หลีกเลี่ยงหายนะ จากวิกฤติตลาดหุ้น

หลีกเลี่ยงหายนะ จากวิกฤติตลาดหุ้น

สิ่งที่ผมกลัวที่สุดอย่างหนึ่ง ในการลงทุนในตลาดหุ้นคือ วิกฤติตลาดหุ้น เพราะวิกฤติทำหุ้นตกมาก

ผมเองนิยามว่าถ้าดัชนีตลาดลดลงตั้งแต่ประมาณ 40% ขึ้นไปในระยะหนึ่งปี แบบนี้เป็นวิกฤติ และถ้าถือหุ้นไว้เต็มพอร์ตก็อาจขาดทุนหลายสิบเปอร์เซ็นต์ได้

ทั้งที่หุ้นถืออยู่อาจมีพื้นฐานผลประกอบการดีอยู่

อย่างไรก็ตาม บางครั้งวิกฤติตลาดหุ้นก็ฉุดพื้นฐานบริษัทเปลี่ยนแปลงไป และการขาดทุนอาจหนักจนแทบจะเป็น หายนะ ดังนั้นหน้าที่หลักอย่างหนึ่งที่สำคัญมากคือการพยายามหลีกเลี่ยง หายนะ ซึ่งรวมถึงหายนะจากภาวะตลาดหุ้น

ผมลองศึกษาคร่าว ๆ ดูถึงผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นว่าถ้าเราสามารถเลี่ยงหายนะที่เกิดจากวิกฤติตลาดหุ้น ตั้งแต่เปิดตลาดมาจนถึงปัจจุบัน ผลตอบแทนจะเป็นอย่างไร?

เริ่มตั้งแต่เปิดตลาดหลักทรัพย์ในเดือนเม.ย. 2518 จนถึงสิ้นปี 2521 เป็นเวลาประมาณ 3 ปีแปดเดือน ดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 100 จุดเป็นประมาณ 258 จุด หรือเพิ่มขึ้นราว 160% เท่ากับผลตอบแทนทบต้น ปีละประมาณ 29.5% ถือว่าหุ้นบูมอย่างหนัก โดยเฉพาะช่วงปี 2520 ถึง 2521 ส่วนหนึ่งจากการปั่นหุ้นและการใช้เงินกู้จากบริษัทเงินทุนบางแห่งเช่นราชาเงินทุน มาซื้อหุ้นดันราคาหุ้นขึ้นสูงเกินพื้นฐานมาก ในช่วงที่ไทยยังไม่มีกฎหมายควบคุมธุรกิจหลักทรัพย์

ในช่วงปลายปี 2521 ถ้านักลงทุนตระหนักว่าตลาดหุ้นกำลังก้าวเข้าสู่วิกฤติ และขายหุ้นออกหมด เขาจะเลี่ยงความเสียหายที่เกิดจากวิกฤติตลาดหุ้นปี 2522 ที่ดัชนีตกลงประมาณ 42% เหลือเพียง 149 จุดตอนสิ้นปีได้ เกือบ 4 ปีแรกของตลาดหุ้นยังไม่มีกองทุนรวมให้ลงทุน แต่นักลงทุนที่ลงทุนช่วงนั้นได้กำไรโดยไม่ต้องเลือกหุ้น เพียงแต่อยู่ในตลาดก็พอแล้ว

สมมุติหลังปีวิกฤติ 2522 นักลงทุนนำเงินกลับลงทุนในตลาดหุ้นใหม่สิ้นปี 2522 หรือต้นปี 2523 ที่ดัชนี 149 จุด และถือไปเรื่อยตราบที่ยังไม่มีสัญญาณวิกฤติรอบใหม่ แม้ช่วงปีแรกตลาดหุ้นซบเซามาก ดัชนีแทบไม่ขยับเลยติดต่อกันประมาณ 6 ปี

แต่จากนั้นหุ้นทะยานขึ้นในปี 2529 และพุ่งแรงในปี 2530 ตามตลาดหุ้นนิวยอร์กปรับเพิ่มขึ้นมากจนถึงเดือนต.ค. ที่เกิดเหตุการณ์ Black Monday ตลาดหุ้นถล่มทลายทั่วโลก อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์แบล็กมันเดย์ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับตลาดหุ้นหรือเศรษฐกิจไทยเลย ตลาดไทยยังเป็นตลาดปิดที่ต่างชาติไม่สามารถลงทุนได้

ตลาดตกลงมาสั้นมากไม่กี่เดือนก็ปรับขึ้นใหม่ คิดว่าหุ้นไทยน่าจะตกไม่ถึง 40% ไม่ถือว่าเป็นวิกฤติตลาดหุ้น ดังนั้นถือหุ้นต่อจนถึงสิ้นปี 2532 ที่ดัชนีปรับขึ้นไปเป็น 770 จุด เราตัดสินใจขายหุ้นไป เพราะเชื่อตลาดหุ้นจะเกิดวิกฤติ หลังจากขึ้นเกือบ 100% ตั้งแต่ต้นปี 2532 ผลตอบแทนที่ได้ราว 17.9% ทบต้นเป็นเวลา 10 ปี

ตลาดหุ้นไทยวิกฤติและตกลงเกือบ 50% ช่วงปี 2533 ผลจากอิรักเข้ายึดคูเวตซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันสำคัญของโลก พอถึงสิ้นปี 2533 เริ่มกลับเข้าไปลงทุนที่ดัชนี 613 จุด ในช่วงต้นๆ ประสบปัญหาการเมืองมากมาย เช่นการปฏิวัติและเหตุพฤษภาทมิฬปี 2535 อย่างไรก็ตามไม่คิดว่าจะกระทบตลาดหุ้นมากมาย

แต่ข้อดีจากนั้นหลังไทยได้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง ที่เน้นด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟูอัตราเติบโตเพิ่มเป็นปีละกว่า 10% ติดต่อกันถึง 3 ปี ราคาอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเป็น ฟองสบู่ เช่นเดียวกับดัชนีหุ้นขึ้นสูงสุดกว่า 1,750 จุดในปี 2537 แต่เรายังไม่ขายเนื่องจากอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจยังดีอยู่มากไม่ต่ำกว่า 7-8% ต่อปี อานิสงส์การลงทุนของเอกชนที่กู้เงินต่างประเทศเข้ามามากมาย

อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นเริ่มปรับตัวลง 25ะ 30% ช่วงปี 2537-2538 พอถึงสิ้นปี 2538 เริ่มเห็นว่าเศรษฐกิจไทยไม่น่าจะไปต่อได้ เนื่องจากการขาดดุลการค้าสูงมาก สินค้าส่งออกของไทยไม่สามารถแข่งขันได้ เนื่องจากค่าเงินบาทที่ถูกผูกติดกับดอลลาร์ จึงขายหุ้นที่ดัชนี 1281 จุด เพื่อเลี่ยงภาวะวิกฤติ ผลตอบแทนที่ได้คือ 15.9% ต่อปี แบบทบต้นในเวลา 5 ปี

ในปี 2539 และ 2540 เศรษฐกิจไทยเกิดวิกฤติครั้งใหญ่สุดของประเทศ เงินสำรองของประเทศหมด และต้องเข้าขอความช่วยเหลือจาก IMF ต้องบอกว่าเรา ล้มละลาย ผลจากใช้เงินเกินตัวของภาคธุรกิจเอกชน และความผิดพลาดของหน่วยงานการเงินรัฐโดยเฉพาะแบงก์ชาติ

ปี 2539 ดัชนีตกลงไปจากจุดสูงสุดประมาณ 41% ปี 2540 ที่ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ดัชนีตกลงอีก 55% พอถึงสิ้นปี เราตัดสินใจเข้าไปลงทุนหุ้นอีกที่ดัชนี 373 จุด ในเวลา 2 ปี หุ้นฟื้นขึ้นเป็น 482 จุด แต่รู้สึกว่าปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะระบบสถาบันการเงินยังไม่สามารถแก้ไขได้ เพื่อความปลอดภัยและลดความเสี่ยงจากหายนะ จึงขายไปได้ผลตอบแทน 13.7% ทบต้น

วิกฤติตลาดหุ้นเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่งเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนตัวลงในปี 2543 ทำให้ดัชนีลดลงจาก 482 เป็น 269 เมื่อสิ้นปี 2543 เป็นการลดลงถึง 44% และเช่นเคย คิดว่าเป็นโอกาสที่จะลงทุนในยามสถานการณ์เลวร้ายที่สุด

เริ่มต้นจากปี 2544 ดูเหมือนเศรษฐกิจไทยจะค่อยๆ ฟื้นตัว การแก้ปัญหาบริษัทต่างๆและสถาบันการเงินคืบหน้าไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับตลาดหุ้นที่ค่อยๆ ปรับตัวขึ้น พอถึงปี 2546 ไทยประกาศใช้หนี้คืน IMF ก่อนกำหนด ทุกอย่างดูสดใสทั้งเศรษฐกิจและการเมืองมั่นคง เนื่องจากได้รัฐบาลมีเสียงสนับสนุนสูง ดัชนีปีนั้นปรับขึ้นถึง 117%

แต่จากนั้นเพียง 2-3 ปี ไทยเกิดปัญหาชุมนุมประท้วงเรียกร้องการเมืองรุนแรง นำไปสู่รัฐประหารปี 2549 อย่างไรก็ตามหุ้นไม่ได้ถูกกระทบอะไรมากนัก เช่นเดียวกับทุกครั้งจนถึงปี 2551 ที่เกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจสหรัฐ และลามทั่วโลกทำให้ดัชนีหุ้นไทยตกลง 47.5% แต่นี่เป็นเรื่องไม่สามารถคาดได้แน่ เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยไม่ได้มีปัญหาอะไร ราคาหุ้นเองไม่แพงเลย

ดังนั้นเราไม่ได้ขายหุ้นเลย และยังคงถือมาตลอดจนถึงวันนี้ที่ดัชนีราว 1400 จุด คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นประมาณ 13.9% ในช่วงเวลา 12 ปี 8 เดือน นับเป็นผลตอบแทนของตลาดดีเยี่ยมยาวนานสุดในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทย

จาก ตุ๊กตา ที่ตั้งขึ้นว่าเราสามารถเลี่ยงหายนะส่วนใหญ่ของวิกฤติตลาดหุ้นได้ ถ้านำภาพเหล่านั้นมาต่อกัน ก็คำนวณได้ว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนจะได้ผลตอบแทนทบต้นสูงถึงประมาณ 17% ต่อปี เป็นเวลาลงทุนประมาณ 33 ปี เงินต้น 100 บาทจะกลายเป็น 19,500 บาท ถ้าคิดรวมปันผลปีละประมาณ 3% ต่อปี จะได้ผลตอบแทนต่อปีแบบทบต้นเท่ากับ 20% เงิน 100 บาทจะกลายเป็นประมาณ 43,000 บาท หรือโตขึ้น 430 เท่า ในเวลาประมาณ 33 ปี โดยไม่ต้องเลือกหุ้นลงทุนเลย

ในชีวิตจริงคงไม่ง่ายที่จะหลีกเลี่ยงจากหายนะของวิกฤติตลาดหุ้นได้ง่ายนัก อย่างไรก็ตาม สำหรับนักลงทุน โดยเฉพาะคนที่เลือกเป็นนักลงทุนผู้มุ่งมั่นจะเลือกหุ้นเอง หัวใจสำคัญอย่างหนึ่งที่มักไม่ค่อยพูดถึงคือการเลี่ยงหายนะจากการลงทุน โดยเฉพาะจากวิกฤติตลาดหุ้น เพราะไม่สามารถคาดการณ์ตลาด ได้

อย่างไรก็ตาม การตระหนักว่านี่คือความเสี่ยง จะช่วยให้เลือกการลงทุนได้ดีขึ้น นั่นคือหากเกิดวิกฤติตลาดหุ้นขึ้น พอร์ตเราจะเป็นอย่างไร? หายนะตามตลาดหรือไม่? ถ้าใช่ อาจต้องเปลี่ยนตัวหุ้นลงทุน