ความเห็นต่อการใช้คลื่นความถี่ของ กสท เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุด

ความเห็นต่อการใช้คลื่นความถี่ของ กสท เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุด

สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวความเคลื่อนไหวการแถลงข่าวของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 รายสำคัญ

เปิดตัวการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3G ในคลื่นความถี่ 2.1 GHz ซึ่งผู้บริโภคตื่นตัวต่อการให้บริการ 3G อย่างมาก และในขณะเดียวกันคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ก็ได้มีแผนที่จะดำเนินการจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz เพื่อรองรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 4G โดยเป็นการนำคลื่นความถี่ที่บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (กสท) ครอบครองและมอบให้บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) ใช้ในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 2G ตามสัญญาสัมปทานซึ่งจะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2556 ซึ่งเดิม กสทช. เคยวางแผนการประมูล 4G ไว้ในเดือนตุลาคม 2556

แต่กลับมีข่าวว่าแผนการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวต้องเลื่อนไปเป็นปลายปี 2557 เนื่องจากติดปัญหาด้านกฎหมายในการถือครองคลื่นดังกล่าวกับ กสท โดย กสท ชี้แจงว่าตนสามารถให้บริการต่อไปได้ โดยอาศัยบทเฉพาะกาลตามมาตรา 82, 83 และ 84 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งต่อมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้เสนอขอความเห็นชอบจาก คณะรัฐมนตรีให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ กสท มีสิทธิในการบริหารคลื่นความถี่ 1800 MHz ต่อไปอย่างต่ำ 10 ปีตามใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สามเพื่อไม่ให้ กสทช. นำคลื่นไปจัดสรรใหม่เพื่อเปิดประมูล 4G

ผู้เขียนได้ตรวจสอบข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมีความเห็นในประเด็นข้างต้นว่า ตามมาตรา 84 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่ แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 กำหนดให้ กสทช. กำกับดูแลให้ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ กฎหมายอื่น และตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด ทั้งนี้จนกว่าจะถึงกำหนดที่ต้องคืนคลื่นความถี่ตามวรรคสี่ ซึ่งกำหนดให้ กสทช. กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการให้ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือใช้คลื่นความถี่คืนคลื่นความถี่ดังกล่าวเพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่

โดยต่อมา กสทช. ได้ประกาศบังคับใช้แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ. 2555 โดยข้อ 8.2.1 กำหนดให้กรณีส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐที่นำคลื่นความถี่ไปให้ผู้อื่นประกอบกิจการโดยการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผ่านการตรวจสอบโดย กสทช. แล้วให้คืนคลื่นความถี่เมื่อสิ้นสุดอายุการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญานั้น ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า กสท มีหน้าที่ต้องส่งมอบคลื่นความถี่ 1800 MHz ให้แก่ กสทช. ภายหลังสัญญาสัมปทานระหว่าง กสท กับบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (ดีพีซี) สิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2556 โดยหาก กสท ยังคงใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวต่อไปอาจเข้าข่ายการใช้คลื่นความถี่โดยไม่ได้รับอนุญาตซึ่งมีความผิดตาม พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544


ทั้งนี้ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีอาจมีมติเห็นชอบให้ กสท มีสิทธิในการบริหารคลื่นความถี่ 1800 MHz ต่อไปอย่างต่ำ 10 ปีตามที่ไอซีทีเสนอ ผู้เขียนเห็นว่า มติดังกล่าวก็ไม่ได้มีผลทางกฎหมายในการก่อให้เกิดสิทธิใดๆ แก่ กสท เนื่องจากอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่นั้นเป็นของ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในการจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามมาตรา 47 วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แต่เพียงผู้เดียว มติดังกล่าวจึงน่าจะเป็นความเห็นหรือนโยบายของฝ่ายบริหารต่อการจัดวรรคลื่นความถี่เท่านั้นซึ่งไม่มีผลผูกพัน กสทช. ที่จะต้องปฏิบัติตาม

โดยล่าสุดได้มีข่าวว่า กสทช. ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีเสนอข้อหารือความเห็นทางกฎหมายต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงสิทธิของ กสท ในการบริหารคลื่นความถี่ 1800 MHz ต่อไปนั้น ผู้เขียนเห็นว่า เนื่องจาก กสทช. เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มิใช่หน่วยงานราชการ ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงน่าจะผูกพันต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช.

อย่างไรก็ตาม หากมีความคืบหน้าในเรื่องนี้เป็นประการใด ผู้เขียนจะนำมาเล่าให้ทราบในโอกาสต่อไป

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่