มองบวกได้บวก

มองบวกได้บวก

เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้เดินทางไปต่างจังหวัดกับเพื่อนสนิทอีก 2 คน วันเดินทางปรากฏว่าฝนตกหนักมาก ทำให้สายการบินต้องเลื่อนเวลาเที่ยวบินให้ออกเดินทางล่าช้าไป 1 ชั่วโมง

เพื่อนของผู้เขียนหนึ่งในสองคน แสดงอาการอารมณ์เสียอย่างหนัก โทษฟ้าโทษฝน เนื่องจากเรา 3 คนจะพลาดเรือเร็วและต้องไปขึ้นเรือข้ามฟากแทนเพื่อที่จะไปถึงจุดหมายปลายทางที่อยู่ห่างจากตัวเมืองเกือบ 3 ชั่วโมง ซึ่งการเดินทางด้วยเรือข้ามฟากนั้นต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่าเรือเร็วถึง 3 เท่า ผู้เขียนได้แต่ฟังเพื่อนบ่นจนเครียด (แทนเพื่อน) หันไปมองเพื่อนอีกคน กลับเห็นว่า เธอนั่งส่ง WhatsApp ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ (ยิ่งเป็นการยั่วยุให้เพื่อนที่อารมณ์เสียนั้นอารมณ์เสียมากขึ้น) เมื่อถูกถามว่า ไม่ร้อนใจบ้างหรือ ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่เห็นจะต้องเดือดเนื้อร้อนใจ สายการบินประกาศเลื่อนกำหนดออกเดินทางก็ดีแล้ว เพราะเป็นเรื่องความปลอดภัย ส่วนจะข้ามฟากด้วยเรือธรรมดาหรือเรือเร็วก็ถึงเหมือนกัน แค่ใช้เวลาต่างกัน ซึ่งก็ไม่รู้จะรีบไปทำไม เพราะไม่ใช่วันทำงาน แถมโดยสารเรือข้ามฟากยังประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าตั้ง 4 เท่า พูดจบก็ไม่สนใจใคร นั่งเล่น WhatsApp ต่อไป ส่วนเพื่อนที่อารมณ์เสียก็ยังบ่นเหมือนเดิม แต่คราวนี้เปลี่ยนไปเป็นแนว บ่นเกลียดฤดูฝน เพราะทำให้ชีวิตเธอต้องเดือดร้อนหลายอย่าง (ผู้เขียนคิดแล้วก็น่าสนใจ อะไรนะที่ทำให้สองคนเป็นเพื่อนสนิทกันได้ ทั้งที่มุมมองช่างต่างกันเหลือกัน!!!)
สถานการณ์เดียวกัน ต่างคนต่างมุมมอง และพฤติกรรมที่สะท้อนออกมาจากมุมมองที่ต่างกันก็ย่อมต่างกันด้วย มนุษย์เรานั้นการมองแง่ลบเกิดขึ้นได้บ่อยกว่าและอยู่กับตัวเรานานกว่าการมองทางบวก แม้ว่าทุกคนจะยอมรับว่าการมองบวกทำให้ตัวเราและคนรอบข้างรู้สึกดีกว่าสบายใจกว่าก็ตาม มีรายงานการวิจัยจากหลายแหล่งต่างสรุปเหมือนกันว่า คนที่มองบวกมักจะได้รับเรื่องบวกๆเข้ามาในชีวิต
ผู้เขียนมีโอกาสได้อ่านหนังสือที่น่าสนใจเล่มหนึ่ง ชื่อว่า Positivity ของ Barbara L. Fredrickson ซึ่งเป็นนักวิจัยทางจิตวิทยาเชิงบวก Barbara กล่าวว่า มุมมองทางลบทำให้เรามีจิตใจที่คับแคบลง ซึ่งตรงข้ามกับ มุมมองทางบวกที่ช่วยให้เรามีจิตใจที่กว้างขึ้น และยังเชื่อว่ามุมมองบวกก่อให้เกิดผลดีที่ตามมาอีกมากมาย เช่น Professor ที่ Hass พบจากงานวิจัยว่า หัวหน้างานที่มองบวกจะมีการตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆได้ดีกว่า นักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Northwestern พบว่า นักศึกษา MBA ที่มองเชิงบวกจะมีทักษะในการเจรจาที่ดีกว่า ส่วนนักวิจัยที่มหาวิทยาลัย Cornell พบว่าหมอที่มีอารมณ์ ความคิดที่เป็นบวกจะวินิจฉัยคนไข้ได้ดีกว่า เป็นต้น กล่าวโดยรวมแล้วมุมมองบวกทำให้เรามีภาวะจิตใจที่เข้มแข็ง ช่วยกระชับมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น ช่วยลดภาวะเครียด สร้างภาวะภูมิคุ้มกัน ลดความดัน และส่งผลทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง
ในด้านการทำงานก็มีงานวิจัยที่ทำให้เชื่อว่า มุมมองบวกทำให้เราทำงานได้ดี มีประสิทธิภาพ และจะทำให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น นักวิจัยชื่อ Marcial Losada ซึ่งถูกกล่าวถึงในหนังสือ Positivity ได้ทำการวิจัยกลุ่มคนทำงานที่มีผลงานในด้านการสร้างผลกำไรและการบริการลูกค้าต่างกัน 3 กลุ่ม พบว่า
กลุ่มที่ทำงานได้ดีเกินเป้าหมายจะมีอัตรามุมมองบวก/มุมมองลบ (positivity ratio) อยู่ที่ 5.6/1 กลุ่มที่ทำงานได้แต่ผลงานไม่ได้โดดเด่นจะมีอัตรามุมมองบวก/มุมมองลบ อยู่ที่ 2.9/1 ส่วนกลุ่มที่ทำงานได้ต่ำกว่าเป้าหมายจะมีอัตรามุมมองบวก/มุมมองลบ อยู่ที่ 0.36/1 เท่านั้น
ยิ่งเราสามารถเพิ่ม positivity ratio ได้มากเท่าไร ยิ่งทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานมากขึ้นเท่านั้น โดยวิธีการในการเพิ่ม ratio นั้น ทำได้ด้วยการลดมุมมองเชิงลบ และเพิ่มมุมมองเชิงบวก
อันดับแรก ข้อแนะนำในการลดมุมมองเชิงลบ มีดังต่อไปนี้
1.เปิดใจรับความเป็นจริง เช่น เราไม่ใช่คนที่เก่งที่สุด หรือไม่มีใครที่ทำอะไรถูกไปหมด ต้องมองความผิดพลาดเป็นบทเรียน ต้องให้อภัยตนเอง และคิดเสียว่าปัญหามีอยู่รอบๆตัวและมีหนทางแก้ไขเสมอ
2.เมื่อรู้ตัวว่าเรากำลังมองลบให้รีบหาทางเบี่ยงเบนตัวเอง เช่น การทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ การนั่งสมาธิ การออกกำลัง ฯลฯ เลี่ยงการเบี่ยงเบนด้วยการใช้ยา การดื่มแอลกอฮอล์ (หรือแม้กระทั่งการรับประทานอาหารที่มากกว่าปกติ) และเลี่ยงที่จะคุยเสวนากับคนที่มุมมองลบ
3.มองที่เป้าหมาย อย่าไปมุ่งคิดแต่อุปสรรค
ส่วนการเพิ่มมุมมองบวกให้กับตัวเองนั้น ให้หมั่นตรวจสอบอารมณ์บวกและตอกย้ำอารมณ์บวกของตนเองด้วยคำถามง่ายๆต่อไปนี้
1.ครั้งสุดท้ายที่ท่านดีใจจนยิ้มไม่ยอมหุบคือเมื่อไร และเป็นเพราะอะไร
2.นึกถึงเหตุการณ์ที่ท่านรู้สึกว่าชีวิตท่านช่างโชคดีเหลือเกิน หรือเหตุการณ์ที่ใครสักคนได้เข้ามาช่วยเหลือท่านและท่านรู้สึกซาบซึ้งในสิ่งที่ได้รับการช่วยเหลือ
3.เมื่อใดที่ท่านรู้สึกสงบและสบายใจ
4.นึกถึงเหตุการณ์ที่ท่านรู้สึกเปิดกว้างในการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ๆในชีวิต เรื่องนั้นคืออะไร รู้สึกอย่างไร
5.นึกถึงสถานการณ์ที่ท่านรู้สึกเครียด กังวล แต่ในที่สุดผลลัพธ์ที่ออกมานั้นเป็นเรื่องดีที่น่าประทับใจ
6.เมื่อใดที่ท่านรู้สึกภูมิใจและมั่นใจในตัวเอง
7.นึกถึงเหตุการณ์ที่ทำให้ท่านหัวเราะสนุกสนานมีความสุขอย่างลืมตัว
8.นึกถึงเหตุการณ์ที่ท่านรู้สึกได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือคนใดคนหนึ่ง
9.นึกถึงเหตุการณ์ที่ท่านรู้สึกตื้นตันใจเป็นอย่างมาก
10.นึกถึงเวลาท่านรู้สึกถึงความรักและมิตรภาพที่มีต่อผู้อื่นหรือผู้อื่นมีต่อท่าน

ผู้เขียนหวังว่า คำแนะนำข้างต้นจะช่วยให้ท่าน เพิ่ม positivity ratio ให้สูงขึ้นได้ ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า โอกาสในการประสบความสำเร็จในชีวิตจะมีมากขึ้นด้วย ผู้เขียนถูกใจวิธีการมองบวกของท่าน ว. วชิรเมธี จึงขอหยิบยกมากล่าวไว้ในตอนท้ายนี้ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านที่ยังไม่เคยได้เห็นข้อคิดเรื่องนี้จากท่าน ว. วชิรเมธีมาก่อน

เวลาเจองานหนัก ให้บอกตัวเองว่า นี่คือ โอกาสในการเตรียมพร้อมสู่ความเป็นมืออาชีพ
เวลาเจอปัญหาซับซ้อน ให้บอกตัวเองว่า นี่คือบทเรียนที่จะสร้างปัญญาได้อย่างวิเศษ
เวลาเจอความทุกข์หนัก ให้บอกตัวเองว่า นี่คือแบบฝึกหัดที่จะช่วยให้เกิดทักษะในการดำเนินชีวิต
เวลาเจอนายจอมละเอียด ให้บอกตัวเองว่า นี่คือการฝึกฝนให้เป็นคนสมบูรณ์แบบ
เวลาเจอคำตำหนิ ให้บอกตัวเองว่า นี่คือการชี้ขุมทรัพย์มหาสมบัติ
เวลาเจอคำนินทา ให้บอกตัวเองว่า นี่คือการสะท้อนว่าเรายังคงมีความหมาย
เวลาเจอความผิดหวัง ให้บอกตัวเองว่า นี่คือที่ธรรมชาติกำลังสร้างภูมิคุ้มกันให้ชีวิต
เวลาเจอความป่วยไข้ ให้บอกตัวเองว่า นี่คือการเตือนให้เห็นคุณค่าของการรักษาสุขภาพให้ดี
เวลาเจอความพลัดพราก ให้บอกตัวเองว่า นี่คือบทเรียนของการรู้จักหยัดยืนด้วยขาตัวเอง
เวลาเจอลูกหัวดื้อ ให้บอกตัวเองว่า นี่คือโอกาสทองของการพิสูจนความเป็นพ่อแม่ที่แท้จริง
เวลาเจอแฟนทิ้ง ให้บอกตัวเองว่า นี่คือความเป็นอนิจจังที่ทุกชีวิตมีโอกาสพานพบ
เวลาเจอคนที่ใช่แต่เขามีคู่แล้วให้บอกตัวเองว่านี่คือประจักษ์พยานว่าไม่มีใครได้ทุกอย่างดังใจหวัง
เวลาเจอภาวะหลุดจากอำนาจ ให้บอกตัวเองว่า นี่คือความเป็นอนัตตาของชีวิตและสรรพสิ่ง
เวลาเจอคนกลิ้งกะล่อน ให้บอกตัวเองว่า นี่คืออุทาหรณ์ของชีวิตที่ไม่น่าเจริญรอยตาม
เวลาเจอคนเลว ให้บอกตัวเองว่า นี่คือตัวอย่างของชีวิตที่ไม่พึงประสงค์
เวลาเจออุบัติเหตุ ให้บอกตัวเองว่า นี่คือคำเตือนว่าจงอย่าประมาทซ้ำอีกเป็นอันขาด
เวลาเจอศัตรูคอยกลั่นแกล้ง ให้บอกตัวเองว่า นี่คือบททดสอบว่า "มารไม่มีบารมีไม่เกิด"
เวลาเจอวิกฤต ให้บอกตัวเองว่า นี่คือบทพิสูจน์สัจธรรม "ในวิกฤตย่อมมีโอกาส"
เวลาเจอความจน ให้บอกตัวเองว่า นี่คือวิธีที่ธรรมชาติเปิดโอกาสให้เราได้ต่อสู้ชีวิต
เวลาเจอความตาย ให้บอกตัวเองว่า นี่คือฉากสุดท้ายที่จะทำให้ชีวิตมีความสมบูรณ์