การโหยหาวีรบุรุษในประชาธิปไตยแบบไทย ๆ

การโหยหาวีรบุรุษในประชาธิปไตยแบบไทย ๆ

"Paradoxcracy" ภาพยนตร์สารคดีการเมืองไทยที่ลงโรงไม่ถึงสัปดาห์ก็ต้องลาโรงด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ นับเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ที่ถูกจับตามอง

จากนักวิชาการ นักประวัติศาสตร์ และบรรดาผู้ใฝ่รู้ทางการเมืองมากที่สุดเรื่องหนึ่งอยู่ในขณะนี้ ซึ่งเท่าที่ทราบ การขายบัตรดูลับๆ ล่อๆ ให้ข้อมูลแบบเดี๋ยวฉาย เดี๋ยวไม่ฉายจากพนักงานประจำโรงภาพยนตร์จนคนซื้อตั๋วงงงวย ว่าตกลงจะไม่ตอบสนองความต้องการอยากดูของผู้มีกำลังซื้อที่รอเข้าชมภาพยนตร์หรืออย่างไร ถึงทำให้กลไกตลาดตามหลักดีมานด์ ซัพพลายของการซื้อตั๋วภาพยนตร์ต้องหยุดชะงัก

อย่างไรก็ตาม ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ส่งสาสน์ให้ผู้ชมได้คิดในหลากหลายประเด็น ทั้งที่นำเสนอในเนื้อหาแบบตรงๆ กับที่นำเสนอแบบแฝงนัย ตามชื่อเรื่องที่สะท้อนความย้อนแย้งในสังคมประชาธิปไตยที่เราอยู่กัน โดยตลอดเนื้อเรื่องที่มีการปะติดปะต่อบทสัมภาษณ์และความเห็นจากนักคิดและนักวิชาการระดับประเทศ เพื่อร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราวสะท้อนประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยของชาติไทยนั้น จะมีการเซนเซอร์ ดูดเสียงอยู่เป็นระยะๆ ซึ่งหลายครั้งอาจสร้างความรำคาญระคนขบขันให้กับคนดู ที่สะท้อนให้เห็นว่า ตกลงเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคลและสื่อมวลชน อันเป็นตัวชี้วัดความเป็นประชาธิปไตยในแต่ละสังคมนั้นกลับถูกลิดรอนในภาพยนตร์ที่กำลังเล่าเรื่องอันว่าด้วยประชาธิปไตย ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อคิดที่ได้จาก อาจารย์ธงชัย วินิจกูล ที่ระบุว่า เมื่อเราเริ่มเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตยนั้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศ ที่บางคนมองว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยไทย ในขณะที่มีอีกหลายคนวิเคราะห์ว่า มันคือจุดเริ่มต้นของเผด็จการทหาร อันเป็นความย้อนแย้งทางการเมือง ที่เป็นตลกร้ายของสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม หากศึกษาถึงวัฒนธรรมการเมืองของบ้านนี้เมืองนี้ ก็จะพบว่า แม้ระบอบใดจะมาจะไปก็แล้วแต่ เราก็ยังคงมีแนวคิดของการอุปถัมภ์ค้ำชูแบบบ่าวไพร่เป็นกลไกการหล่อเลี้ยงระบบการเมืองไทยให้ดำเนินไปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อันประกอบสร้างให้คาแรคเตอร์ของประชาธิปไตยในบ้านเราเป็นแบบไทยๆ ที่มีความเกรงอกเกรงใจกัน มีการสร้างเครือข่ายอำนาจในแบบผลประโยชน์ต่างตอบแทน มีนายมีบ่าว มีผู้มีอำนาจเหนือตัวบทกฎหมายที่พร้อมจะทำลายขื่อแปรของบ้านเมืองเพื่อผลประโยชน์ส่วนบุคคล พร้อมทั้งค้ำชูคนของตนเอง เพื่อสร้างเครือข่ายเชิงอำนาจให้ดำรงอยู่ตราบนานเท่านาน

และที่น่าสังเกตจะเห็นได้ว่า ด้วยแนวคิดของระบบอุปถัมภ์ดังกล่าว อันมีเงื่อนไขที่ต้องหล่อเลี้ยงเครือข่ายเชิงอำนาจให้จงรักภักดีกับกลุ่มตนให้นานที่สุด ดูจะไปได้ดีกับวาทกรรมที่ว่าด้วย "ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง" ซึ่งนอกจากจะเป็นแนวคิดที่ช่วยสร้างความชอบธรรมให้กลุ่มอำนาจได้ดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังสร้างความเคยชินให้กับคนไทยผู้ใต้ปกครองที่ไม่ต้องรับภาระความรับผิดชอบกับความเป็นไปของประเทศชาติที่ตนดำรงอยู่ เพราะได้มอบภารกิจให้กับ "คนดี" ไปแล้ว

"คนดี" ที่ว่านี้จึงกลายเป็นวีรบุรุษของชาติ ที่ประกอบสร้างโดยมายาคติที่ยึดถือตัวบุคคลในการนำพาชาติให้พัฒนาหรือพ้นภัย โดยที่ผู้ใต้ปกครองไม่ต้องรับภาระหรือแบกหามความรับผิดชอบของกิจการสาธารณะแต่อย่างใด ซึ่งยิ่งเมื่อมาวิเคราะห์ในบริบทปัจจุบัน ที่ผู้คนในบ้านเมืองถูกจัดวางให้เลือกสีเลือกข้าง ส่งผลให้การแสวงหาวีรบุรุษของคนที่อยู่ตรงกลางเพื่อล้างบางแก้ปัญหาความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่อยู่ในใจของคนไทยหลายๆ คน

ในฟากของศาสนาอันเป็นสถาบันหลักที่ช่วยยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชาติเองก็พบเห็นได้ถึงการโหยหาวีรบุรุษที่จะมาช่วยเยียวยาและจรรโลงพุทธศาสนาของประเทศ ซึ่งยิ่งวีรบุรุษที่ว่านี้เป็นคนนอกที่มาจากสังคมที่เจริญกว่าแต่มีความปลื้มปีติในสิ่งที่คนไทยมีอยู่และต้องการเข้ามาศึกษาของดีในบ้านเราแล้วละก็ ความเป็นวีรบุรุษก็ยิ่งถูกขับเน้นให้ชัดเจนขึ้นจากการประกอบสร้างแรงศรัทธาโดยบรรดาญาติโยมและลูกศิษย์ลูกหา ซึ่งก็คล้ายๆ กับไอดอล K-Pop, J-Pop

สำหรับกรณีการลาสิกขาบทของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก ก็นับเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่สร้างความผิดหวังให้กับคนไทยหลายๆ คน ซึ่งขัดใจกับการที่วีรบุรุษคนดีของเราเลือกเส้นทางชีวิตที่ต่างไปจากสิ่งที่เราคาดหวัง จึงทำให้เกิดอาการเวิ้งว้าง เปล่าเปลี่ยว ไร้ที่พึ่ง จนเลยเถิดไปถึงเกรี้ยวกราดและด่าทอ

ความล่มสลายทางจิตใจของคนที่ต้องการยึดเหนี่ยวเพื่อหาวีรบุรุษเข้ามาแก้ปัญหาใดๆ ให้กับเรานั้นดูจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมปัจจุบันที่เราแวดล้อมไปด้วยข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาล ที่ทั้งจริงและไม่จริง ซึ่งพร้อมจะใส่สีใส่ไข่ ไร้การตรวจตรา เพื่อส่งลงมาให้เราเสพแบบสับสน ดังนั้น ทางแก้ที่จะสามารถเยียวยาอาการความผิดหวังที่มีต่อวีรบุรุษดังกล่าว อาจทำได้สองทางคือ หนึ่ง ปิดรับข้อมูลข่าวสารทั้งหมดและพร้อมที่จะตะบี้ตะบันเชื่อในความดีของตัววีรบุรุษที่เราศรัทธา กับ สอง คือหากทำข้อหนึ่งไม่ได้ก็คงต้องงด ละ เลิก การแสวงหาวีรบุรุษและการอุปโลกน์คนดีขึ้นมาทำดีแทนเรา โดยตระหนักให้ได้ว่า ประชาธิปไตยมันเป็นภาระของคนไทยทุกคนที่ต้องร่วมกันรับผิดชอบ