วิกฤตเมืองดีทรอยต์ : บทเรียนสำหรับประเทศไทย

วิกฤตเมืองดีทรอยต์ : บทเรียนสำหรับประเทศไทย

ในวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา เมืองดีทรอยต์ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอการคุ้มครองภาวะล้มละลาย

อันเนื่องมาจากรัฐบาลท้องถิ่นประสบปัญหาภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวกว่า 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการยื่นล้มละลายครั้งนี้ถือว่าเป็นการยื่นล้มละลายของเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ

บทความชิ้นนี้เป็นความพยายามตอบคำถามที่ว่า สาเหตุใดเมืองดีทรอยต์ เมืองที่เคยเป็นเสมือนศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ประสบวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ โดยพิจารณา 3 ปัจจัยหลักดังนี้

1.ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ

ในยุคฟอร์ดนิยม (Fordism) ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1930 - 1970 สหรัฐฯ เน้นการผลิตรถยนต์ที่ได้มาตรฐานเป็นจำนวนมาก เพื่อตอบสนองตลาดขนาดใหญ่ ในราคาที่ต่ำกว่าตลาดรถยนต์ในยุโรป ภายใต้การแทรกแซงของรัฐที่รณรงค์ให้เกิดการซื้อขายรถยนต์ของประชาชนภายในรัฐ ซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สามารถสร้างรายได้มหาศาลให้แก่บริษัทรถยนต์ในเมืองดีทรอยต์ และทำให้ดีทรอยต์กลายมาเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯในเวลานั้น

แต่ในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1970 สหรัฐฯ ต้องพบกับอุปสรรคในการผลิตรถยนต์ ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น หรือรถยนต์จากต่างประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตเทียบเท่าสหรัฐฯ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ในขณะนั้นมีอัตราค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่า จึงสามารถผลิตรถยนต์คุณภาพดีในต้นทุน ที่ต่ำกว่าสหรัฐฯ นอกจากนี้บริษัทยานยนต์สหรัฐฯได้ตัดสินใจผิดพลาดในการขับเคลื่อนบริษัท อาทิ การผลิตรถยนต์ที่มีคุณภาพต่ำ ไม่ตอบสนองความต้องการของตลาด เป็นต้น จากเหตุผลที่ได้กล่าวมาทำให้สหรัฐฯสูญเสียส่วนแบ่งของตลาดรถยนต์และตำแหน่งประเทศที่ผลิตรถยนต์มากที่สุดให้แก่ญี่ปุ่นในคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ในที่สุด

2. ปัจจัยด้านงบประมาณ

จากสถิติแล้ว ในปี ค.ศ.2012 จำนวนประชากรของเมืองดีทรอยต์ มีจำนวนประชากรเหลืออยู่เพียงเพียง 701,750 คน ซึ่งลดลงกว่าร้อยละ 63 จากปี ค.ศ.1950 ที่มีอัตราประชากรกว่า 1.8 ล้านคน ยิ่งไปกว่านั้นประชากรในปัจจุบันร้อยละ 26.7 เป็นผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่ไม่ต้องจ่ายภาษี ร้อยละ 11.5 เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี ที่ไม่ต้องจ่ายภาษีและได้รับเงินบำนาญจากรัฐ และร้อยละ 16 เป็นคนว่างงาน ขณะที่สัดส่วนผู้ไร้ที่อยู่อาศัยมีถึงร้อยละ 46.2 และประชากรที่อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนสูงถึงร้อยละ 36.2 นอกจากนี้จำนวนบ้านกว่า 78,000 หลังและหมู่บ้านกว่า 66,000 หมู่บ้านถูกทิ้งร้าง ดังนั้น เป็นรัฐบาลท้องถิ่นมีแนวโน้มการเก็บภาษีจากประชาชนได้ลดลง แต่ขณะเดียวกัน รัฐบาลมีภาระที่ต้องให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ตกงานและให้บำเหน็จบำนาญแก่คนชราที่มีแนวโน้มเพิ่มจำนวนขึ้น จึงส่งผลต่อรัฐด้านงบประมาณอย่างมาก ในความเป็นจริง รัฐบาลเมืองดีทรอยต์ต้องเผชิญแรงกดดันด้านงบประมาณมาเป็นเวลาหลายทศวรรษแล้ว และรัฐบาลได้มีความพยายามมาหลายปีในการแก้ปัญหาดังกล่าว หนึ่งในนโยบายที่ง่ายที่สุดนั้นคือ การตัดงบประมาณด้านการบริการสาธารณะ และเพิ่มยอดการกู้ยืมเงินให้มากขึ้น ซึ่งทำให้นับวันปัญหาด้านงบประมาณที่รัฐบาลต้องเผชิญ ทวีความรุนแรงขึ้นจนไม่สามารถเยียวยาได้ในที่สุด

3. ปัจจัยด้านสังคม

สภาพสังคมที่ไม่ปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำ ดีทรอยต์ถือเป็นเมืองที่อันตรายที่สุดในสหรัฐอเมริกา ถึงแม้ว่าอัตราการเกิดอาชญากรรม อาทิ การฆาตกรรม การข่มขืนกระทำชำเรา โจรกรรม ลดลงร้อยละ 10 ในปี ค.ศ.2012 แต่อัตราอาชญากรรมดังกล่าวยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 5 เท่า รวมถึงเหตุเพลิงไหม้ 1,000 เหตุการณ์จากทั้งหมด 12,000 เหตุการณ์ที่มาจากการวางเพลิง

จากปัจจัยดังกล่าว ประชากรเมืองดีทรอยต์จึงอพยพไปตั้งถิ่นฐานที่เมืองอื่น ซึ่งทำให้รัฐบาลไม่สามารถเก็บภาษีได้ตามเป้า งบประมาณด้านบริการสาธารณะจึงถูกลดลงตามไปด้วย อันเป็นเหตุทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนแย่ลง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน คือ 2 ใน 3 ของรถพยาบาลไม่สามารถใช้การได้ บริการเรียกสายด่วนตำรวจกินเวลากว่า 58 นาที ซึ่งช้ากว่าค่าเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ 11 นาที หรือปัญหาความยากจน และปัญหาการตั้งครรภ์ในเยาวชนที่สูงกว่าระดับทั่วไปของประเทศ

บทเรียนสำหรับประเทศไทย

แม้มีความคาดหมายว่าประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่จะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง แต่ปัจจัยบางส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น สัดส่วนของประชากรวัยแรงงานที่ลดลง ระบบการศึกษาที่ยังไม่สามารถผลิตคนได้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ทำให้แนวโน้มการขาดแคลนแรงงานจะเพิ่มสูงขึ้นและส่งผลทำให้ประเทศไทยไม่มีความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงานอีกต่อไปเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน

ปัจจัยอื่นๆ ที่ดึงดูดหรือรักษาการลงทุนจากต่างประเทศก็เสื่อมถอยลงเช่นกัน แม้ว่ารัฐบาลไทยมีนโยบายลดอัตราภาษีนิติบุคคลและภาษีอื่นๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ แต่ประเทศคู่แข่งขันของไทยก็สามารถใช้มาตรการภาษีเพื่อดึงดูดการลงทุนได้เช่นเดียวกัน ในขณะที่แนวทางการบริหารการจัดการภัยพิบัติยังขาดความชัดเจน ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้บรรษัทต่างชาติพิจารณาย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อยกระดับการผลิตในประเทศไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มและนวัตกรรมมากขึ้น และเพื่อหนีจากการแข่งขันกับเศรษฐกิจเกิดใหม่ แต่ดูเหมือนว่าภาครัฐและเอกชนในประเทศยังไม่ให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา ซึ่งอาจทำให้ประเทศไทยติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ไม่สามารถพัฒนาขึ้นไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงได้

ประการสำคัญคือปัจจัยทางการเมืองที่พรรคการเมืองแข่งขันกันด้วยนโยบายประชานิยม อันเป็นเหตุให้ประชาชนเริ่มเสพติดนโยบายประชานิยม ประกอบกับสัดส่วนประชากรวัยพึ่งพิงที่เพิ่มสูงขึ้นซึ่งทำให้รัฐบาลมีภาระงบประมาณในการจัดสวัสดิการให้ประชาชนมากขึ้น ภาวะเช่นนี้ทำให้มีความเสี่ยงที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มสูงขึ้น และหากขาดการจัดการที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส แต่มีการคอร์รัปชันในระดับสูง ประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับวิกฤตหนี้สาธารณะในที่สุด

วิกฤตการณ์ของเมืองดีทรอยต์ได้ให้บทเรียนว่า เมืองที่ครั้งหนึ่งเคยยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จกลับจบลงด้วยภาระหนี้สินพ้นตัว เมืองหรือประเทศอื่นๆ ก็อาจมีจุดจบเฉกเช่นเมืองดีทรอยต์ได้เช่นกัน หากผู้บริหารเมืองหรือประเทศขาดความตระหนักและขาดความรอบคอบในการบริหารจัดการ หากมีตัวอย่างที่เป็นบทเรียนเช่นนี้แล้ว ประเทศไทยก็ไม่ควรละเลยหรือมองข้าม แต่ควรนำมาศึกษาและปรับแก้เสียก่อนที่จะสายเกินไป