิลาที่กำลังจะพากันเข้าสู่ทางตัน โดยเฉพาะกรณีการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีทีวีภาคพื้นจากอนาล็อกเป็นดิจิทัล ซึ่งได้กันคลื่นความถี่ในการออกอากาศสำหรับกิจการประเภทบริการสาธารณะไว้ถึง 12 ช่อง จากทั้งหมด 48 ช่อง โดยมีการแบ่งประเภททีวีสาธารณะดังกล่าวออกเป็น 3 ประเภท คือ

ประเภทที่ 1 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการส่งเสริมความรู้ การศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็จะเน้นเนื้อหาที่คล้าย ๆ กับสถานีไทยพีบีเอสในปัจจุบัน

ประเภทที่ 2 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งประเภทนี้จะพิเศษกว่าใครเพื่อนตรงสามารถหารายได้จากการโฆษณาได้ด้วย

และสุดท้ายคือ ประเภทที่ 3 ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อการกระจายข้อมูลข่าวสารเพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลกับประชาชนและรัฐสภากับประชาชน ส่งเสริมสนับสนุนในการเผยแพร่และให้การศึกษาแก่ประชาชนเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งช่อง 11 ก็ออกแนวว่าสอดคล้องกับประเภทดังกล่าวนี้อยู่

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีความพยายามของหน่วยงานราชการต่างๆ จับจองพื้นที่ เพื่อใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่เป็นสินทรัพย์ขององค์การในการโฆษณาองค์การและเป็นแหล่งรายได้ ซึ่งเหมือนการปฏิรูปสื่อผ่านการขับเคลื่อนด้วยความทันสมัยของเทคโนโลยีในครั้งนี้ จะทำให้เราได้สื่อสาธารณะแบบไทยๆ มาให้ดูเล่นกันอีก 12 ช่อง เป็น "มะลิลา" ที่ย้อนแย้งกับ "มะลิซ้อน" ของการเป็นสื่อสาธารณะตามหลักสากล ซึ่งเน้นความเป็นอิสระจากรัฐและทุน โดยพร้อมที่จะเปิดพื้นที่ให้สื่อสะท้อนผลประโยชน์สาธารณะของสังคมให้มากที่สุด

ทั้งนี้ หากศึกษาจากข้อตกลงเกี่ยวกับคุณสมบัติของการเป็นสื่อเพื่อบริการสาธารณะในคณะมนตรีสหภาพยุโรป (Council of Europe) จะเห็นว่าแท้จริงแล้ว การใช้สื่อเพื่อบริการสาธารณะนั้นต้องมีองค์ประกอบ 6 ประการด้วยกัน ได้แก่ 1) ต้องมีความทั่วถึงในแง่ของการแพร่ภาพกระจายเสียงที่ส่งไปถึงคนส่วนใหญ่ในสังคมเพราะการเป็นสื่อที่ดีคือต้องสื่อสาระถึง หากสื่อสารไม่ถึงผู้ชมคนดูก็เป็นอันจบ 2) ต้องมีความหลากหลายในเชิงเนื้อหา รูปแบบการนำเสนอ และประเด็นสาธารณะที่ถกเถียง 3) ต้องมีความเป็นกลาง น่าเชื่อถือ เป็นที่พึ่งด้านข่าวสารของผู้ชมผู้ฟังได้ 4) ต้องเป็นสถาบันตัวแทนที่สร้างอัตลักษณ์ของชาติ 5) มีความเป็นอิสระจากอำนาจทุนและอำนาจทางการเมือง และ 6) ซึ่งเป็นผลพวงจากความเป็นอิสระนี้เองจึงนำมาสู่การเป็นอิสระในการหารายได้ที่ต้องได้รับเงินอุดหนุนจากประชาชนโดยตรงคนดูเป็นหลัก ทั้งนี้ เพื่อให้สื่อเพื่อบริการสาธารณะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความหลากหลาย สร้างภูมิปัญญาในการเรียนรู้ อันจะส่งเสริมประชาธิปไตยและการอดรนทนได้ระหว่างความแตกต่างของผู้คนในสังคม

อย่างไรก็ตาม รูปแบบของสื่อเพื่อบริการสาธารณะที่กำลังจะคลอดมาหลังการเปลี่ยนผ่านไปสู่ทีวีดิจิทัลนี้ดูจะออกมาในแนว "เหล้าเก่าในขวดใหม่" ที่จับเอาของเดิมมาอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล แบ่งผลประโยชน์ให้ลงตัวกันไปเท่านั้น ดังนั้น อุดมการณ์ที่ว่าด้วยการปฏิรูปสื่อไปสู่การขับเคลื่อนสังคมประชาธิปไตยก็คงเป็นเพียงภาพลวงของต้น "มะลิซ้อน" ที่เอาไว้ขับเคลื่อนผลประโยชน์ชุดเดิมๆ จนออกมาเป็นต้น "มะลิลา" ที่ไม่ได้ยกระดับสื่อกระจายเสียงและสื่อทีวีให้เป็นอิสระอย่างแท้จริง

และที่สำคัญไม่รู้ว่าท้ายสุด การกำเนิดทีวีเพื่อบริการสาธารณะในรูปแบบนี้จะทำให้เราจะเอาทรัพยากรสื่อไปแลกกับการโฆษณาชวนเชื่อที่ไม่มีคนดูหรือไม่ อันนี้ก็ต้องติดตามตอนต่อไป