ศาลรัฐธรรมนูญครบรอบ 15 ปี ท่ามกลางความกดดันและคำขู่จะยุบ

ศาลรัฐธรรมนูญครบรอบ 15 ปี ท่ามกลางความกดดันและคำขู่จะยุบ

ศาลรัฐธรรมนูญก่อตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการรวมทั้งหมด 15 คน

ต่อมาเมื่อมีการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 เป็นผลให้ศาลรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงด้วย ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 ตามมาตรา 35 กำหนดว่าบรรดาการใดๆ ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ หรือเมื่อมีปัญหาว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ให้เป็นอำนาจของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 คน ต่อมาเมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พศ. 2550 ก็ได้บัญญัติให้มีศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญหนึ่งตนและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอีกแปดคน

ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมีอายุครบรอบ 15 ปีในปีนี้ มีอำนาจหน้าที่สำคัญ คือการวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรือพระราชกำหนดที่จะตราออกใช้ หรือพระราชบัญญัติที่ตราออกใช้แล้วขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ การวินิจฉัยปัญหาขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ระหว่างรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ การวินิจฉัยสมาชิกภาพหรือคุณสมบัติของรัฐมนตรี สมาชิกสภา กรรมการการเลือกตั้ง การพิจารณายุบพรรคการเมือง และการวินิจฉัยกรณีตามมาตรา 68

ผลการดำเนินงานของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา คดีส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 เป็นการวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ คดีอีกส่วนหนึ่งประมาณร้อยละ 20 เป็นการวินิจฉัยสมาชิกภาพหรือคุณสมบัติของรัฐมนตรี สมาชิกสภา และ การพิจารณายุบพรรคการเมือง และการวินิจฉัยข้อกล่าวหากรณีตามมาตรา 68 ผลการพิจารณาวินิจฉัยคดีส่วนน้อยเหล่านี้มีผลกระทบทางการเมืองสูงมาก ระหว่างการพิจารณาคดีจึงมีแรงกดดันต่อศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมากหลายรูปแบบ และเมื่อผลการวินิจฉัยออกมาไม่เป็นไปตามความประสงค์หรือไม่เป็นที่ถูกใจของนักการเมืองบางฝ่าย จึงตามมาด้วยเสียงวิพากษ์วิจารณ์ศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในทางที่เสียหายอย่างไม่เป็นธรรม และตามมาด้วยข้อเสนอและคำขู่ให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญตลอดมา

มาดูศาลรัฐธรรมนูญของประเทศอื่นบ้างว่าพบกับความกดดันและคำขู่ยุบศาลแบบไทยกันบ้างไหม ในโลกนี้มีประเทศที่มีศาลรัฐธรรมนูญประมาณ 60 ประเทศ กล่าวได้ว่าอำนาจหลักของศาลรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศส่วนใหญ่จะคล้ายคลึงกัน คือการวินิจฉัยกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ การพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การควบคุมพรรคการเมืองว่าทำผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ และยุบพรรคการเมือง ส่วนอำนาจนอกเหนือจากนี้ ก็ขึ้นกับระบบ วัฒนธรรมทางการเมืองและระบบกฎหมายของแต่ละประเทศ

อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นสิ่งขวางกั้นไม่ให้นักการเมือง ใช้อำนาจที่ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ หรือหลักนิติธรรม ซึ่งมีนักวิชาการบางคนยกย่องศาลรัฐธรรมนูญของบางประเทศว่า เป็นศาลที่ทำหน้าที่ปกป้องระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ก่อให้เกิดความไม่พอใจต่อนักการเมืองที่ชอบใช้อำนาจโดยไม่คำนึงถึงหลักนิติธรรม เมื่อคำวินิจฉัยออกมาไม่เป็นไปตามที่ตนต้องการ จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่ศาลรัฐธรรมนูญต่างประเทศหลายประเทศก็ตกอยู่ในความกดดันเช่นกัน เช่น

ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน ก่อตั้งขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเยอรมัน (Basic Law of Germany) ในปี พ.ศ. 2494 มีอำนาจที่สำคัญ คือ การวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งรวมถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วยว่าขัดต่อหลักการพื้นฐานของบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ การวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวกับการละเมิดกฎหมายเลือกตั้ง การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ตุลาการ รัฐบาล สมาชิกสภา กรณีกระทำการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ การห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจการ ข้อมูล ณ ปี 2552 ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันได้วินิจฉัยว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญแล้ว ถึง 600 ฉบับ จากอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันและผลงานในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา สร้างความไม่พอใจให้นักการเมืองเยอรมันไม่น้อย จนมีนักการเมืองบางฝ่ายคิดจะยุบศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน แต่มีประชาชนออกมาปกป้องศาล นักการเมืองก็ต้องล้มเลิกความคิดนั้นไป

คดีที่เป็นที่สนใจกันมากที่เข้าสู่การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญเยอรมัน คือแผนการกู้วิกฤติเงินยูโรโซนของรัฐบาลเยอรมันที่มีนาง Angela Merkel เป็นนายกรัฐมนตรี เริ่มตั้งแต่ประเด็นที่มีการกล่าวหาว่านายกรัฐมนตรีดำเนินแผนการโดยไม่ได้เสนอให้รัฐสภาพิจารณา ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันมีคำวินิจฉัยเมื่อเดือนมิถุนายน 2555 ว่า การดำเนินแผนงานของนายกรัฐมนตรีเป็นการข้ามขั้นตอน เพราะไม่ได้เสนอให้รัฐสภาพิจารณาก่อน ประเด็นที่เข้าสู่การพิจารณาต่อมา คือ แผนการดำเนินการกู้วิกฤติเงินยูโรโซนชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ในที่สุดศาลรัฐธรรมนูญเยอรมันมีคำวินิจฉัยเมื่อเดือนกันยายน 2555 ว่าแผนการดังกล่าวไม่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ได้กำหนดเงื่อนไขบางประการไว้ ท่ามกลางความโล่งใจของหลายฝ่าย

ศาลรัฐธรรมนูญตุรกี ตั้งขึ้นเมื่อปี 2505 มีอำนาจที่สำคัญคือ การพิจารณาทบทวนรัฐธรรมนูญของเตอรกี การวินิจฉัยว่ากฎหมาย ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ การพิจารณายุบพรรคการเมือง เป็นต้น คดียุบพรรคการเมืองที่ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญตุรกีถูกกดดันอย่างหนักและเป็นข่าวครึกโครม คือการยุบพรรคสวัสดิการ (Welfare Party) ที่เป็นพรรคใหญ่เมื่อปี 2541 และสั่งห้ามหัวหน้าพรรคและผู้บริหารพรรคอีก 5 คน ยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี โดยทางพรรคสวัสดิการแถลงข่าวตอบโต้หลายประเด็น และกดดันกล่าวหาว่า ศาลรัฐธรรมนูญละเลยไม่พิมพ์คำวินิจฉัยพร้อมเหตุผลประกาศในราชกิจจานุเบกษา สำหรับคดีที่วินิจฉัยไปแล้วประมาณ 60 คดี รวมทั้งคดีนี้ด้วย

ศาลรัฐธรรมนูญโรมาเนีย ตั้งขึ้นเมื่อปี 2545 อำนาจที่สำคัญคือการวินิจฉัยว่ากฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ การติดตามสังเกตการณ์ขั้นตอนการเลือกตั้งประธานาธิบดีโรมาเนียและยืนยันผลการลงคะแนน ให้ความเห็นกรณีมีการเสนอให้ถอดถอนประธานาธิบดี การติดตามสังเกตการณ์ขั้นตอนการลงประชามติ พิจารณายุบพรรคการเมืองที่ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ เป็นต้น

ช่วงกลางปี 2555 ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญโรมาเนียตกอยูในความกดดัน อันเนื่องมาจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านได้ยื่นถอดถอนประธานาธิบดี และ มีการลงประชามติเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2555 ปรากฏผล 88% ของผู้ลงประชามติให้ถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง แต่มีผู้มาลงคะแนนเสียงไม่ถึง 50% ตามที่กำหนดไว้ แต่พรรคฝ่ายค้านร้องว่าจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงที่ถูกต้องน้อยกว่าที่ทางการประกาศไว้มาก จึงขอให้มีการตรวจสอบระหว่างนี้ศาลรัฐธรรมนูญโรมาเนียถูกกดดันแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองมาก จนต้องร้องขอต่อ Venice Commission ให้ปกป้องความเป็นอิสระของศาลจากการถูกกดดันจากฝ่ายการเมือง ทั้งนี้ ก่อนการลงประชามติ รัฐบาลก็พยายามหาทางจะลดอำนาจของศาลลงและขู่จะเปลี่ยนตัวตุลาการด้วย จนศาลรัฐธรรมนูญโรมาเนียได้ร้องขอให้ Venice Commission ปกป้องมาแล้วครั้งหนึ่ง

ศาลรัฐธรรมนูญโปรตุเกส มีอำนาจสำคัญคือ พิจารณาว่ากฎหมายขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ จัดการกระบวนการการเลือกตั้ง พิจารณาการจัดตั้งพรรคการเมืองว่าเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ยุบพรรคการเมือง กำกับดูแลให้ความเห็นชอบการลงประชามติ เป็นต้น ศาลรัฐธรรมนูญโปรตุเกสเป็นศาลที่มีความเป็นอิสระสูงมาก ตุลาการมีอิสระและไม่สามารถถอดถอนได้ คำวินิจฉัยของศาลอยู่เหนือคำตัดสินของทุกหน่วยงาน

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญโปรตุเกส ล่าสุดเมื่อเดือน เมษายน 2556 ที่วินิจฉัยว่ากฎหมายงบประมาณของโปรตุเกส ที่ให้รัดเข็มขัด ตามแผนการกู้วิกฤติเงินยูโร ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ สร้างความขุ่นเคืองให้เจ้าหน้าที่สหภาพยุโรปบางคน ถึงกับแสดงท่าที่ให้รัฐบาลโปรตุเกสไปจัดการให้ศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในร่องในรอย