สู้เพื่อชนะ หรือไม่แพ้?

สู้เพื่อชนะ หรือไม่แพ้?

กฎธรรมชาติมีกระบวนคัดเลือกเพื่ออยู่รอด การสู้ยิบตาเพื่อชัยชนะนับว่าเป็นทางรอดเดียวในการต่อกรกับโลกธุรกิจที่แข่งขันกันอย่างไม่ประนีประนอม

ในโลกแห่งการแข่งขันทุกวันนี้ แม้การแข่งขันจะเร่งรัดกระชั้นเข้าในทุกมิติของการทำงานและใช้ชีวิต แต่ในทางปฎิบัติแล้ว เราปฎิเสธได้ยากยิ่งว่า ยังมีซอกหลืบในองค์กรให้คนทำงานหลบอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยอยู่ทั่วไป


จริงอยู่ว่า คนเราเกิดมาด้วยรหัสพันธุกรรมที่ต่างกัน ทำให้เกิดบุคลิกภาพที่แตกต่างหลากหลาย นี่ยังไม่รวม การอบรมเลี้ยงดู และสังคมที่รายล้อม ก่อให้เกิดนิสัยที่ตกผลึกยากจะเปลี่ยน


แม้องค์กรจะคาดหวังให้คนทำงานเป็นคนใจสู้มุ่งมั่นในชัยชนะ ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใด เพราะคุณลักษณะเหล่านั้น ย่อมสร้างความสำเร็จอย่างยั่งยืนทั้งต่อคนทำงานและที่ทำงาน


แต่การจะเปลี่ยนคนคนให้มีทัศนคติ และบุคลิกภาพใหม่นั้น อาศัยแรงผลักทั้งจากองค์กร และแรงดลใจจากเจ้าตัวไม่ด้อยไปกว่ากันเลย


และขั้นตอนแรกสุดก็คือยอมรับตัวตนแท้ของคนทำงานคนนั้น


ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีแบบประเมินบุคลิกภาพมากมาย แต่หากจะฟันธงชนิดให้เข้าเรื่องเลย มีแนวคิดจำแนกคนทำงานเป็นสองแบบ

แบบแรกคือ มุ่งสร้างสรรค์พัฒนา (Promotion-focused people) อีกแบบ คือ มุ่งรักษาป้องกัน (Prevention-focused people) Heidi Grant Halvorson และ E. Tory Higginsได้อธิบายแนวคิดว่า คนทำงานที่มุ่งสร้างสรรค์พัฒนา คำนึงถึงเป้าหมายเสมือนว่าเป็นเส้นทางแห่งความก้าวหน้า คาดหวังผลตอบแทนเมื่อสามารถบรรลุภารกิจได้ พวกเขากระตือรือร้น และวางแผนที่จะชนะ พวกเขารู้สึกสะดวกใจที่จะเลือกทางเลือกอันหลากหลาย ทำงานเร็ว มีความฝันยิ่งใหญ่ มีความคิดสร้างสรรค์ ในอีกด้านการทำงานเร็วอาจทำให้เกิดข้อผิดพลาด ไม่ได้คิดรอบ ขาดแผนสำรองเพื่อรับมือ


ส่วนผู้ที่มุ่งรักษาป้องกัน มองเป้าหมายเป็นความรับผิดชอบ ส่วนลึกในใจชอบที่จะทำงานอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย กังวลว่าผลลัพท์จะไม่เป็นดังหวัง หากไม่ทำงานหนักพอ หรือไม่ระแวดระวังพอ พวกเขาเล่นเพื่อ “ไม่แพ้” แต่ไม่มุ่งหมายจะเป็นที่หนึ่งหรือที่เดียว และยังหวังความมั่นคงอยู่ในส่วนลึก พบได้บ่อยว่าผู้ที่มุ่งรักษาป้องกัน มักกลัวความเสี่ยง สะท้อนให้เห็นจากวิธีการทำงานที่รอบคอบ ละเอียด ถูกต้อง ระมัดระวัง แน่นอนว่าย่อมทำงานช้ากว่าประเภทแรก และยังหย่อนเรื่องความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย


ในทางจิตวิทยายังพบอีกว่า กลุ่มคนสร้างสรรค์พัฒนาจะหดหู่ซึมเศร้าหากผลลัพท์ไม่เป็นไปดังเป้าหมาย แต่ในกลุ่มรักษาป้องกันจะวิตกกังวลกับภารกิจใหม่หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างเกินปกติ


เมื่อเปรียบเทียบองค์กรกับคน และบุคลิกภาพคนแต่ละคนเหมือนกับเซลล์ที่เชื่อมต่อยึดโยงเป็นอวัยวะและร่างกาย องค์ที่ประกอบด้วยกลุ่มคนสร้างสรรค์พัฒนาจะเป็นองค์กร “ขาลุย” กล้ารุกไปข้างหน้า ด้วยวิธีการ ในพื้นที่ใหม่ เปี่ยมด้วยพลังของความกระตือรือร้น ที่ไม่มีพื้นที่หัวใจสำหรับความพ่ายแพ้เลย


แต่หากองค์กรนั้นประกอบด้วยกลุ่มคนที่รักษาป้องกันเป็นประชากรส่วนใหญ่ องค์กรจะค่อนไปในเชิง “อนุรักษ์นิยม” เชื่อมั่นในวิธีการเดิมที่ประสบความสำเร็จ ยึดมั่นระเบียบขั้นตอน แม้ผลลัพท์จะสำเร็จก็ยังพบว่า จะยังทวงถามหาว่ากระบวนการถูกต้องไหม การยืดหยุ่นปรับตัวช้า แม้จะมีพลังแรงขับ แต่แรงจูงใจในเบื้องลึกคือ รักษาสถานะเดิมเอาไว้ หรือ สู้เพื่อรักษาตำแหน่งเท่านั้น ไม่ได้ตั้งใจมั่นไปไกลถึงความสำเร็จใหญ่ๆระดับตำนาน


กฎธรรมชาติมีกระบวนคัดเลือกเพื่ออยู่รอด คนทำงานและองค์กรก็เฉกเช่นกัน การสู้ยิบตาเพื่อชัยชนะนับว่าเป็นทางรอดเดียวตามวิถีธรรมชาติ ในการต่อกรกับโลกธุรกิจที่แข่งขันกันอย่างไม่ประนีประนอมใดๆเฉกทุกวันนี้