สังคมไทย : บนความเคลื่อนไหว (2)

สังคมไทย : บนความเคลื่อนไหว (2)

การที่สังคมไทยผูกพันกับระบบเศรษฐกิจโลกที่แปรผันอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะด้วยระบบการผลิตที่ทำให้เกิดกระบวนการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตเป็นไปได้ทั่วโล

และสะดวกขึ้น และการขยายตัวแสวงหากำไรอย่างเข้มข้นของทุนเก็งกำไร ส่งผลให้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยนั้นคาดการณ์ได้ยากมากขึ้นเพราะสภาวะการพลิกผันต่างๆ เกิดขึ้นรวดเร็วมากขึ้น

ในอีกด้านหนึ่ง สังคมไทยก็อยู่บนความเคลื่อนไหวที่ลึกซึ้งด้วยเช่นกัน และที่สำคัญ เป็นความเคลื่อนไหวที่ยังไม่อาจจะคาดเดาได้ว่าจะเคลื่อนไปในทิศทางใด

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ได้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตของสังคมไทยอย่างลึกซึ้งและไพศาล ดังที่มีผู้กล่าวไว้หลายท่านและก็ได้ได้เขียนไว้ในที่นี้หลายครั้งว่าการผลิตภาคเกษตรกรรมนั้นเปลี่ยนรูปไปแล้ว สังคมชาวนาที่เคยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญและเป็นเสมือน “สายใยเหนี่ยวรั้ง” ไม่ให้เกิดการเคลื่อนไหวทางชนชั้น ได้สูญสลายลงไป

การขยายตัวของการทำงานเฉพาะด้านเกิดขึ้นอย่างเข้มข้นในการผลิตของ “สังคมชาวนา” เดิม อาจารย์ประภาส ปิ่นตบแต่งได้กรุณาพาผมไปสัมผัสพื้นที่เกษตรกรรมที่นครปฐมและได้เห็นการเกิดอาชีพเฉพาะอย่างในไร่นาที่หลากหลาย

คนในสังคมชาวนาเดิมได้ทียังคงรักษาพื้นที่นาเอาไว้ได้ก็เปลี่ยนตนเองกลายเป็น “ผู้ประกอบการนา” โดยกลุ่มคนในหมู่บ้านเดียวกันหรือใกล้เคียงที่ไม่มีหรือมีพื้นที่ทำนาน้อยก็เปลี่ยนตนเองเป็น “ช่างฝีมือในไร่นา” ที่สามารถรับงานเป็นด้านๆ ในการทำนาได้ตลอดทั้งปี

ขณะเดียวกัน การเคลื่อนย้ายเข้ามาสู่การทำงานในเมืองหรือทำงานในภาคการผลิตสมัยใหม่ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนในพื้นที่เกษตรกรรมต้องทำกัน การส่งลูกหลานเข้าไปเรียนในเมืองเป็นรูปธรรมของการเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญมาก เพราะทุกคนรับรู้ว่าโรงเรียนเล็กในชุมชนหมู่บ้านไม่สามารถที่จะตอบสนองความปรารถนาในชีวิตแบบใหม่ได้อีกต่อไป และพวกเขาจำนวนมากในหมู่บ้านก็สามารถส่งลูกหลานเข้าไปเรียนในเมืองได้ง่ายมากขึ้น ไม่เหมือนกับเมื่อก่อนที่คนรวยในหมู่บ้านเท่านั้นที่ส่งลูกหลายเข้าเมือง

ดังนั้น โรงเรียนในชุมชนหมู่บ้านที่ครั้งหนึ่งทำหน้าที่เพียงแค่ให้อ่านออกเขียนได้ (หรือไม่ได้แต่ให้เรียนตามกฎหมายบังคับ) ได้ไร้ความหมาย จำนวนนักเรียนจึงลดลงอย่างรวดเร็ว เด็กนักเรียนที่เหลืออยู่จำนวนน้อยนิดก็คือลูกหลานคนจน “มาก” ในหมู่บ้าน การยุบโรงเรียนเล็กจึงเป็นเสมือนการลงโทษคนจนที่ไม่มีปัญญาส่งลูกเข้าเมืองนั้นเอง

(ปัญหาเรื่องยุบโรงเรียนขนาดเล็กในชนบทต้องคุยกันให้ลึกซึ้งนะครับ เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทุกสังคม)

ลักษณะความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างการผลิตเช่นนี้เกิดขึ้นโดยทั่วไปในทุกภูมิภาค ไม่ว่าภาคเหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก/ตก หรือว่าภาคใต้ ความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างนี้ได้ส่งผลทำให้เกิดการสร้างโครงสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมรูปลักษณะใหม่ๆ ขึ้นมา ความสัมพันธ์ทางสังคมที่เป็นความสัมพันธ์เชิงเครือข่ายแนวระนาบได้ขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางเช่นเดียวกัน การรวมกลุ่มกันเพื่อรับงานการผลิตเฉพาะด้านในภาคการเกษตรเป็นเรื่องธรรมดาในการดำรงชีวิต

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในภาคการผลิตสมัยใหม่หรือในเขตเมืองก็ไม่ได้หยุดนิ่ง กลุ่มทุนขนาดใหญ่ได้ขยายกิจการของตนออกไปอย่างครอบคลุมและสลายกิจการขนาดเล็กของผู้ประกอบการรายย่อยมากขึ้น สัดส่วนของคนทำงานกลายเป็นพนักงานกินเงินเดือนของบริษัทใหญ่ (บริษัทข้ามชาติ) มากขึ้น กล่าวได้ว่าการขยายตัวของคนทำงานกินเงินเดือนเกิดขึ้นครอบคลุมพื้นที่ หากเปรียบเทียบกับการขยายตัวของ Salary Man : ซาราริมัง : มนุษย์เงินเดือน ของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 ซึ่งส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของสังคมญี่ปุ่นอย่างลึกซึ้งทีเดียว ก็อาจจะพอจินตนาการเบื้องต้นได้ว่าสังคมไทยกำลังเปลี่ยนอย่างมาก

นอกเหนือจากการเป็นพนักงานบริษัท การเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการรายย่อยใหม่ก็จะมีทางเลือกอยู่สองลักษณะ ลักษณะแรก หากเป็นกลุ่มที่มีทุนมากหน่อยก็จะเลือกธุรกรรมภาคบริการตอบสนองรสนิยมการบริโภคแบบใหม่ เช่น ร้านกาแฟเล็กๆ สวยๆ เป็นต้น

ลักษณะที่สอง ที่ขยายตัวมากกว่ารูปแบบแรก ได้แก่ การเป็นผู้ประกอบการในภาคการผลิตไม่เป็นทางการที่ตอบสนองตลาดล่าง เช่น แผงลอยขายของตามตลาดนัด (ที่สำคัญ ก็คือ ตลาดนัดได้กลายเป็นตลาดหมุนเวียนตลอดสามสิบวันต่อเดือนไปแล้ว และผู้ประกอบการในตลาดนัดได้สร้างเครือข่ายแนวระนาบได้อย่างเข้มแข็งทีเดียว) มีผู้ประมาณเอาไว้ว่าผู้ประกอบการในภาคการผลิตไม่เป็นทางการนี้มีจำนวนถึงร้อยละหกสิบห้าถึงเจ็ดสิบเปอร์เซ็นต์ของกำลังแรงงานในประเทศ

ลึกลงไปภายใต้ความเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างที่เกิดขึ้นนี้ “แรงปรารถนา” (Desire) ของชีวิตของคนแต่ละกลุ่ม/แต่ละชั้น ก็เปลี่ยนแปลงและแตกต่างไปจากเดิมมากในด้านหนึ่ง อุดมคติของชีวิตที่ดีงามที่จะทำอะไรให้สังคมก็หลากหลายและแตกต่างจนไม่มีจุดเชื่อมต่อกันเป็นพลังร่วมในสังคมได้ ในอีกด้านหนึ่ง ความร่ำรวย การบริโภค ได้กลายเป็นเป้าหมายหลักของชีวิตโดยรวมไปแล้ว แต่แรงปรารถนาชีวิตที่ดีกว่าจะผลักดันคนบางกลุ่มให้เลือกวิถีทางที่จะไปให้ถึงจุดหมายนั้นแตกต่างกัน

ความแตกต่างและหลากหลายใน “แรงปรารถนา” ของผู้คนในสังคมเห็นเด่นชัดขึ้นในช่วงสิบปีหลัง และได้ผลักดันให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวทางการเมือง หรือ ในชีวิตประจำวัน (การขยายตัวของลัทธิพิธีต่างๆ เป็นต้น)

ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดที่เกิดขึ้นเป็นความเคลื่อนไหวของสังคมที่สำคัญที่เคลื่อนที่จากเดิมมาสู่สภาวะใหม่ แต่สภาวะใหม่ที่กำลังดำเนินอยู่นี้จะไปในทิศทางใด และจะมีแนวทางที่เป็นไปได้ทางใดบ้าง (Scenario) ยังไม่มีใครบอกได้ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกับเพื่อนกลุ่มหนึ่งกำลังคิดว่าจะจัดการพูดคุยเรื่อง “อนาคตคนไทย/เมืองไทย/สังคมไทย” หากทำได้และมีอะไรคืบหน้าก็จะรายงานท่านผู้อ่านครับ