“เย้ย” ทฤษฎีคัดกรองผู้นำประเทศ (เพศหญิง) จากการเมืองท้องถิ่น

“เย้ย” ทฤษฎีคัดกรองผู้นำประเทศ (เพศหญิง) จากการเมืองท้องถิ่น

โปรดมาทางนี้ ขบวนการส่งเสริมสิทธิเสมอภาคของสตรีที่แต่ไหนแต่ไรมา โอดครวญกันมากเหลือเกินว่าในด้านสิทธิการเมืองการปกครอง

โดยเฉพาะในฐานะผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง มีผู้หญิงน้อยเหลือเกิน คิดตามอัตราส่วน โอกาสชนะก็จึงยิ่งน้อย โดยตามสถิติก็เป็นอย่างนั้น จึงทำให้มีการรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ หนุนผู้หญิงเข้ามาเป็นตัวเลือกในการลงสมัครรับเลือกตั้งทางการเมืองทุกระดับ

ชัดเจนว่าการมีจำนวนผู้หญิงลงสมัครรับเลือกตั้งน้อยคนไม่ว่าในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติ ไม่เป็น “ปัจจัย” ตัดสินชัยชนะการเลือกตั้งในทางการเมืองการปกครองแต่ประการใด

ตรงกันข้าม มีเพียงคนเดียวก็ อาจจะเป็น “ปัด(กระ)จุย” เพศชายไปเลย ขึ้นอยู่กับบริบททางการเมืองอื่นๆ มากกว่า ดังเช่นการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นในอำเภอเมืองพะเยาครั้งล่าสุดนี้ การเลือกตั้ง “นายกเล็ก” 9 เมษายน ก่อนสงกรานต์ ทำให้ อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ได้นายกเทศมนตรีคนใหม่ เป็นสุภาพสตรี ตามความคาดหมายอย่างไม่ต้องมีโพลล์ใดๆ

ชวนให้ปลื้มไม่น้อยดอกหรือ นายกเทศมนตรีคนใหม่เป็นสุภาพสตรีคนเดียว “ตัวเล็กๆ” ที่ลงสมัครในจำนวนผู้สมัครชิงตำแหน่งที่เป็นสุภาพบุรุษอกสามศอกทั้งหมดอีก 3 คน สองในจำนวนนี้เป็น “มือเก่า” เสียด้วย เมื่อเทียบกับสุภาพสตรี “มือใหม่หัดขับ”

ชนะด้วยคะแนนเสียงถล่มทลาย ทิ้งห่างผู้สมัครสุภาพบุรุษทั้งสามตั้งแต่เริ่มนับคะแนน โดยเมื่อถึง 6,399 คะแนน สุภาพบุรุษ “มือใหม่หัดขับ” ได้เพียง 43 คะแนน และผู้สมัครมือเก่าทั้งสองได้เพียงคนละพันคะแนนกว่าๆ คือ 1,458 คะแนน และ 1,332 คะแนน หนังสือพิมพ์ส่วนกลางหลายฉบับได้รายงานผลการเลือกตั้งทันทีอย่างไม่ต้องลังเลว่า “นายกเล็ก” พะเยา เป็นใคร ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมี 13,872 คนเท่านั้น ต่อให้ออกมาเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่มีทางที่ผลการเลือกตั้งจะเป็นอื่นไปได้

นี่มิใช่และจะมิใช่ปรากฏการณ์เชิงเดี่ยวที่เกิดขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนมาก่อน หรือว่าจะไม่เกิดขึ้นอีกในเมืองไทย ควรที่จะได้รับความสนใจและการศึกษาวิเคราะห์วิจัยให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในหมู่คณาจารย์สังคมศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยในท้องถิ่น

ไม่ต้องไปควานหาที่ไหนไกลอีกเลย สนามเลือกตั้งซ่อม ที่ จังหวัดเชียงใหม่ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 3 ขณะนี้ เป็นจุดสนใจวิพากษ์วิจารณ์กันมาตั้งแต่ตำแหน่งที่ว่างลงเพราะการลาออก ม้าตัวเต็งก็เป็นสุภาพสตรีตั้งแต่ยังไม่มีการลงสมัคร จนกระทั่งในขณะนี้ที่มีการหาเสียงกันแล้ว ขับเคี่ยวกันอยู่ระหว่างม้า “มือใหม่หัดขับ” และม้า “มือเก่า”

กล่าวได้ว่าการเมืองเลือกตั้งของไทยมีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากในทุกๆ ด้านและรอบด้าน มากเสียจนท้าทายทฤษฎีสังคมศาสตร์หลายๆ ทฤษฎี

ทฤษฎีแรก ว่าด้วยความเหลื่อมล้ำอคติต่อเพศหญิงในทางการเมืองการปกครองที่เชื่อว่ามีอยู่ในทุกสังคมจนทำให้มีผู้หญิงลงสมัครรับเลือกตั้งน้อย โอกาสจะได้ตำแหน่งผู้นำในทางการเมืองการปกครองก็จึงมีน้อย ซึ่งถ้าหากว่ายังเป็นจริงในสังคมไทยแล้วละก็ ได้ลดระดับความเป็นจริงและความเข้มข้นลงอย่างแทบจะเรียกได้ว่าหมดฤทธิ์ลงแล้วอย่างราบคาบ ปัจจัยอื่นๆ ทางการเมืองมีน้ำหนักสูงกว่าชัดเจน

ในการเมืองระดับชาติ ปาร์ตี้ลิสต์ มีผลให้ประเทศไทยได้นายกรัฐมนตรีเป็นสุภาพสตรี “มือใหม่หัดขับ” ผู้ไม่เคยลงเลือกตั้งที่ไหนเลยในชีวิตมาวินได้อย่างสะดวกดาย น่าจะทำให้ขบวนการส่งเสริมสิทธิเสมอภาคระหว่างเพศ ผ่อนคลายความเข้มข้นการรณรงค์ส่งตัวเลือกสุภาพสตรีลงสนามเลือกตั้งได้แล้ว หากเคยมุ่งหวังและเชื่อว่าคงอีกนานกว่าสักวันหนึ่งหญิงไทยจะครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประเทศไทยด้วยการเลือกตั้ง

ณ วันนี้ การันตีได้ว่า ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีประเทศไทยจะยังเป็นสุภาพสตรีคนเดิมและสุภาพสตรีคนใหม่ได้อีกอย่างวัฒนาสถาพรหากเลือกใช้เส้นทางปาร์ตี้ลิสต์ในพรรคการเมืองที่จะได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล

ในระดับท้องถิ่น ชัยชนะของสุภาพสตรี "ตัวเล็กๆ" และ “มือใหม่หัดขับ” ในตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองพะเยาครั้งนี้ ทำให้ผู้หญิงพะเยาจำนวนมากทั้งที่สนใจและไม่สนใจการเมืองเกิดความมั่นใจ พูดกันไปทั่วในหลายวงการว่า “ถ้าการเลือกตั้งเป็นอย่างนี้ ฉันก็เป็นนายกฯได้” ซึ่งไม่ได้หมายความว่า "เสาไฟฟ้าก็ลงได้" แต่หมายความว่า ถ้าปัจจัยอื่นๆ พร้อม เช่น ทีมสนับสนุนดี หาเสียงดี ใช้ระบบอุปถัมภ์และระบบสินน้ำใจที่เป็นสายใยถักทอความสัมพันธ์คนไทยได้ดีซึ่งก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในการเลือกตั้ง ฯ โอกาสจะชนะก็มีเต็มร้อย ไม่ว่าจะเป็นใคร หญิงหรือชาย สาวน้อยหรือสาวใหญ่ มือใหม่หัดขับหรือ มือเก่า มีหรือไม่มีผลงานมาก่อน เหล่านี้มิใช่ปัจจัยตัดสินเลย โดยเฉพาะ เมื่อบวกกับความพร้อมเสมอที่จะลองของใหม่ในหมู่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวไทย พ่วงด้วยความเบื่อหน่าย ผิดหวัง รังเกียจ ที่มีต่อ “มือเก่า” ซึ่งไม่ได้ทำงาน หรือ ทำงานไม่ได้ “ตามสัญญา” อย่างที่เป็นกรณีศึกษาได้อย่างดีในกรณีของเมืองพะเยา

อีกทฤษฎีหนึ่งที่น่าจะถูกท้าทายโดยตรง ก็คือ ทฤษฎีการคัดกรองผู้นำประเทศจากการเมืองท้องถิ่น โดยนักทฤษฎีชั้นยอด เช่น ศาสตราจารย์ โรเจอร์ ไมเออร์สัน รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ พ.ศ. 2550 ผู้มาปาฐกถาตามคำเชิญของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว ให้ความหวังกับกระบวนการเลือกผู้นำที่อิงหลักวิวัฒนาการโดยอิงชื่อเสียงและผลงานของการทำงานการเมืองระดับท้องถิ่นจนถึงระดับชาติ ตลอดจนการหวังพึ่งปฏิสัมพันธ์ระหว่างท้องถิ่นกับรัฐบาลกลางในการสร้างระบบถ่วงดุล ว่าจะช่วยคัดกรองผู้นำประเทศได้จากการเมืองท้องถิ่น

อีกกี่ปีหนอจึงจะเป็นจริงในสังคมไทย ในเมื่อทั้งการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น มองไปทางไหนขณะนี้ ก็ยังไม่เห็นเลยว่าผู้นำ (หญิง) ที่ได้ชัยชนะทางการเมืองมีอะไรตรงไหนที่เกี่ยวกับวิวัฒนาการด้านการสร้างผลงานหรือชื่อเสียงที่สะสมไว้สักเท่าไร หรือ แต่อย่างใดเลย

จะรอกันไหวไหมนี่ อีก 20-30 ปีในกรณีของเมืองไทยตามความเห็นเชิงพยากรณ์อนาคตจากเจ้าทฤษฎีชั้นยอด