มหาวิทยาลัยกับการสร้างชาติ

มหาวิทยาลัยกับการสร้างชาติ

หลายปีมาแล้วผมได้มีโอกาสไปช่วยงานที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สมัยที่ท่านอาจารย์ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นเลขาธิการ

ซึ่งความจริงได้รับมอบหมายให้ช่วยงานชิ้นสำคัญชิ้นเดียว คือ การจัดทำแผนอุดมศึกษาระยะยาว 15 ปี (2551-2565) นับเป็นแผนอุดมศึกษาฉบับที่ 2 ที่เคยมีมา และขณะนี้ พ.ศ. 2556 แผนดังกล่าวก็ยังถือว่า ยังนำไปปฏิบัติได้อยู่ ยังไม่หมดอายุ

การมีแผนใดๆ ก็ตามจะเป็นประโยชน์ได้ก็ต่อเมื่อได้มีการนำไปใช้อย่างจริงๆ จังๆ สังคมไทยเราวางแผนกันเก่ง และกว่าจะได้มาแต่ละแผนก็มีกระบวนการต่างๆ มากมาย มีการระดมสมอง หรือการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อค้นหาความเข้มแข็ง ความอ่อนแอ โอกาสและความท้าทาย หลายครั้งเราพบว่าพวกเรา SWOT กันเก่งมาก ได้ข้อมูลจากผู้เข้าร่วมประชุมเยอะแยะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรายละเอียดถี่ยิบด้านความอ่อนแอ

จำได้ว่าการจัดทำแผนอุดมศึกษาครั้งนั้นมีการเตรียมการที่ดีพอสมควร โดยใช้หลักที่ว่า “ทำแผนไปพร้อมๆ กับขับเคลื่อนแผน” เพื่อให้เกิด “การมีส่วนร่วม” ของผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือควรจะเกี่ยวข้อง ให้เข้ามารับรู้ว่ามีการคิดการทำแผน และขอให้มาเสนอความคิดเห็น เพื่อท้ายที่สุดจะได้เป็นเจ้าของแผนกันทุกคน มีการประชุมหารือกลุ่มต่างๆ ซึ่งแล้วแต่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับอนาคตของการอุดมศึกษาไทยทั้งสิ้น

จำได้อีกเช่นกันว่า ท้ายที่สุดเนื้อหาสำคัญที่ปรากฏอยู่ในแผนได้ยิงตรงไปยังปัญหา และมองต่อไปยังอนาคต และผ่านมาจนถึงทุกวันนี้เป็นการยืนยันได้ว่า หลายสิ่งหลายอย่างที่อยู่ในแผน เป็นการวางแนวทางที่ถูกต้องเมื่อสิ่งเหล่านั้นเกิดขึ้นจริงหลายปีผ่านไป เช่น การกำหนดให้มหาวิทยาลัยตั้งรับสังคมสูงอายุ การใช้การศึกษาเป็นอาวุธในการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดน ความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาคุณภาพบุคลากรทางการศึกษา การเชื่อมโยงอุดมศึกษากับระบบการศึกษาพื้นฐานและระบบอาชีวศึกษา การพัฒนาบทบาทของสภามหาวิทยาลัยให้มีธรรมาภิบาลและช่วยชี้ทางสว่างให้กับฝ่ายบริหาร ตลอดจนการใช้การศึกษาขั้นอุดมนี้แหละในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นต้น

นโยบายประการหลังนี้เอง เป็นที่มาของข้อเสนอในแผนให้มีการแบ่งกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาออกเป็น 5 กลุ่ม เพราะนอกจากจะทำให้การพัฒนาคุณภาพของมหาวิทยาลัยมีจุดเน้นที่ชัดเจน ไม่เป็นการตัดเสื้อขนาดเดียวใส่กันอย่างทุกวันนี้แล้ว (ตัวอย่างคือการวัดมาตรฐานการศึกษาแบบเฉลี่ย) ยังเป็นการออกแบบระบบการศึกษาที่คำนึงถึง “การจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ” ทำให้ทุกกลุ่มมหาวิทยาลัยสามารถเป็นเลิศได้ตามพันธกิจของตัวเอง

ห้ากลุ่มดังกล่าวคือ กลุ่มมหาวิทยาลัยซึ่งเน้นวิจัย กลุ่มมหาวิทยาลัยที่เน้นผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ กลุ่มมหาวิทยาลัยที่เน้นการพัฒนาท้องถิ่น กลุ่มมหาวิทยาลัยเอกชน และกลุ่มวิทยาลัยชุมชน จะเห็นได้ว่าแต่ละกลุ่มมีจุดเน้นที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศทั้งสิ้น เป็นความเข้าใจผิดหากคิดว่ากลุ่มใดด้อยกว่าหรือสำคัญน้อยกว่า ตรงกันข้ามหากเรามีระบบมหาวิทยาลัยที่หน้าตารูปร่างเหมือนกันหมด นอกจากทรัพยากรที่จะลงทุนไปนั้นจะกระจายแบบเฉลี่ย เจริญก้าวหน้ากันแบบเจือจางคนละนิดคนละหน่อยแล้ว ยังทำให้เกิดอาการแข่งขันกันเองในเข่งใบเดียวกัน ลูกค้ากองเดียวกัน ไม่เป็นผลดีกับการพัฒนาแต่อย่างใด

กลุ่มมหาวิทยาลัยวิจัยถูกสังคมคาดหวังว่าจะมีความเก่งในการวิจัยเพื่อก่อให้เกิดการพัฒนา นำประเทศให้ทัดเทียมกับอารยะประเทศ ดังนั้น จึงต้องขับเคลื่อนการสร้างบัณฑิตและสร้างความรู้เพื่อให้ประเทศแข่งขันได้ในเวทีระหว่างประเทศหรือในระดับโลกนั่นเอง ดังนั้น มหาวิทยาลัยใดที่ได้รับการจัดประเภทให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยนั้นมีภาระทางสังคมที่จะต้องแบกรับ เพื่อให้สมกับความเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยที่แท้จริง

ในแต่ละมหาวิทยาลัยวิจัยนั้น โดยหลักการแล้วคงไม่เน้นการผลิตบัณฑิตจำนวนมาก แต่ให้เพียงพอที่จะรองรับการสร้างความรู้ระดับสูงของสถาบัน และต่อยอดเป็นนักวิจัยชั้นสูงในสาขาต่างๆ ที่เป็นความต้องการของประเทศ เราจะเห็นตัวอย่างของมหาวิทยาลัยระดับโลกในหลายประเทศที่มีขนาดไม่ใหญ่โต แต่คุณภาพคับแก้ว และไม่จำเป็นจะต้องเก่งไปเสียทุกเรื่อง แต่เรื่องใดลงทุนมาก มีผู้เชี่ยวชาญมาก มีโครงสร้างพื้นฐานการวิจัย วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเหล่านี้ก็จะมีนวัตกรรมมาเสนอสังคมอยู่ตลอดเวลา แน่นอนว่าไทยเรายังมีข้อจำกัดอยู่บางด้าน เช่น การจัดสรรงบประมาณ ทุนวิจัย หรือแม้แต่บุคลากรที่ขาดแคลน แต่เมื่อเป้าหมายชัดแล้วคงจะต้องระดมสรรพกำลังในการเรียกร้อง และแสดงศักยภาพให้เป็นที่ประจักษ์

พลังอีกด้านหนึ่งที่มหาวิทยาลัยวิจัยน่าจะทำได้ดี คือ การรวมตัวกันอย่างเป็นเอกภาพเพื่อผลักดันและเพื่อจัดระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ เหมาะกับสภาพของประเทศไทย หากเป็นไปได้ก็อยากจะเสนอให้ลองแบ่งงานกันทำ เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัด บางมหาวิทยาลัยวิจัยอาจเน้นการวิจัยด้านพลังงานเพื่อความมั่นคง บางแห่งอาจเน้นการเกษตรและอาหารที่มีการจ้างงานมากมาย บางแห่งอาจเน้นความเป็นเลิศทางด้านการแพทย์ และบางแห่งอาจเน้นการวิจัยทางสังคม อีกทั้งกลุ่มวิจัยต่างๆ เหล่านี้ยังสามารถเชื่อมโยงบูรณาการในวิทยาการที่มีความซับซ้อนทุกวันนี้

เป็นที่ทราบกันดีว่ารัฐบาลประสงค์จะลงทุนในการวิจัยของประเทศในระดับ 1% ของรายได้มวลรวมประชาชาติหรือ GDP ซึ่งหมายถึงทั้งมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของรัฐ รวมทั้งภาคเอกชน สามารถช่วยกันวิจัยสร้างความรู้ให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เกิดมูลค่าเพิ่ม มหาวิทยาลัยวิจัยเองก็มีการทำงานร่วมกันกับเอกชนอยู่แล้ว หากจัดระบบมหาวิทยาลัยวิจัยกันสักนิด น่าจะทำให้รัฐบาลตระหนักถึงบทบาทสำคัญของมหาวิทยาลัยวิจัยที่มีทรัพยากรทางปัญญามหาศาล เป็นประโยชน์ต่อสังคมไทยได้อย่างแน่นอน