ฮอร์โมน พนักงานว้าวุ่น

ฮอร์โมน พนักงานว้าวุ่น

หัวมันในปีนี้ไม่อาจเทียบได้กับหัวเผือกเมื่อปีกลาย หัวมันหัวเผือก ไม่เคยวุ่นวาย มีแต่หัวคนที่ว้าวุ่น

“หัวมันในปีนี้ไม่อาจเปรียบได้กับหัวเผือกเมื่อปีกลาย” ปรัชญาจีนที่หลุดออกจากปากแม่ซึ่งมีอายุใกล้ 80 เมื่อเช้านี้ ทำให้ผมคิดถึงละคร “ฮอร์โมน วัยว้าวุ่น” ที่นั่งดูเมื่อคืน


ซึ่งละครจะเริ่มต้นด้วยบทเพลงที่ว่า “วันเวลาที่คอยเปลี่ยนแปลงต้องเจอะปัญหา เข้ามาไม่เคยหยุด บนเส้นทางที่ดูสับสน เส้นทางที่เดินเลือกไปเพราะใจบอก แล้วทำไม มีใครต่อใคร ต้องคอยตัดสินว่าทางนั้นมันผิด เพียงเพราะว่ามันต่าง อยากจะแก้ให้ดีกว่าเดิม แต่ทำอะไร สุดท้ายก็โดนบ่น สุดท้ายก็โดนด่า ....”


เช้านี้มีโอกาสดีได้คุยกับแม่เรื่องความต่างของคนในแต่ละยุคสมัย คล้ายกับเรื่องราวของ Gen X Gen Y และ Gen ต่อ ๆมา คุยกันเรื่องการเลี้ยงดูลูกวัยรุ่น ตลอดจนการบริหารงานที่บริษัท


แม่บอกว่า โลก ‘แก่ตัว’ และ ‘เปลี่ยนไป’ คนเราก็แก่ขึ้นทุกวัน แต่ใจต้องไม่แก่ตาม ควรปรับเปลี่ยนตามโลกที่เปลี่ยนแปลง ทุกคนมีข้อดีข้อเสียกันทั้งนั้น แต่ที่โลกวุ่นวาย ก็เพราะ ‘คน’


คนมักจะต่อว่าข้อเสียของคนที่เลือกต่างมองต่าง ไม่ค่อยมองข้อดีของคนที่เลือกต่างมองต่างและไม่ค่อยมองเห็นข้อเสียของตัวเอง” ผมเสริมแม่ด้วยเรื่อง ‘ฮอร์โมน’ ของคนที่มีมากน้อยของแต่ละวัยที่แตกต่างให้แม่ฟังด้วย นอกเหนือจากพื้นฐานของการเลี้ยงดู และสังคมต่างยุคต่างสมัย แถมเปิดหนังบางตอนให้แม่ดู ทั้งเรื่องราวของน้องเต้ย น้องสไปร์ท น้องขวัญ น้องดาว ฯลฯ


แปลกใจที่แม่รับได้ เข้าใจหมดและพูดคำสั้นๆ เป็นภาษาจีนว่า “หัวมันในปีนี้ไม่อาจเทียบได้กับหัวเผือกเมื่อปีกลาย” ผมรู้สึกชอบใจกับปรัชญานี้มาก แค่มันกับเผือกในปีเดียวกันมันก็ต่างกันอยู่แล้ว แต่เงื่อนเวลาที่ว่าปีนี้ปีกลาย ก็ยิ่งทำให้มันต่างกันออกไป หัวมันหัวเผือก ไม่เคยวุ่นวาย มีแต่หัวคนที่ว้าวุ่น


ขอบคุณซีรีส์ ‘ฮอร์โมน’ ที่ทำให้ผมดูแล้วเข้าใจถึงความวุ่นวายในองค์กรได้ดีขึ้น หลากหลายฮอร์โมนของวัยรุ่น ครู พ่อแม่ ในบทซีรีส์ก็ไม่ต่างกับหลากหลายฮอร์โมนของพนักงานแต่ละระดับทั้งเก่าใหม่ในบริษัท รวมทั้งผู้บริหารเก่าใหม่ที่แตกต่าง มาอยู่รวมกัน


เชื่อว่าทุกบริษัทต้องมีพนักงานที่มี ‘เทสโทสเทอร์โรน’ สูงอย่างน้องวิน ที่มีความคิดสร้างสรรค์ คิดนอกกรอบ ชอบความต่าง หัวก้าวหน้า ชอบท้าทาย เอาชนะ แต่ก็ยินดีรับคำอธิบายอย่างเป็นเหตุเป็นผลมากกว่ากฎระเบียบที่สืบทอดต่อๆ กันมา ไม่ยอมรับการใช้อำนาจของผู้ที่อยู่เหนือกว่า

พนักงานแบบน้องวินคงไม่ค่อยเป็นที่ปลื้มเท่าไรในสายตาของหัวหน้างานอย่างครูนิพนธ์ ครูฝ่ายปกครองที่เต็มไปด้วย ‘คอร์ติซอล’ เคร่งเครียดตลอดเวลา ตาขวาง มองลบ จับผิด หัวเก่า ยึดถือกฏกติกา ชอบข่มขู่ คาดโทษ ขาดทักษะในการอธิบายให้กระจ่าง ไร้ความสามารถในการจูงใจให้ลูกน้องและเพื่อนร่วมงานให้ทำงานอย่างเป็นสุข


ตรงกันข้ามกับผู้นำอย่างครูอรทัย ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วย ‘เอ็นโดรฟิน’ รู้ใจ รู้พูด รู้แก้ทาง สร้างความสุขให้คนรอบข้าง เก่งเรื่องจูงใจให้ผู้ตามทำตามได้ด้วยศรัทธา


แน่นอนว่า ความว้าวุ่นระหว่าง ‘คอร์ติซอล’ และ ‘เอ็นโดรฟิน’ คงจะกระทบกระทั่งกันอยู่เนืองๆ แต่ความฉลาดของผู้นำแบบเอ็นโดรฟินจะมีวิธีจัดการได้อย่างชาญฉลาด


พนักงานกลุ่ม ‘เอสโทรเจน’ สูงอย่างน้องเต้ย น้องขวัญที่รักความสมบูรณ์แบบ แต่อ่อนไหวง่าย อารมณ์แปรปรวน รับไม่ได้และไม่อดทนกับคำตำหนิติเตียน ยิ่งถ้ามี ‘โปรเจสเทอโรน’ เพิ่มเข้าไปในบางเวลา อาการเบื่อเซ็ง ซึมเศร้าก็จะเพิ่มเข้ามา

ส่วนพนักงานเลือดร้อนมี ‘อะดรีนาลีน’ สูงอย่างน้องไผ่ผู้ไม่ยอมแพ้ ห้าวหาญ ตาต่อตาฟันต่อฟัน สร้างความเสียหายโดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา ในขณะที่พนักงานอย่างน้องหมอกที่มี ‘เซโรโทนิน’ ไม่รู้ร้อนรู้หนาว มีโลกส่วนตัวสูง ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงรอบข้าง ไม่ยอมรับความคิดเห็นผู้อื่น เคยชินกับการยึดมั่นในความคิดของตนเอง ขาดทักษะในการทำงานเป็นทีม ชมบทบาทของดาราแต่ละคนแล้ว สามารถใส่ชื่อคนรู้จักรอบข้างลงไปแทนได้เลยว่า ท่านใดเป็นแบบไหน


ความแตกต่างและความเหมือนที่อยู่ต่างฝ่ายกัน ทำให้เกิดการจับกลุ่มรวมตัวกันในแบบ Informal Organization ที่สุดก็ผันแปรเป็นการเมืองในองค์กร Political Issue ซึ่ง CEO และผู้นำในทุกระดับจำเป็นต้องช่วยกันสร้าง Corporate Culture ที่ดี เพื่อให้เรื่องราวเหล่านี้มีผลกระทบต่องานให้ว้าวุ่นน้อยที่สุด


ดังนั้น หน้าที่ของผู้นำที่ดีจึงไม่ใช่เพียงแค่ สร้างวิสัยทัศน์ วางยุทธศาสตร์ วางเป้าหมาย นโยบาย กลยุทธ์ เท่านั้น


7 ข้อคิดดีๆที่พูดง่ายแต่ทำยากในการปรับพฤติกรรมก็คงหนีไม่พ้นต้องตกเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่รักลูกและผู้นำที่รักลูกน้องและเพื่อนร่วมงาน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้แนะนำในวันอบรมครูไว้ดังนี้


ข้อแรก ความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีความหมาย เป็นคนสำคัญคนหนึ่งในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญเพราะเด็กจะทำตัวดีขึ้นและพัฒนาในทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ
ข้อที่สอง พ่อแม่เป็นคนที่สะท้อนสิ่งดีและสิ่งไม่ดีให้เด็ก เมื่อได้ยินคนอื่นพูดถึงตัวเองบ่อยๆ (ไม่ว่าด้านดีหรือไม่ดี) สุดท้ายเด็กจะเชื่อว่าเขาเป็นคนอย่างนั้นจริงๆ
ข้อที่สาม เมื่อเด็กชอบตัวเองเขาจะพยายามทำตัวเองให้ดีขึ้น จะมีความมุ่งมั่นชัดเจนขึ้น
ข้อที่สี่ การฝึกฝน ควรเน้นจุดดีให้มากกว่าการบอกจุดด้อย เพื่อให้มีการพัฒนาต่อได้
ข้อที่ห้า เด็กไม่ต้องการคนมาตอกย้ำว่าผิดพลาดอย่างไร แต่ต้องการชี้นำว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำได้ถูกต้องหรือดีขึ้นกว่าเดิม
ข้อที่หก การให้กำลังใจ การใช้คำพูดเชิงบวกจะช่วยให้เด็กยอมรับได้และยอมทำตามมากกว่าการใช้คำพูดเชิงลบหรือคำพูดรุนแรง
ข้อที่เจ็ด ไม่ว่าผลของการฝึกฝนจะเป็นอย่างไรในวันนี้ อย่าลืมแสดงให้เด็กเห็นว่าคุณเชื่อมั่นว่าวันหนึ่งเขาจะทำได้แน่นอน


อยากให้อ่านทวนอีกรอบโดยเปลี่ยนคำว่า “เด็ก” เป็น “ลูกน้องและเพื่อนร่วมงาน” เปลี่ยนคำว่า “พ่อแม่” เป็น “ผู้นำ” และเปลี่ยนคำว่า“ครอบครัว” เป็น “บริษัท” ส่วนที่กล่าวว่า ทำยากเพราะตัวเราเองก็เป็นผู้หนึ่งที่มีฮอร์โมนเฉพาะอย่างหรือมีแบบต่างๆขึ้นๆลงๆในแต่ละช่วง จึงจำเป็นที่จะต้องหมั่นเตือนตัวเองให้ปฏิบัติตาม 7 ข้อนี้ให้ได้อย่างสม่ำเสมอ และหากมีใจมองลูกน้องและเพื่อนร่วมงานเป็นคนภายในครอบครัวก็อาจจะช่วยเตือนสติได้ เท่านี้ Political Issue การเมืองในที่ทำงานก็คงจะเกิดได้น้อยที่สุด


นอกจากบทสนทนาระหว่างแม่ลูก เช้านี้เรายังได้ดื่มด่ำรสชาติอันกลมกล่อมที่เข้ากันได้ดีของซุปหัวไช้เท้าสด ตุ๋นผสมกับหัวไช้โป้วดองในถ้วยเดียวกัน (ทั้งสองอย่างเป็นพืชชนิดเดียวกัน) ก่อนจากกัน ผมกอดแม่นาน 60 วินาที เป็น 60 วินาทีที่ทั้งผมและแม่ต่างก็สร้าง ‘เอ็นโดฟิน’ ให้กันและกันครับ