Infotainment : จากบอสตันสู่ไทย

Infotainment : จากบอสตันสู่ไทย

การทำข่าวของทีวีพาณิชย์ยุคนี้นอกจากจะต้องแข่งขันกันเองระหว่างรายการข่าวจากต่างสถานีแล้ว ยังต้องแข่งขันกับรายการอื่นๆ ในสถานีเดียวกัน

เพื่อเรียกความนิยมตามกลไกแห่งธุรกิจ ที่ต้องคำนึงถึงจริตและรสนิยมของลูกค้า ซึ่งเป็นคนหมู่มากผู้เสพข่าวเป็นหลัก

ด้วยภาวะการแข่งขันที่เลือกไม่ได้ รายการข่าวหลายๆ ช่องจึงเริ่มเน้นจุดขายที่ปรับเปลี่ยนจากการนำเสนอข่าวซีเรียส คิดเยอะ ย่อยยาก มาเป็นข่าวที่ไม่ต้องคิด หรือคิดให้แทนแล้วจากผู้เล่าข่าว เพื่อให้ย่อยง่ายป้อนทีเดียว เอาอยู่ หรือที่เราพูดกันติดปากว่า “soft news” นั่นเอง

การทำข่าวในแบบ Soft news นี้อยู่บนหลักของการผลิตข่าวที่เรียกกันว่า Infotainment ซึ่งเป็นการทำข่าวเพื่อเน้นการเข้าถึงง่ายให้แก่พี่น้องประชาชนคนดู โดยการเอาข้อมูลข่าวสาร (Info) มาบวกเข้ากับความบันเทิง (Entertainment) ซึ่งเน้นการเลือกประเด็นข่าวใกล้ตัว ข่าวชาวบ้าน ข่าวบันเทิง ข่าวที่สอดรับกับความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ ที่เร้าใจและง่ายต่อการเข้าถึงของคนดู

สำหรับบ้านเรา การทำข่าวในรูปแบบ Infotainment ดูจะเห็นได้เป็นปกติในช่องทีวีพาณิชย์ที่มีสปอนเซอร์โฆษณาเป็นตัวขับเคลื่อนรายได้ของรายการ ทั้งนี้ สถานีโทรทัศน์หลายๆ แห่งมักจะมีบุคลากรและนักข่าวเป็นของตนเอง เพื่อทำหน้าที่ผลิตข่าวในรูปแบบ in-house ให้สถานีสามารถกำหนดทิศทางรายการข่าว พร้อมกับชูเนื้อหาข่าวให้มีความโดดเด่นกว่าช่องอื่น อันเป็นจุดขายสำคัญในยุคข้อมูลข่าวสาร

อย่างไรก็ตาม ด้วยรูปแบบการทำข่าวแบบ infotainment ที่เน้นเนื้อหารายการที่เร้าใจ ย่อยง่าย ตรงกับจริตของคนดูหมู่มากนี้เอง ส่งผลให้มีหลายๆ คนออกมาวิพากษ์วิจารณ์รูปแบบการทำข่าวในลักษณะดังกล่าวว่า ไม่ใช่การทำข่าวที่แท้จริง เพราะมีการใส่สีใส่ไข่ พร้อมกับยัดให้ความดราม่าเป็นพระเอกในเนื้อข่าว เรียกเรตติ้งกันไป จนถูกตั้งคำถามไปสู่การทำข่าวที่ไม่เป็นกลาง แบบมีอารมณ์ประกอบ ทั้งนี้การทำข่าวแบบ infotainment ในบ้านเราที่โด่งดังจนนำไปสู่การตั้งคำถาม คือการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ที่กระทบกับคนหมู่มาก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ทางการเมืองและวิกฤตการณ์ที่เกิดจากภัยธรรมชาติอย่าง ภัยน้ำท่วมเมื่อสองปีที่ผ่านมา

จากวิกฤตการณ์ที่กล่าวมาในข้างต้นนั้น นอกจากจะสร้างความโดดเด่นให้กับการรายงานข่าวของนักข่าวภาคสนามที่อยู่ในพื้นที่แล้ว ยังสร้างปรากฏการณ์ข่าวดราม่าที่เน้นการนำเสนอด้านอารมณ์มากกว่าเหตุผล จนทำให้เกิดความสับสนด้านข้อมูลข่าวสาร พร้อมๆ กับนำพาคนดูในสังคมดราม่าไปกับสถานการณ์ดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จริงๆ ต้นกำเนิดการรายงานข่าวที่ผสมอารมณ์ในแบบ “infotainment” นี้อยู่ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งสำนักข่าวเกือบทั้งหมดเป็นสำนักข่าวจากช่องทีวีพาณิชย์ที่ดำเนินการโดยบริษัทเอกชน ดังนั้นการนำเสนอข่าวที่เร้าอารมณ์ เพื่อเรียกเรตติ้งจึงถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการทำข่าวในอเมริกาอยู่มาก ล่าสุด คือ การทำข่าวไล่ล่าผู้ต้องสงสัยที่วางระเบิดในเหตุการณ์ บอสตัน มาราธอน เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีการรายงานถึงการติดตามของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นพันคน ที่เข้าล้อมเมือง กระชับพื้นที่เพื่อตามจับผู้ต้องสงสัยพี่น้องวัยรุ่นชาวมุสลิม เชื้อสายเชชเนียเพียงแค่ 2 คน โดยการรายงานเป็นการเสนอภาพการล้อมจับแบบสดๆ เห็นถึงการยิงปะทะกันอย่างดุเดือด ซึ่งนอกจากจะสะท้อนให้เห็นถึงความหวาดระแวงผู้ก่อการร้ายที่สั่งสมมาตั้งแต่เหตุการณ์ 9/11 ของคนอเมริกันแล้ว ยังบ่งบอกถึงปฏิบัติการตาต่อตา ฟันต่อฟันของหน่วยปราบปรามของรัฐบาลอเมริกัน ที่พร้อมรับสถานการณ์ภัยก่อการร้ายแบบจัดเต็ม ซึ่งดูออกจะเกินความจำเป็นอยู่สักหน่อย จนตัวสถานการณ์เองสามารถปั่นให้การทำข่าวการไล่ล่าดังกล่าวกลายเป็นข่าวดราม่าด้วยตัวของมันเอง เรียกกันได้ว่าหากใครมีโอกาสเปิดดูข่าวขณะไล่ล่าอาจเข้าใจผิดคิดว่ากำลังดูแอ็คชั่นหนังฮอลลีวู้ดเรื่องใดเรื่องหนึ่งอยู่ก็เป็นได้

...แต่การรายข่าวดังกล่าวคือเรื่องจริง มีผู้เสียหายจริง มีผู้ร้ายตัวจริง (ที่ยังคงอยู่ในสถานะผู้ต้องสงสัยแต่ตายไปแล้วหนึ่ง) มีฮีโร่ตัวจริงอยู่ โดยการรายงานข่าวนี้จบลงแบบแฮปปี้เอนดิ้ง คือ ผู้ร้ายถูกจับพร้อมด้วยวีรบุรุษที่เอาชนะเหล่าร้ายท่ามกลางเสียงโห่ร้องอย่างเซ็งแซ่ของเหล่ากองเชียร์ในเมืองบอสตัน และในที่สุดความสงบก็กลับมาสู่บ้านเมืองอีกครั้งหนึ่ง

ย้อนกลับมาบ้านเรา การรายงานข่าวแบบที่ผสมเอาความบันเทิงใส่เข้าไปในข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างเรตติ้งให้กับรายการข่าวนั้น นับได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างความสับสนและความแตกแยกให้กับสังคมไม่มากก็น้อย เพราะไม่เพียงแต่การทำข่าวที่ต้องการจะสร้างเรตติ้ง นำเสนอความขัดแย้งแบบฉาบฉวยวันต่อวันเพื่อสร้างความเร้าใจให้กับผู้เสพข่าวเท่านั้น หากยังมีตัวชงอย่างบรรดานักการเมืองและลิ่วล้อที่รู้ทางการทำข่าวในลักษณะนี้ ซึ่งพร้อมจะให้ข่าวแบบเร้าใจ ท้าทายฝ่ายตรงข้าม โดยใช้วิวาทะปะทะกันให้เกิดเป็นข่าว อันหาสาระอันใดไม่ได้

ล่าสุดคงหนีไม่พ้นกรณีนายกรัฐมนตรีกับคุณชัย ราชวัตร ที่ประเด็นการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองกลายเป็นประเด็นหมิ่นประมาทบุคคล ซึ่งอาจโยงไปถึงการเหมาด่ากลุ่มสตรีเพศ โดยจากประเด็นเล็กๆ เริ่มขยายผลไปสู่การปะทะของคนที่สนับสนุนและต่อต้านรัฐบาล กลายเป็นดราม่าใหญ่โตที่ทั้งสองฝ่ายต่างใช้วิวาทะคะคานกันเป็นความขัดแย้งในวงกว้าง ซึ่งเมื่อเทียบกับข่าวผลการทำงานของรัฐบาล รวมไปถึงนโยบายการคลังและเงินกู้สองล้านล้านที่ดูจะสำคัญมากแต่เข้าถึงได้ยากกว่า ก็ถือว่าข่าว ... หญิงชั่ว แย่งชิงพื้นที่ไปได้อย่างเบ็ดเสร็จจากกระบวนการดราม่า ที่คนทั้งประเทศช่วยกันเติมแต่งอย่างตั้งใจและไม่ตั้งใจ จนแทบไม่เหลือที่ให้ข่าวอื่นๆ ได้แทรกตัวแต่อย่างใด

ดังนั้น การทำข่าวแบบ infotainment แม้จะมีข้อดีในเชิงพาณิชย์และกระตุ้นต่อมการรับข้อมูลข่าวสารของคนหมู่มากได้อยู่มาก แต่ในทางกลับกันการทำข่าวในลักษณะนี้อาจประกอบสร้างความฉาบฉวยของวงการข่าวให้ไปไม่ไกลกว่าการนำเสนอวิวาทะ ทะเลาะกันไปมาของกลุ่มต่างๆ ที่ไม่ต่างจากละครหลังข่าวแต่อย่างใด