เศรษฐกิจการลงทุน ในมุมมองของต่างชาติ

เศรษฐกิจการลงทุน ในมุมมองของต่างชาติ

ตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2556 ที่สภาพัฒน์ฯ ประกาศไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หักปากกาของนักวิเคราะห์อย่างน่าผิดหวัง

เพราะเศรษฐกิจขยายตัวเพียง 5.3% จากที่ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้สูงถึง 6% นี่เป็นจุดเปลี่ยนทำให้โอกาสในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2556 น่าจะต่ำกว่า 5% มีมากขึ้น
สิ่งที่น่ากังวลตามมาคือ ถ้าเศรษฐกิจไทยยังมีทีท่าชะลอตัวเช่นนี้ รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินมาตรการอย่างไร หากใช้นโยบายการเงินลดอัตราดอกเบี้ย ย่อมส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในส่วนของตลาดตราสารหนี้ เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงได้เพิ่มโอกาสที่คณะกรรมการนโยบายการเงินอาจต้องลดดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจให้เป็นไปได้ต่อเนื่อง
ในขณะที่ตลาดหุ้นนั้น ผลระยะสั้นคงจำกัดอยู่ที่กลุ่มธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย แต่ในระยะกลางแล้ว นักลงทุนคงต้องติดตามว่าแนวโน้มเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไรจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนออกมาต่ำกว่าที่คาดหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง และก็อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ปรับพอร์ตการลงทุนจากหุ้นไทยไปยังตลาดหุ้นอื่นที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนได้มากกว่า เพราะหุ้นไทยในปีนี้ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมามากพอควรแล้ว
นี่คือ มุมมองจากการวิเคราะห์ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 1 ที่ประกาศออกมาค่ะ หลายท่านคงอยากทราบว่า แล้วนักลงทุนต่างชาติมีมุมมองต่อเศรษฐกิจและการลงทุนอย่างไร วันนี้ดิฉันมีข้อมูลจากงานสัมมนา “แนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดเงินตลาดทุนในระยะกลาง 3-5 ปี” หรือเรียกว่า Secular Outlook ที่จัดโดยบริษัท Pimco นักลงทุนรายใหญ่ของโลก ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์มาเล่าให้ฟังค่ะ
ในปีนี้ Pimco ยังคงมุมมองเดิมที่ว่า โลกกำลังเปลี่ยนเป็น New Normal World คือ เศรษฐกิจขยายตัวต่ำลง อัตราการว่างงานสูงขึ้นและมีการกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้น และได้ขยายความเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวแบบหลากหลาย (Multispeed) โดยเศรษฐกิจประเทศหลักมีแนวโน้มขยายตัวต่ำหรือหดตัว และความเหลื่อมล้ำของรายได้จะเพิ่มขึ้น ในขณะที่ประเทศตลาดเกิดใหม่ จะขยายตัวได้ดีกว่าทำให้การกระจายรายได้มีแนวโน้มดีขึ้น
สำหรับสหรัฐแม้เศรษฐกิจจะปรับตัวดีขึ้น แต่การขยายตัวก็มีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่า 2% ต่อไป ญี่ปุ่นนั้นในช่วงแรกเศรษฐกิจน่าจะเร่งตัวขึ้น จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลและธนาคารกลาง แต่แนวโน้มในระยะกลางยังมีความไม่แน่นอนสูง ประเด็นที่ต้องติดตามคือ นโยบายทำให้เงินเยนอ่อน จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้นานเพียงไร ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากประเทศในภูมิภาคเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวเพียง 6%-7.5%
Pimco มองว่า ธนาคารกลางจะเผชิญข้อจำกัดในการดำเนินนโยบายการเงินแบบดั้งเดิม (Traditional monetary policy) ทำให้ต้องอาศัยนโยบายแบบพิเศษ (Experimental monetary policy) เป็นหลัก และเจ้านโยบายการเงินแบบพิเศษนี้ จะกลายเป็นพระเอกสำหรับนักลงทุน เพราะเปรียบเสมือนธนาคารกลางได้ถมเงินจำนวนมหาศาล เพื่อซื้อการขยายตัวของเศรษฐกิจในอนาคต ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้น
คำถามที่สำคัญคือ เมื่อราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมามากจนบางตลาดมีแนวโน้มว่าเกินปัจจัยพื้นฐาน แล้วทิศทางต่อไปจะเป็นเช่นไร ซึ่งทางสองแพร่งอาจเกิดขึ้นได้ คือ 1. เศรษฐกิจต้องเร่งตัวขึ้นให้ทันกับราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวขึ้น หรือ 2. ราคาสินทรัพย์ต้องปรับตัวลง เพื่อสะท้อนพื้นฐานเศรษฐกิจที่แท้จริง ดิฉันเห็นว่าประเด็นหลังนี้มีความสำคัญมากโดยเฉพาะภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบางสูงเช่นปัจจุบัน ดังนั้นการติดตามภาวะเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิดและเตรียมความพร้อม ที่จะปรับพอร์ตการลงทุนอย่างรวดเร็ว จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง
อีกมุมมองที่น่าสนใจของ Pimco คือ แนวโน้มระยะกลาง (Medium term theme) ของเศรษฐกิจ มี 4 เรื่องสำคัญ นั่นคือ
1)ประเทศขนาดใหญ่กำลังจะก้าวสู่จุดหัวเลี้ยวหัวต่อ ซึ่ง Pimco ใช้คำว่า “T-Junction” คือทางแยกระหว่างเศรษฐกิจขยายตัวอย่างยั่งยืน มีเสถียรภาพ หรือ เศรษฐกิจจะตกต่ำ ระบบการเงินไม่มีเสถียรภาพ เกิดวิกฤตทางสังคมและการเมือง โดยประเมินว่า ประเทศยุโรปที่มีปัญหา (Peripheral Europe) จะถึงจุดรอยแยกนี้เป็นกลุ่มแรก ตามด้วยญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อินเดีย สหราชอาณาจักร สหรัฐ บราซิล จีน และเยอรมนีเป็นประเทศสุดท้าย
2)ธนาคารกลางประเทศหลัก จะยังเดินหน้านโยบายการเงินแบบพิเศษต่อไป โดยคาดว่าจะเห็นธนาคารกลางยุโรป เดินตามรอยญี่ปุ่นด้วยการขยายขนาดวงเงินซื้อสินทรัพย์
3)การลดหนี้ (hair cut) และการปรับโครงสร้างหนี้ (Restructure) จะมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในยุโรป
4)Theme การลงทุนระดับย่อยบางเรื่องมีความน่าสนใจ เช่น Shale Gas และ 3-D

สำหรับการจัดพอร์ตการลงทุนในช่วงต่อไป Pimco แนะนำให้วางกลยุทธ์ที่สามารถรองรับกรณีหากเกิดการลดหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้ไว้ด้วย ส่วนแนวโน้มผลตอบแทนนั้น มีโอกาสที่นักวิเคราะห์จะปรับลดประมาณการผลตอบแทนของสินทรัพย์ต่างๆ ลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนโดยรวมของตลาดต่ำลง
ดังนั้น นักลงทุนควรเน้นการลงทุนเชิงรุก (Active) มากกว่าการลงทุนแบบล้อตามตลาด (Passive) เพื่อสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม พร้อมกันนี้ ต้องพัฒนาระบบบริหารความเสี่ยง เพราะการกระจายความเสี่ยงโดยลงทุนในหลายสินทรัพย์ จะไม่เพียงพอสำหรับการจัดพอร์ตในอนาคต เนื่องจากความสัมพันธ์ของสินทรัพย์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงกว่าในอดีตค่ะ
ดูแล้วสถานการณ์เศรษฐกิจการลงทุนข้างหน้ามีโอกาสผันผวนสูง นักลงทุนไทยเอง เมื่อรู้เขาแล้วว่า นักลงทุนต่างชาติมีมุมมองและวางกลยุทธ์การลงทุนเช่นไรแล้ว ก็ต้องรู้เราว่า กลยุทธ์ลงทุนตอนนี้คืออะไร อนาคตต้องวางแผนไปทางไหน เพื่อรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วค่ะ